เล็งชงครม.ภาษีมรดกโอนก่อนตายเสีย5%
เล็งชงครม.ภาษีมรดกโอนก่อนตายเสีย5% ระบุหากยกมรดกให้บุคคลอื่น เข้าเกณฑ์เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
คลัง เล็งเสนอ "ครม."อนุมัติร่างกฎหมายภาษีมรดก "สมหมาย" ผลักดันเก็บภาษีมรดกเต็มเพดาน 10% ของมูลค่ามรดกที่เกินกว่า 50 ล้านบาท ทายาทสายตรงเข้าข่ายเสียภาษี หากรับก่อนตกเป็นมรดก ทายาทสายตรงเสียภาษี 5% ของทรัพย์สินที่เกินกว่า 10 ล้านบาท ย้ำทั้ง 2 กรณีหากโอนให้คนอื่นเข้าเกณฑ์เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ร่างภาษีมรดกที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาแล้วเสร็จ จะถูกเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม) ในเร็วๆนี้ ซึ่งยืนยันว่า จะพยายามผลักดันให้ร่างภาษีดังกล่าวมีผลบังคับใช้ เชื่อจะผ่านความเห็นชอบจากทุกฝ่าย รวมถึงชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
สำหรับหลักการร่างภาษีมรดก คือ จะจัดเก็บภาษีจากผู้รับที่เป็นทายาทสายตรง คือ บุตรหรือลูกในสายเลือด เบื้องต้นกำหนดอัตราเพดานจัดเก็บสูงสุด 10% ของมูลค่ามรดกที่มีการจดทะเบียน ส่วนอัตราจัดเก็บจริงจะกำหนดอีกครั้ง ซึ่งจะออกเป็นพระราชกฤษฎีการองรับ แต่ส่วนตัวจะพยายามผลักดันให้เก็บในเพดาน 10% เพราะอัตราดังกล่าวอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับหลายประเทศที่จัดเก็บภาษีลักษณะนี้ ผู้รับมรดกที่ได้รับการยกเว้นภาษี คือ สามีและภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย
"ผมพยายามให้เก็บอัตราภาษีเต็มเพดาน เพราะเป็นอัตราจัดเก็บที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบประเทศอื่นๆ เช่น ยุโรป และสหรัฐ เรียกเก็บที่ 40% ญี่ปุ่น 55% ขณะที่ สิงคโปร์ไม่มีการเก็บภาษีดังกล่าว เพราะเป็นประเทศค้าเงินที่ไม่ควรเก็บ หากเก็บแล้ว เงินก็จะไม่เข้าประเทศ" นายสมหมาย กล่าว
ส่วนมูลค่ามรดกที่เข้าข่ายเสียภาษีดังกล่าว ต้องมีมูลค่าเกินกว่า 50 ล้านบาท กล่าวคือ มรดกที่มีมูลค่าต่ำกว่า 50 ล้านบาท จะได้รับการยกเว้นการเสียภาษีดังกล่าว ส่วนที่เกินกว่านั้น ต้องเสียภาษีตามอัตราที่กำหนด ตัวอย่างเช่น ผู้ตายมอบมรดกมูลค่า 210 ล้านบาท ให้แก่ลูก 3 คนๆ ละเท่าๆ กัน คือ 70 ล้านบาท ในจำนวนนี้ 50 ล้านบาทแรก จะไม่เสียมรดก แต่เสียในส่วนที่เกินมา 20 ล้านบาท หากเก็บเต็มเพดานที่ 10% เท่ากับว่า ผู้รับมรดกจะเสียภาษีละ 2 ล้านบาท
หากผู้ตายมีทรัพย์จำนวนมาก และต้องการยกมรดกให้แก่บุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูก เช่น หลาน เป็นต้น บุคคลที่ได้รับมรดก ต้องเสียภาษีตามเกณฑ์ของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งจำนวน
สำหรับการให้มรดกก่อนที่ผู้ให้มรดกจะเสียชีวิต กระทรวงการคลัง จะแก้ไขกฎหมายประมวลรัษฎากรที่เกี่ยวกับการรับให้ ซึ่งเดิมจะกำหนดให้มีการยกเว้นการเสียภาษี โดยจะแก้ไขให้มีการเก็บภาษีทายาท หรือลูกสำหรับมูลค่ามรดกที่เกินกว่า 10 ล้านบาท ในอัตรา 5% เมื่อผู้รับเสียภาษีจากการรับให้ดังกล่าวแล้ว ไม่ต้องเสียภาษีมรดกอีก ส่วนการให้บุคคลอื่น ผู้รับต้องเสียภาษีตามเกณฑ์ของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งจำนวน
"ถ้าเป็นมรดกที่ให้แก่ลูก เราจะเก็บส่วนเกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป ส่วนการให้ก่อนตกเป็นมรดกแก่ลูก จะยกเว้น 10 ล้านบาทแรก ถ้าพ่อมีเงินเยอะ จะทยอยให้ในสูตรการเสียภาษี ก็ต้องเสียภาษีตามเกณฑ์เป็นปีๆ ไป แต่ถ้าพ่อมีเงินเยอะกว่านั้น ไม่ให้ลูกทั้งหมด จะให้มหาวิทยาลัย โรงเรียน สาธารณสุข เป็นกองมรดก ก็จะไม่เสียภาษีมรดก แต่ถ้ามีรายได้เกิดขึ้นจากการตั้งเป็นกองมรดก ต้องนำมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา" นายสมหมาย กล่าว
นายสมหมาย ยอมรับว่า แม้ร่างกฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ แต่ด้วยนวัตกรรมทางการเงินที่มีความก้าวหน้า จึงเชื่อว่า จะมีการรั่วไหลของการจัดเก็บภาษีดังกล่าว ถ้ามีการหลีกเลี่ยงการเสียภาษี จะถือว่ามีความผิดต่อกฎหมายดังกล่าว
"ในระหว่างที่กฎหมายยังไม่มีผลบังคับใช้ ใครจะมีการโยกย้ายทรัพย์สินก็จะถือสามารถทำได้ แต่ที่รีบโอนกัน เพราะไม่รู้ คิดว่า เราจะเก็บภาษีการโอนทั้งหมด ก็รีบโอนกัน ก็ยืนยัน ไม่ถึง 50 ล้านบาท ไม่ต้องเสีย" เขากล่าว
ด้านพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรมว.กลาโหม กล่าวถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 12 พ.ย.นี้ว่า เท่าที่ทราบยังไม่มีการพิจารณาเรื่องสำคัญ เพราะที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้ดำเนินการทุกอย่างแล้ว การประชุมเป็นไปตามวาระ คิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร สำหรับเรื่องการพิจารณาราภาษีมรดกนั้นกำลังดำเนินการอยู่ แต่ยังไม่พิจารณาในการประชุมครม. วันที่ 12 พ.ย. เช่นเดียวกับการพิจารณารถไฟร่างคู่
ขอบคุณข่าวจาก