เปิดคำพิพากษาตลาดสนามหลวง2 สั่ง"ไทเทวราช-กทม."ชดใช้เงิน 133 ล.
พลิกแฟ้มคำพิพากษาศาลแพ่ง ตัดสินให้ หจก.พฤกษศาสตร์ เจ้าของตลาดสนามหลวง 2 ชนะคดี บจ.ไท เทวราช-กทม. ปมไม่ชำระค่าเช่าที่ดิน 133.5 ล้านบาท หลังทำสัญญาเช่า 30 ปี ตั้งแต่ปี 2549
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นคำพิพากษาศาลแพ่งบางส่วน ในคดีหมายเลขดำที่ 4796/2552 คดีหมายเลขแดงที่ 2946/2556 ระหว่าง หจก.สวนพฤกษศาสตร์กรุงเทพ โจทก์ และบริษัท ไท เทวราช จำกัด จำเลยที่ 1 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 และมีธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME) เป็นจำเลยร่วม กรณีจำเลยที่ 1 และ 2 ไม่ชำระเงินค่าที่ดิน หจก.สวนพฤกษศาสตร์ฯ จำนวนเงินกว่า 133 ล้านบาท จัดทำตลาดสนามหลวง 2
----
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2547 โจทก์ให้จำเลยที่ 1 เช่าที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1339, 1340 และ 1341 แขวงทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ รวมเนื้อที่ 83 ไร่ 1 งาน 6.5 ตารางวา ก่อสร้างเป็นตลาดขายส่ง ขายปลีกพืชผักผลไม้ และศูนย์อาหารเพื่อหาผลประโยชน์ กำหนดอายุสัญญาเช่าตั้งแต่วันที่ทำสัญญาเช่า ถึงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2576 โดยยินยอมให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาให้จำเลยที่ 2 เช่าช่วงที่ดินดังกล่าว และให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญาเช่าช่วงกับลูกค้าอีกทอดหนึ่งได้ จำเลยที่ 1 จ่ายค่าเช่าล่วงหน้าให้โจทก์เป็นเงิน 120 ล้านบาท ตามสัญญาเช่าที่ดิน
วันที่ 9 กรกฎาคม 2557 มีการจดทะเบียนสัญญาเช่าดังกล่าวตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดินรวมสามโฉนด หลังจากนั้นโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ทำบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าที่ดิน และในวันที่ 9 กรกฎาคมนั้นเอง จำเลยที่ 1 ได้นำที่ดินดังกล่าวไปให้จำเลยที่ 2 เช่าช่วง มีกำหนด 10 ปี ตามหนังสือสัญญาเช่าช่วง
ต่อมาวันที่ 20 ธันวาคม 2548 โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือให้ความยินยอมในการโอนสิทธิการเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไปเป็นหลักประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่กับจำเลยร่วม โดยมีการทำบันทึกคำยินยอมปฏิบัติตตามเงื่อนไขในการนำสิทธิการเช่าไปผูกพันเงินกู้
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประเด็นแรกว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าหรือไม่
เห็นว่า โจทก์มีนายกิตติศักดิ์ เบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าเช่าให้โจทก์ตั้งแต่เริ่มสัญญาจนถึงวันที่ 21 กันยายน 2549 จำเลยที่ 1 ผิดนักไม่ชำระหนี้ โจทก์มีหนังสือทวงถาม จำเลยที่ 1 จึงได้ชำระค่าเช่าให้โจทก์อีกโดยมีการชำระค่าเช่าประจำเดือนพฤศจิกายน 2549 เป็นเงิน 5 แสนบาท คงค้าง 5 แสนบาท หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าจนถึงปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของนายบุณณ์อนันต์ หรือบุญอนันต์ เปี่ยมพงศ์สาน พยานจำเลยที่ 1 ที่เบิกความยอมรับว่า จำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระค่าเช่าให้โจทก์ได้
แม้นายบุณณ์อนันต์ จะอ้างว่าการที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระค่าเช่าให้โจทก์เนื่องจากโจทก์ได้ทำหนังสือไปยังจำเลยที่ 2 ให้ระงับการจ่ายเงินให้เลยที่ 1 จึงทำให้จำเลยที่ 1 ไม่มีเงินมาชำระให้โจทก์ ก็เป็นการเบิกความลอย ๆ โดยมิได้นำหนังสือที่อ้างว่ามีไปถึงจำเลยที่ 2 มาแสดง ซึ่งหุ้นส่วน ผจก.โจกท์ ก็ยืนยันว่าโจทก์ไม่เคยมีหนังสือไปถึงจำเลยที่ 2 ห้ามไม่ให้ชำระค่าเช่าแก่โจทก์แต่อย่างใด
โดยเฉพาะปรากฏจากทางนำสืบของจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมว่า จำเลยที่ 1 ได้โอนสิทธิการรับเงินค่าเช่าช่วงจากจำเลยที่ 2 ให้จำเลยร่วมแล้ว ตามบันทึกข้อตกลงโอนสิทธิการรับเงิน ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้รับทราบและตกลงยินยอมในการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าว ตามหนังสือบอกกล่าวโอนสิทธิเรียกร้องการรับเงิน
ดังนั้นการที่จำเลยที่ 2 มิได้ชำระค่าเช่าช่วงให้จำเลยที่ 1 จึงมิได้เกิดจากการกระทำหรือความผิดของโจทก์ตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้าง ซึ่งเมื่อพิจารณาสัญญาเช่าที่ดินและบันทึกข้อตกลงแก้ไขสัญญาเช่าที่ดิน แล้วปรากฏว่าสัญญาเช่าที่ดิน ระบุว่า นอกจากค่าเช่าล่วงหน้าแล้ว ผู้เช่าซึ่งหมายถึงจำเลยที่ 1 ตกลงชำระค่าเช่าเป็นรายเดือนทุก ๆ เดือนให้แก่ผู้เช่าซึ่งหมายถึงโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าเช่าให้โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงผิดสัญญาการเช่า
ประเด็นที่ 2 มีว่าจำเลยที่ 2 ผิดสัญญาเช่าช่วงหรือไม่
เห็นว่า โจทก์เบิกความยืนยันว่า เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2551 โจทก์ได้มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบว่าจำเลยที่ 1 ติดค้างชำระค่าเช่ารายเดือนให้โจทก์ถึงวันมีหนังสือรวม 17 เดือนแล้ว โจทก์ขอใช้สิทธิ์รับค่าเช่าที่ดินโดยตรงจากจำเลยที่ 2 ตามหนังสือสัญญาเช่าช่วง จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ต้องนำค่าเช่าที่ดินที่ค้างชำระให้จำเลยที่ 1 ประจำเดือนมกราคม 2551 ไปชำระให้โจทก์ จำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือแล้วตามหนังสือบอกกล่าวและใบตอบรับแต่เพิกเฉย
หลังจากนั้นในวันที่ 30 มิถุนายน 2551 และวันที่ 30 ธันวาคม 2551 โจทก์ได้มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 2 นำค่าเช่ามาชำระให้โจทก์อีกตามหนังสือทวงถาม แต่จำเลยที่ 2 ยังคงเพิกเฉย ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็มิได้โต้แย้งว่าจำเลยที่ 2 ได้ชำระค่าเช่าดังกล่าวให้โจทก์แล้วแต่อย่างใด
จำเลยที่ 2 คงมีนายสุรินทร์ ทองแย้ม หัวหน้าฝ่ายนโยบายและประมวลผลสำนักงานตลาดกรุงเทพฯ เบิกความว่า จำเลยที่2 ไม่ต้องชำระค่าเช่าให้โจทก์ตามบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าที่โจทก์ทวงถามเพราะจำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมรู้เห็นยินยอมในการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว และหลังทำสัญญาเช่าช่วง และทำบันทึกคำยินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขในการโอนสิทธิการเช่าไปผูกพันเงินกู้ แล้วจำเลยที่ 1 ได้โอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินตามสัญญาเช่าช่วงให้จำเลยร่วม และจำเลยที่ 2 ได้ชำระค่าเช่าให้จำเลยร่วมแล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่มีหน้าที่ชำระค่าเช่าให้โจทก์อีก
ซึ่งเมื่อพิจารณาหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินแล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 เพียงแต่โอนสิทธิการรับเงินตามสัญญาเช่าช่วงให้จำเลยร่วมเท่านั้น แต่จำเลยที่ 1 ยังคงมีภาระผูกพันและหน้าที่ในอันที่จะต้องปฏิบัติตตามเงื่อนไขข้อตกลงตามสัญญาเช่าช่วงทุกประการ
ดังนั้นการที่จำเลยที่ 2 ชำระเงินให้จำเลยร่วมก็เสมือนหนึ่งเป็นการชำระค่าเช่าให้จำเลยที่ 1 อีกทั้งตามหนังสือเรื่อง ขอความยินยอมในการโอนสิทธิการเช่าและบันทึกคำยินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขในการนำสิทธิการเช่าไปผูกพันเงินกู้ ก็ระบุว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำสิทธิการเช่าที่จำเลยที่ 1 มีอยู่กับโจทก์ไปเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อจำเลยร่วมเท่านั้น
ดังนั้นโจทก์จึงยังคงมีสิทธิในฐานะเป็นผู้ให้เช่าทุกประการ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 545 กำหนดว่า ถ้าผู้เช่าเอาทรัพย์สินซึ่งตนเช่าไปให้ผู้อื่นเช่าช่วงอีกทอดหนึ่งโดยชอบ ผู้เช่าช่วงย่อมต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าเดิมโดยตรง หากผู้เช่าช่วงจะได้ใช้ค่าเช่าให้แก่ผู้เช่าไปก่อน ผู้เช่าช่วงหาอาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้ให้เช่าได้ไม่
ดังนั้นการที่จำเลยที่ 2 ผู้เช่าช่วงชำระค่าเช่าให้จำเลยร่วมซึ่งรับโอนสิทธิไปจากจำเลยที่ 1 ผู้เช่า จึงไม่สามารถยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ ผู้ให้เช่า ตามบทบัญญัติดังกล่าว โดยเฉพาะตามสัญญาเช่าช่วง ก็ระบุว่า หากผู้เช่าช่วงได้ชำระค่าเช่าให้แก่ผู้ให้เช่าช่วงแล้วปรากฏว่าผู้ให้เช่าช่วงไม่ได้นำไปชำระให้แก่เจ้าของคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงให้ผู้เช่าช่วงสามารถนำเงินค่าเช่าไปชำระแก่เจ้าของโดยตรงและนำส่วนที่เหลือส่งคืนให้แก่ผู้ให้เช่าช่วง
ดังนั้นการที่จำเลยที่ 2 ชำระค่าเช่าให้จำเลยร่วม จึงไม่สามารถยกเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้ เมื่อโจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเช่าแล้ว จำเลยที่ 2 เพิกเฉย จำเลยที่ 2 จึงผิดสัญญาเช่าช่วง
ประเด็นต่อมา จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชอบต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด
สำหรับจำเลยที่ 1 ปรากฏว่าหลังจากทำสัญญาเช่าที่ดิน แล้วโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ทำบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าที่ดินแก้ไขเฉพาะอัตราค่าเช่า บันทึกแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเช่า ซึ่งเมื่อพิจารณาสัญญาเช่า แล้วมีกำหนดในข้อ 10 ว่า เมื่อครบกำหนดอายุสัญญานี้ ผู้เช่าตกลงยินยอมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในอาคารและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดบนทรัพย์สินให้แก่ผู้ให้เช่าภายใน 30 วัน
จึงฟังได้ว่าสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่า ดังนั้นแม้โจทก์และจำเลยที่ 1 จะมิได้นำบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าที่ดินไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ตาม โจทก์และจำเลยที่ 1 ก็ต้องผูกพันตามสัญญาเช่า และบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าที่ดิน มีกำหนดระยะเวลา 29 ปี 4 เดือน 13 วัน ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่า
ซึ่งทางนำสืบของโจทก์ จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าให้โจทก์ชำระครั้งสุดท้ายงวดประจำเดือนพฤศจิกายน 2549 เป็นเงิน 5 แสนบาท และค้างชำระค่าเช่างวดเดือนพฤศจิกายน 2549 เป็นเงิน 5 แสนบาทเป็นต้นไป จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระค่าเช่าให้โจทก์ประจำเดือนพฤศจิกายน 2549 เป็นเงิน 5 แสนบาท ค่าเช่าตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2549 ถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2551 เดือนละ 1 ล้านบาท รวม 23 เดือน เป็นเงิน 23 ล้านบาท ค่าเช่าตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2551 ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2556 เป็นเวลา 55 เดือน ในอัตราเดือนละ 2 ล้านบาท เป็นเงิน 110 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 133.5 ล้านบาท
หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้เงินจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่หนี้ถึงกำหนดชำระในแต่ละเดือน ซึ่งเป็นวันผิดนัดจนกว่าจะชำระแก่โจทก์ และจำเลยที่ 1 ยังต้องรับผิดชำระค่าเช่าตามอัตราที่กำหนดไว้ในบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าที่ดิน นับแต่วันพิพากษาจนกว่าจะครบกำหนดอายุสัญญาเช่า
ส่วนจำเลยที่ 2 นั้นเป็นผู้เช่าช่วง ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 545 กำหนดว่า ผู้เช่าช่วงต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าเดิมโดยตรง หากผู้เช่าช่วงจะได้ใช้ค่าเช่าให้แก่ผู้เช่าไปก่อนหาอาจจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้ให้เช่าได้ไม่ โดยเฉพาะตามสัญญาเช่าช่วง วรรคท้าย ระบุว่า หากผู้เช่าช่วงได้ชำระค่าเช่าให้แก่ผู้ให้เช่าช่วงแล้ว ปรากฏว่า ผู้ให้เช่าช่วงไม่ได้นำไปชำระแก่เจ้าของ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงให้ผู้เช่าช่วงสามารถนำเงินค่าเช่าไปชำระแก่เจ้าของโดยตรง และนำส่วนที่เหลือส่งคืนให้แก่ผู้ให้เช่าช่วง
ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าและโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบโดยขอให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเช่าให้โจทก์แล้วจำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชำระค่าเช่าให้โจทก์โดยตรงตามอัตราที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์ แต่ไม่เกินกว่าค่าเช่าที่จำเลยที่ 2 จะต้องชำระให้จำเลยที่ 1
ซึ่งพยานโจทก์ยืนยันว่าจำเลยที่ 2 จะต้องชำระค่าเช่าให้จำเลยที่ 1 ตามสัดส่วนที่จำเลยที่ 2 ได้รับมอบที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรวมทั้งผู้ค้ารายย่อยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราเดือนละ 1,486,660 บาท ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็มิได้โต้แย้งคัดค้านว่า ค่าเช่าดังกล่าวไม่ถูกต้องเพียงแต่กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเนื่องจากเป็นอัตราค่าเช่าตามบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าที่ไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 เท่านั้น
จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดชำระค่าเช่าช่วงให้จำเลยที่ 1 ในอัตราเดือนละ 1,486,660 บาท จากทางนำสืบของโจทก์หลังจากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าเช่า วันที่ 22 มกราคม 2551 โจทก์ได้มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบว่าจำเลยที่ 1 ติดค้างชำระค่าเช่ารายเดือนให้โจทก์ถึงวันมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบรวม 17 เดือน โจทก์ขอใช้สิทธิรับค่าเช่าโดยตรง แต่จำเลยที่ 2 เพิกเฉย จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดชำระค่าเช่าให้โจทก์ในอัตราเดือนละ 1 ล้านบาท นับแต่วันที่ 22 มกราคม 2551 จนถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2551 เป็นเวลา 10 เดือน เป็นเงิน 10 ล้านบาท ค่าเช่าในอัตราเดือนละ 1,486,660 บาท นับแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2551 ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2552 เป็นเวลา 55 เดือน เป็นเงิน 81,766,300 บาท รวมเป็นเงิน 91,766,300 บาท
หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้เงิน จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และจำเลยที่ 2 ยังต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าในอัตราที่จำเลยที่ 2 จะต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ตามสัญญาเช่าช่วงแต่ไม่เกินกว่าอัตราที่กำหนดไว้ในบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าที่ดิน จนกว่าจะครบกำหนดตามสัญญาเช่าช่วง
ส่วนที่จำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่าบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าที่ดิน เป็นเอกสารที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำขึ้นโดยจำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนรู้เห็นด้วย และไม่มีการนำบันทึกดังกล่าวไปจดทะเบียน ไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้นเป็นการรับผิดชำระค่าเช่าตามที่จำเลยที่ 1 มีความผูกพันที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ แม้จำเลยที่ 2 จะไม่รู้เห็นยินยอมถึงการแก้ไขอัตราค่าเช่าดังกล่าวก็ไม่เป็นเหตุให้หลุดพ้นจากความรับผิดต่อโจทก์
สำหรับค่าขาดประโยชน์จากการที่โจทก์สามารถนำทรัพย์ออกให้เช่าและให้เซ้งหรือขายสิทธิการเช่าเป็นค่าเสียหายหลังจากเลิกสัญญาแล้ว จำเลยทั้งสองไม่ส่งมอบทรัพย์คืนให้โจทก์ เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิเลิกสัญญา จึงยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายตามที่กล่าวมาในคำฟ้อง
พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าค้างชำระ 133.5 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 5 แสนบาท นับแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2549 ของต้นเงิน 1 ล้านบาท นับแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2549 ของต้นเงิน 2 ล้านบาท นับแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2551 รวมทั้งหมดถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2556 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
และให้ชำระค่าเช่าตามอัตราที่กำหนดไว้ในบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าที่ดินจนกว่าจะครบกำหนดการเช่า โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชำระค่าเช่าค้างชำระ 91,766,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1 ล้านบาท นับแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2551 ของต้นเงิน 1,486,660 บาท นับแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2551รวมทั้งหมดถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2556 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
และให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชำระค่าเช่าให้โจทก์ตามอัตราที่กำหนดไว้ในบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าที่ดิน แต่ไม่เกินกว่าจำนวนค่าเช่าที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 ตามสัญญาเช่าช่วง จนกว่าจะครบกำหนดการเช่าช่วง
อ่านประกอบ : เจ้าของที่ตลาดสนามหลวงสองร้อง"เอกชน-กทม."ติดหนี้ไม่จ่ายค่าเช่า133 ล.