มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เสนอเร่งดำเนินการปฏิรูปการพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
|
แถลงการณ์เรื่อง ขอเสนอให้เร่งดำเนินการปฏิรูปการพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
...
ขณะนี้หลายท่านคงทราบว่าสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เตรียมจะมีการจัดประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านแหล่งน้ำ(คชก.) ในวันพุธที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ เพื่อพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ โครงการเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ (EHIA) เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ท่ามกลางคำทักท้วงของประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชนด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และนักวิชาการที่ทักท้วงและคัดค้านโครงการดังกล่าว โดยเฉพาะเหตุการณ์เดินเท้า ของ อาจารย์ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และเพื่อนพ้องนักอนุรักษ์นับเป็นหมื่นคนที่ออกมาแสดงเจตนารมณ์คัดค้านการนำ EHIA ที่ยังมีข้อบกพร่อง ความไม่ทันสมัยของข้อมูล และไม่สามารถ ตอบประเด็นข้อสงสัยในเรื่องความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งได้ ก็ยังผลักดันให้นำมาใช้ในการพิจารณาได้ ดังนั้น EHIA และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านแหล่งน้ำ หรือ คชก. กำลังกลายเป็นจุดปะทุที่สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
...
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๖ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ตัดคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านแหล่งน้ำที่เห็นข้อบกพร่องของ EHIA และไม่อนุมัติให้ผ่าน ออกจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ เช่น อาจารย์อุทิศ กุฎอินทร์ ฯลฯ และยังตัดผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นผู้แทนจากองค์กรภายนอก เช่น องค์กรพัฒนาเอกชน ตัวแทนภาคประชาชน ฯลฯ ออก คงเหลือแต่ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นผู้เสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแต่งตั้งโดยคัดเลือกจากผู้ชำนาญการในแต่ละสาขามา ๑ ท่าน นั่นหมายความว่าผู้ทรงคุณวุฒิที่ดูแล EHIA ด้านป่าไม้ สัตว์ป่า และความหลากหลายทางชีวภาพจะมีเพียง ๑ ท่านที่ได้รับการแต่งตั้งเป็น คชก. และคนๆนี้คือคนที่จะเป็นผู้พิจารณาเห็นชอบให้มีการทำลายป่าไม้ที่ใดก็ได้แม้แต่ป่าอนุรักษ์ในประเทศไทย
...
เมื่อศึกษาโครงสร้างของการพิจารณาอนุมัติให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติในผืนป่าตะวันตกเพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำและเขื่อนแม่วงก์พบว่า องค์กรหลักคือ คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้เสนอแต่งตั้งและเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเมื่อพิจารณาลึกลงไปอีกพบว่าคณะกรรมการผู้ชำนาญการดังกล่าวซึ่งกำลังจะพิจารณา EHIA โครงการเขื่อนแม่วงก์ ในวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน๒๕๕๗ มีอยู่ด้วยกัน ๘ ท่าน และในจำนวนนี้ไม่มีผู้ทรงคุณวุฒิด้านความหลากหลายทางชีวภาพ
...
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จึงขอเสนอให้ประเทศไทยมีการปฏิรูประบบการพิจารณารายงาน EHIA และ EIA โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
...
๑. เราต้องการเครื่องมือใหม่ เพราะการประเมินผลกระทบแค่ EIA หรือ EHIA ไม่เพียงพอ ต้องเพิ่มเป็น SEA หรือการประเมินสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ เช่นในกรณีเขื่อนแม่วงก์ ถ้ามี SEA ต้องมองทิศทางในการพัฒนาลุ่มน้ำสะแกกรัง ซึ่งมีลุ่มน้ำแม่วงก์รวมอยู่ในนั้นด้วย และทางเลือกในการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำ มีกี่ทางเลือก แล้วนำแต่ละทางเลือกมาศึกษา ต้นทุนแต่ละทางเลือกอย่างละเอียด ไม่ลำเอียง และการยอมรับของประชาชน หากดำเนินการเช่นนี้ ก็ย่อมมีคำตอบมากกว่าการสร้างเขื่อนแม่วงก์
...
๒. เจ้าของโครงการต้องไม่เป็นผู้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาในการทำรายงาน EIA และ EHIA โดยตรง เพราะจะทำให้ผู้ทำรายงานขาดอิสระ โดยควรมีกองทุน หรือระบบกองกลาง โดยให้หน่วยงานกลางทำหน้าที่จัดหาผู้ทำรายงาน โดยไม่ต้องกลัวว่าจะผ่านหรือไม่ และได้ค่าจ้างเต็มตามจำนวน และหน่วยงานกลางต้องไม่ใช่ผู้ทำหน้าที่แค่ผู้ดูแลเงินงบประมาณและส่งรายงาน แต่ควรมีหน้าที่ดูแลทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ มีอำนาจในการตัดสินใจว่าโครงการนี้มีความเป็นไปที่จะดำเนินการลงรายละเอียดต่อหรือไม่
...
๓. EIA และ EHIA ต้องมีอายุจำกัด ไม่ใช่ว่าอายุ ๑๐ ปี ๒๐ ปี ก็ยังกลับมาใช้ เพราะสภาพการณ์ในแต่ละช่วงเวลาของสังคมและสิ่งแวดล้อมได้เปลี่ยนไปแล้ว
...
๔. คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ (คชก.) จะเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะมีตัวแทนนักวิชาการซึ่งเป็นตัวแทนจากองค์กรภายนอก ภาคประชาชน กลับเข้ามาทำหน้าที่อ่านรายงาน ร่วมพิจารณารายงานในฐานะคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯในด้านต่างๆ พร้อมทั้งเปิดที่นั่งให้ชุมชนผู้มีส่วนได้-เสีย เสนอรายชื่อเข้าไปร่วมรับฟัง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายสนับสนุนหรือฝ่ายคัดค้าน
...
๕. รายงาน EIA และ EHIA ไม่ควรจะเสนอและแก้จนกว่าจะผ่าน แต่หากผู้จัดทำรายงานเป็นอิสระ ก็มีสิทธิที่จะเสนอได้ว่าควรยุติโครงการ เนื่องจากมีผลกระทบสูงและมาตรการที่จะป้องกันเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมมีต้นทุนสูงกว่าความเป็นไปได้ที่เจ้าของโครงการจะลงทุนหรือระบบทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้มีคุณค่าเกินกว่าจะทำลายด้วยโครงการก่อสร้างต่างๆ
...
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยืนยันที่จะปกป้อง ดูแลทรัพยากรธรรมชาติผืนป่าและสัตว์ป่าของประเทศไทย โดยเฉพาะผืนป่าตะวันตก และยังเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดในประเทศไทยและเอเซียอาคเนย์ เป็นแหล่งพันธุกรรมเสือโคร่งที่มากที่สุดเป็นอันดับสองของโลกและมีแนวโน้มการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งสูงขึ้นทุกปี แต่ทั้งหมดนี้กำลังจะสูญเสียไปด้วยการตัดสินใจจากระบบโครงสร้างที่ผิดพลาดและเมื่อเสียหายไปแล้ว เราเชื่อว่ามันจะไม่มีวันกลับมาเป็นได้ดังปัจจุบัน แต่กลับจะกลายเป็นโดมิโนตัวแรกที่ล้มทับทำลายป่าอนุรักษ์อื่นๆในประเทศไทย เพราะถ้าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ทำได้ ป่าอนุรักษ์อื่นๆก็ย่อมทำได้
...
จึงขอวิงวอนไปสู่ คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านแหล่งน้ำว่าขอให้ท่านทำหน้าที่ด้วยความยุติธรรม ตามหลักวิชาการ ไม่หวั่นไหวต่อการถูกแทรกแซงจากภายนอก และขอให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทำหน้าที่เป็นมันสมองของประเทศในเรื่องของงานด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างตรงไปตรงมา ใช้ข้อมูลวิชาการด้วยเหตุและผลในการพิจารณาอย่างรอบคอบ และกล้าที่จะพิจารณาตัดสินใจโดยไม่หวั่นไหวต่อการแทรกแซง สมกับเป็นข้าราชการของประชาชน ไม่ใช่เพียงคนรับและส่งเอกสาร
...
สุดท้ายคือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐบาลซึ่งนำโดยท่านประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) โปรดรับคำแถลงการณ์นี้ไว้พิจารณาดำเนินการปรับระบบ และโครงสร้างการพิจารณา EIA และ EHIA เพื่อให้ระบบการดูแล ตรวจสอบสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ยังคงไว้ซึ่งความเป็นระบบ และเกิดความยุติธรรมแก่คนผู้ได้รับประโยชน์จากธรรมชาติทุกๆคนอย่างเท่าเทียม การกระทำของท่านในวันนี้ คือผลที่จะเกิดขึ้นต่อลูก หลานของท่าน และคนไทยทุกคนในอนาคต
...
นางรตยา จันทรเทียร
ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
๑๒พฤศจิกายน ๒๕๕๗