เปิดสาระสำคัญแผนสิทธิมนุษยชนฉบับ 3 สู่สังคมสันติสุขและเท่าเทียม
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบ "แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่3 (พ.ศ. 2557–2561)" ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ พร้อมทั้งสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนฯไปสู่การปฏิบัติด้วยการแปลงแผนฯไปสู่แผนบริหารราชการแผ่นดิน แผนปฏิบัติราชการกระทรวง กรม แผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนแผนพัฒนาองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
พร้อมกันนี้ ให้จัดทำเป็นโครงการ กิจกรรม เพื่อรองรับการดำเนินงานตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยใช้งบประมาณของหน่วยงานมาดำเนินการในการพิจารณานำมิติด้านสิทธิมนุษยชนมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของหน่วยงาน
นอกจากนี้ยังกำหนดให้หน่วยงานต่าง ๆ รายงานผลการปฏิบัติงานตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 เมื่อสิ้นปีงบประมาณ ปีละ 1 ครั้ง ภายในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี และมอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมรับผิดชอบการกำหนดแนวทาง วิธีการรายงานผลและแบบรายงานผลการดำเนินงาน พร้อมแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบและถือปฏิบัติ
รวมทั้งมอบหมายให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม จัดทำคำแปลบทสรุปแผน สิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 3 เป็นภาษาอังกฤษ สำหรับเผยแพร่นานาประเทศ
สำหรับสาระสำคัญของแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 มีเป้าหมายสำคัญที่ต้องการทำให้สังคมไทย “เป็นสังคมที่ส่งเสริม สิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียม โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อนำไปสู่สังคม สันติสุข” ซึ่งมีทิศทางครอบคลุมประเด็นสิทธิมนุษยชนทั้ง 11 ด้าน และ 15 กลุ่มเป้าหมาย โดยมีการกล่าวถึงสภาพปัญหา มาตรการ การปฏิบัติ ตัวชี้วัดความสำเร็จหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทั้งหน่วยงานหลักและหน่วยงานร่วมดำเนินการ และกรอบระยะเวลาดำเนินงานในช่วง 5 ปีของแผน
ทั้งนี้ แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้กำหนดมิติของสิทธิมนุษยชน เป็น 11 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านสาธารณสุข 2.ด้านการศึกษา 3. ด้านเศรษฐกิจ 4.ด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม 5.ด้านที่อยู่อาศัย 6.ด้านวัฒนธรรมและศาสนา 7. ด้านข้อมูล ข่าวสาร เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 8.ด้านการขนส่ง 9.ด้านการเมืองการปกครอง 10.ด้านกระบวนการยุติธรรม และ11.ด้านความมั่นคงทางสังคม
ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มเป้าหมายที่มีผลกับความมั่นคงทางสังคมและเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน 15 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มผู้ต้องหา/ผู้ต้องขัง 2. กลุ่มผู้พ้นโทษ 3. กลุ่มผู้ต้องหาคดียาเสพติดตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545/กลุ่มผู้ติดยาเสพติด และผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด 4. กลุ่มเหยื่อ/ผู้เสียหาย 5.กลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์
6. กลุ่มผู้ใช้แรงงาน 7. กลุ่มคนจน/ผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา 8. กลุ่มเกษตรกร 9. กลุ่มผู้สูงอายุ 10. กลุ่มเด็กและเยาวชน 11. กลุ่มสตรี 12. กลุ่มคนพิการ 13. กลุ่มผู้ไร้รัฐ ชาติพันธุ์ และกลุ่มผู้แสวงหาที่พักพิงหรือผู้หนีภัยการสู้รบ 14. กลุ่มที่รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรง และ 15. กลุ่มความหลากหลายทางเพศ/อัตลักษณ์ทางเพศ โดยมีการกำหนดกรอบระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2557-2561
ก่อนหน้านี้ “เอกสารสรุปสาระสําคัญการนําเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 3 (พ.ศ.2557-2561)” โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ระบุว่า เมื่อแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ได้มีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการแล้ว การดําเนินงานและประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนภารกิจด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยอย่างมีเอกภาพ ต้องมีระบบบริหารจัดการที่ดี ทั้งเรื่องการจัดลําดับความสําคัญของภารกิจ ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่จะดําเนินการในแต่ละปี การกําหนดหน่วยงานรับผิดชอบหลัก และการประสานการดําเนินงาน ทั้งในระดับภาพรวม ระดับพื้นที่ และสิทธิเฉพาะด้านที่สําคัญ
รวมทั้งการจัดทําแผนปฏิบัติการในระดับ กระทรวง กรม และหน่วยงานในระดับพื้นที่ ตลอดจนการวางระบบภารกิจติดตามและประเมินผลการดําเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีสาระสําคัญในแต่ละเรื่อง ดังนี้
1.กรอบแนวคิดของการแปลงแผนสิทธิมนุษยชนสู่การปฏิบัติ มีเจตนารมณ์ที่จะให้แผน
เป็นเครื่องมือช่วยในการทํางานของหน่วยงานต่าง ๆ มากกว่าจะเป็นแผนที่คอยตรวจสอบหรือเพิ่มภาระการทํางาน เพื่อผลักดันให้หน่วยงานต่าง ๆ เห็นความสําคัญเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับทุกหน่วยงานอยู่แล้ว เพื่อเป็นการช่วยเสริมการทํางานตามภารกิจและนํามิติด้านสิทธิมนุษยชนในส่วนที่เกี่ยวข้องมาเพิ่มประสิทธิภาพในการทํางานให้ดียิ่งขึ้น ด้วยการนํานโยบายด้านสิทธิมนุษยชนหรือกลุ่มเป้าหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภารกิจตนเอง ถ่ายทอดลงสู่แผนปฏิบัติราชการ แผนพัฒนาขององค์กร แล้วจัดทําโครงการ/กิจกรรมรองรับการดําเนินงานตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยการใช้งบประมาณของหน่วยงานดําเนินการ
2. บทบาทขององค์กรเครือข่ายทุกภาคส่วนและประชาชน ความสําเร็จของแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 3 ต้องอาศัยความร่วมมือในลักษณะหุ้นส่วน(Partnership) กับองค์กรเครือข่ายทุกภาคส่วนทั้งภาคเอกชน และภาคประชาชน ในระดับชาติ ภูมิภาค หรือท้องถิ่น รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อประสานความร่วมมือกันในการดําเนินงานทั้งการประสานงานหรือขอรับการสนับสนุนงบประมาณมาดําเนินการ โดยจะกล่าวถึงบทบาทของทุกคนในสังคม ได้แก่ กลไกระดับชาติ กลไกระดับกระทรวงหรือหน่วยงานเทียบเท่า กลไกระดับภูมิภาคและท้องถิ่น สถาบันการศึกษาและสถาบันทางวิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป
3. การติดตามและประเมินผล โดยกําหนดกรอบการดําเนินงานการติดตามและประเมินผลอยู่ 2 ประการ คือ 1. การพัฒนาระบบกลไกและการสร้างตัวชี้วัดความสําเร็จของการดําเนินงาน และ 2. การพัฒนาฐานข้อมูลและการเชื่อมโยงเครือข่ายประสานข้อมูลระหว่างหน่วยงานในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับนโยบายไปจนถึงระดับพื้นที่ ทั้งการพัฒนาระบบฐานข้อมูลของหน่วยงานระดับต่าง ๆ และการเสริมสร้างเครือข่ายข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชน
4.องค์กรเครือข่ายทุกภาคส่วนที่จะนําแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติ องค์กร
เครือข่ายทุกภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน สถาบันการศึกษาและสถาบันทางวิชาการ องค์กรศาล องค์กรอื่น และองค์กรอิสระ
พร้อมกันนี้ยังระบุผลที่คาดว่าจะได้รับในระดับประเทศว่า 1.การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย พัฒนาก้าวหน้าทัดเทียมระดับสากล จากการที่ประเทศไทยมีมาตรการ/เครื่องมือ/กลไกที่เป็นมาตรฐานกลาง เพื่อสร้างหลักประกันที่ดีในการปฏิบัติตามพันธกรณีและข้อตกลงระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน
2. ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีและได้รับการยอมรับในเวทีระหว่างประเทศและประชาคม
อาเซียน ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกองค์การสหประชาชาติและประชาคมอาเซียน
ระดับสังคม 1.สถานการณ์การละเมิดสิทธิในสังคมมีแนวโน้มเป็นไปในทางที่ลดลง 2.หน่วยงานจากทุกภาคส่วน ร่วมมือกันป้องกันและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชน และช่วยลดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย เนื่องจากสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องและเกี่ยวพันกับทุกหน่วยงานอยู่แล้ว เพียงแต่นํามิติด้านสิทธิมนุษยชนมาเพิ่มประสิทธิภาพการทํางานให้ดียิ่งขึ้น
3 สังคมไทยเป็นสังคมที่ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียม โดยคํานึงถึงศักดิ์ศรีความเป็น
มนุษย์เพื่อนําไปสู่สังคมสันติสุข
ระดับประชาชน ประชาชนมีความมั่นคงและมีความสุขในชีวิตจากการที่ประเทศไทยมีหลักประกันด้านสิทธิและเสรีภาพที่ทัดเทียมกับสิทธิมนุษยชนสากล