‘นักวิจัย’ ยกเคส ‘น้ำท่วม 54’ ตั้งรับภัยพิบัติอนาคต เน้น ปชช.ตื่นตัวตลอดเวลา
เวทีวิชาการสังคมวิทยาฯ เปิดผลวิจัย ‘นัยทางสังคมและการเมืองมหาอุทกภัย 54’ เจาะพื้นที่อยุธยา-นครปฐม-ปทุมธานี เน้นรับมือน้ำท่วมมีธรรมาภิบาล ตรวจสอบได้ หาวิธีกระตุ้น ปชช.ตื่นตัวตลอดเวลา หวังสร้างภูมิคุ้มกันเจอปัญหาระลอกใหม่
เมื่อเร็วๆ นี้ โครงการวิจัยที่ได้รับทุนจากกองทุนวิจัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ นำเสนอผลงานการวิจัยเรื่อง ‘นัยทางสังคมและการเมืองของมหาอุทกภัย 2554’ ณ ชั้น 4 อาคารคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
นายกฤษฎา แก้วเกลี้ยง ในฐานะนักวิจัย ‘นัยทางสังคมและการเมืองของมหาอุทกภัย 2554:ผลการศึกษาเชิงสำรวจ’ เปิดเผยถึงที่มาและความสำคัญว่า ประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัยจนได้รับความเดือดร้อน ดังนั้นงานวิจัยชุดนี้จึงมุ่งถอดบทเรียนจากสิ่งที่ได้ประสบ โดยศึกษาใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ บริบทพื้นที่ ผลกระทบด้านต่าง ๆ การปรับตัว และสภาพปัญหา ในพื้นที่ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา อ.พุทธมณฑล และนครชัยศรี จ.นครปฐม และ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี จำนวน 411 คน
ส่วนใหญ่ประชาชนทั้ง 3 พื้นที่ เป็นเพศหญิงมากที่สุด อายุระหว่าง 41-50 ปี รองลงมา คือ 31-40 ปี โดยมีการศึกษาระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า และระดับมัธยมศึกษาหรืออาชีวศึกษา ประกอบธุรกิจส่วนตัว เช่น เปิดร้านค้า และมีรายได้ต่ำกว่า 9,000 บาท/เดือน/คน ซึ่งไม่สูงนัก
นายกฤษฎา กล่าวถึงประเด็นสำคัญที่น่าสนใจว่า จากผลการสำรวจพบระดับความร่วมมือภายในชุมชนในการจัดการกับปัญหาน้ำท่วมมีความสัมพันธ์กับการปรับตัวด้านพฤติกรรม ยิ่งเกิดความร่วมมือมากยิ่งปรับตัวได้ดีขึ้น นั่นแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของชุมชนมีความสำคัญต่อการรับมือปัญหา เพราะสุดท้าย สังคมไทยยังต้องพึ่งพาเครือข่าย เครือญาติ โดยมีทรัพยากรสำคัญอย่างบ้าน วัด และโรงเรียน
ส่วนบทบาทสื่อมวลชนในการกระจายข้อมูลข่าวสารก่อนน้ำท่วมนั้น นักวิจัย กล่าวว่า มีความสัมพันธ์กับการปรับตัวด้านพฤติกรรม เพราะยิ่งสื่อฯ มีประสิทธิภาพมากเท่าไหร่ ประชาชนจะสามารถปรับตัวกับปัญหาน้ำท่วมได้มากเท่านั้น ดังนั้นสิ่งที่ต้องเร่งปรับปรุงต้องทำให้สื่อเป็นองค์กรหลักที่จะทำให้ประชาชนเตรียมรับมือกับสถานการณ์ได้ดีขึ้น
สำหรับการได้รับความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐนั้น นักวิจัย พบนอกเหนือการช่วยตัวเองภายใต้ความร่วมมือของประชาชนด้วยกันแล้ว ภาครัฐยังเข้ามาช่วยเหลือ เพราะมีกำลังคนและงบประมาณเพียงพอ ช่วยเพิ่มความสามารถในการปรับตัวได้มากยิ่งขึ้น
“การจะวางระบบให้ประชาชนปรับตัวรับมือกับน้ำท่วมได้ ต้องสร้างแนวทางรูปธรรมด้วยการสำรวจความต้องการของแต่ละพื้นที่ สร้างแนวประสานความร่วมมือ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำงาน และต้องให้มีระบบความโปร่งใส ให้สามารถตรวจสอบทรัพยากรเพื่อไปถึงมือประชาชนและจะได้รับสิ่งที่ภาครัฐช่วยเหลือมากที่สุด” นายกฤษฎา กล่าว และว่า จำเป็นต้องให้ชุมชนร่วมตระหนักรู้ป้องกันตัวเองผ่านภูมิปัญญาท้องถิ่น และในเชิงนโยบายต้องส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ประชาชนพึ่งตัวเองได้ ไม่ต้องรอรับความช่วยเหลือจากรัฐอย่างเดียว
ท้ายที่สุด นักวิจัย กล่าวถึงข้อเสนอแนะเชิงนโยบายภาพรวมว่า ต้องเร่งดำเนินกิจกรรมหรือโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาทางสังคมในการจัดการความขัดแย้งเกี่ยวกับผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียระหว่างประชาชนกับประชาชน ประชาชนกับรัฐ และรัฐกับรัฐ พร้อมกับเน้นการบริหารจัดการน้ำอย่างมีธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน
อีกทั้ง ต้องเพิ่มช่องทางติดต่อสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างรัฐกับประชาชน เพื่อความเข้าใจมากขึ้น และเน้นการจัดการน้ำท่วมอิงกับบริบทท้องถิ่น ยึดความต้องการของคนในชุมชนเป็นหลัก รวมถึงพัฒนาระบบสุขาภิบาลและคมนาคมขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ จัดการเก็บขยะ จัดการขนส่งความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที สุดท้าย ต้องหาวิธีเตรียมตัว เฝ้าระวัง เพื่อประชาชนจะได้เตรียมตัวอยู่เสมอ มิใช่เกิดปัญหาแล้วค่อยไปแก้ไข ถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้ภาคประชาชน
สำหรับข้อเสนอแนะการจัดการใน 3 พื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา นครปฐม และปทุมธานี นายกฤษฎา กล่าวด้วยว่า ต้องสร้างความเข้าใจระหว่างผู้ใช้น้ำในชุมชน ภาคการเกษตร ภาครัฐ อย่างถ่องแท้ และสำรวจความขัดแย้งในอดีต เพื่อนำมาสู่การแก้ไขปัญหา จนเกิดความยุติธรรมในการจัดการน้ำ ภายใต้สิทธิของผู้ได้รับผลกระทบทุกกระบวนการ
ที่สำคัญ ต้องวางโมเดลรับมือภัยพิบัติรูปธรรมใช้จริงและจัดระบบเงินเยียวยาอย่างเป็นธรรม ตลอดจนควรใช้สื่อของรัฐและท้องถิ่นในการกระจายความรู้แก่ประชาชนด้วย .
ภาพประกอบ:www.vcharkarn.com