เมื่อ“บิ๊กตู่”กำชับขรก.แก้ปัญหา“สื่อ” บิดเบือน-ป้องกันข้อมูลรั่วไหล ?
“…ปัจจุบันข้อมูลข่าวสารมีสื่อหลายช่องทาง บางช่องทางก็เป็น “กระบอกเสียง” ให้พรรคการเมือง ทำหน้าที่คล้ายสื่อ ที่บางครั้งนำข้อมูลไปเผยแพร่แบบบิดเบือน ทำให้สังคมบริโภคข้อมูลแบบสับสน และบางครั้งอาจสร้างความสับสนให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือสถาบันที่ประชาชนเคารพนับถือ หรือแม้แต่ความมั่นคง…”
เกือบ 6 เดือน มี “แม่น้ำ” ครบทั้งห้าสาย เตรียมร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่อ้างเหตุผลว่า เพื่อเข้ามาแก้ไขความขัดแย้งที่ร้าวลึกในสังคมไทยกว่า 10 ปี และพร้อม “คืนความสุข” ให้คนในชาติอย่างที่เคยเป็นในอดีต
ขณะที่กระบวนการทำข่าวของสื่อมวลชนก็ได้รับการผ่อนคลายมากขึ้นจากรัฐบาล แต่ก็ใช่ว่าจะมี “เสรีภาพ” อย่างเต็มที่ในการทำงาน หลังจากก่อนหน้านี้ช่วง คสช. ยึดอำนาจใหม่ ๆ การสืบหาข้อมูลข่าวสารเป็นสิ่งที่ทำได้ยากลำบากมาก
ข้อเท็จจริงนี้ดังจะเห็นได้จากมติคณะรัฐมนตรีในห้วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กำชับในที่ประชุม ส่งหนังสือเวียนไปยังทุกส่วนราชการให้เน้นการ “ประชาสัมพันธ์” ข้อมูลข่าวสาร และทิศทางการดำเนินงานของรัฐบาลเพื่อสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน
แต่ในส่วนงานที่ยังดำเนินการ “ไม่ตกผลึก” นั้น “บิ๊กตู่” กำชับหนักแน่นให้ส่วนราชการทั้งหลายระมัดระวังในการนำเสนออย่างเคร่งครัด รวมไปถึงสั่งให้ “เนติบริกร” ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ศึกษากฎหมายเพื่อป้องกันการให้ข้อมูลที่เกิดความขัดแย้งอีกด้วย
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ในเอกสารข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ในคราวประชุม ครม. เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2557 มีเรื่องเร่งรัดให้ดำเนินการเกี่ยวกับสื่อ โดยมอบหมายให้รองนายกฯ (ดร.วิษณุ เครืองาม) กำหนดมาตรการในการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและครบถ้วนแก่ประชาชน โดยปราศจากการบิดเบือนอันจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ความขัดแย้ง จนส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ
โดยให้พิจารณาว่า มีกฎหมายใดที่สามารถนำมาบังคับใช้ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ข้างต้น รวมทั้งให้พิจารณาศึกษามาตรการหรือกฎหมายจากต่างประเทศในเรื่องดังกล่าวเพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงกฎหมายต่อไป
ขณะที่เอกสารข้อสั่งการนายกฯ ในคราวประชุม ครม. เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2557 มีเรื่องเร่งรัดให้ดำเนินการเกี่ยวกับสื่ออีกครั้ง โดยตามที่ ครม. มีมติเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2557 ให้ทุกส่วนราชการจัดระบบการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลโดยเน้นการประชาสัมพันธ์เฉพาะเรื่องที่ดำเนินการมีผลสัมฤทธิ์แล้ว และระมัดระวังการประชาสัมพันธ์เรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินการและทิศทางการทำงานของรัฐบาลนั้น ให้ทุกส่วนราชการถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์เฉพาะเรื่องที่ดำเนินการมีผลสัมฤทธิ์แล้ว และประชาสัมพันธ์เรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการเฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
คำถามที่พุ่งตรงไปยังรัฐบาลคือ ไฉนต้องกำหนดมาตรการ “ประชาสัมพันธ์” ข่าวสารให้ถูกต้อง และพิจารณากฎหมายเพื่อป้องกันการข่าวสาร “บิดเบือน-สร้างความขัดแย้ง” แก่ความมั่นคง ?
“ปัจจุบันข้อมูลข่าวสารมีสื่อหลายช่องทาง และบางช่องทางก็เป็น “กระบอกเสียง” ให้พรรคการเมือง ทำหน้าที่คล้ายสื่อ ที่บางครั้งนำข้อมูลไปเผยแพร่แบบบิดเบือน ทำให้สังคมบริโภคข้อมูลแบบสับสน และบางครั้งอาจสร้างความสับสนให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือสถาบันที่ประชาชนเคารพนับถือ หรือแม้แต่ความมั่นคง”
เป็นคำยืนยันของ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล ที่เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีข้างต้น ก่อนจะระบุอีกว่า ที่ท่านนายกฯ สั่งการให้ท่านวิษณุ พิจารณาในข้อกฎหมายว่า มีแนวทางอย่างไรบ้างที่จะผลักดันกฎหมายคุ้มครองสิทธิของประชาชน ให้ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ป้องกันการบิดเบือน และมีบทลงโทษผู้ที่กระทำความผิดด้วย
ส่วนที่ว่า ทำไมรัฐบาลต้องประชาสัมพันธ์เรื่องที่มีผลสัมฤทธิ์แล้ว แต่เรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการนั้น ให้ระมัดระวังในการให้ข้อมูลอย่างเคร่งครัด ถือเป็นการปิดกั้นการค้นหาข้อมูลข่าวสารของสื่อหรือไม่นั้น ?
พล.ต.สรรเสริญ ชี้แจงว่า การทำงานของรัฐบาลขณะนี้ เป็นรัฐบาลเฉพาะกิจ ที่ขึ้นมาด้วยเหตุจำเป็น เนื่องจากรัฐบาลเดิมมีปัญหาบริหารงานไม่ได้ เราจึงต้องมาดำเนินการแก้ไขปัญหาให้แทน และเข้ามาทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน ดังนั้นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่สัมฤทธิ์ผลแล้วนั้น ก็เพื่อต้องการให้ประชาชนได้ทราบว่าเราได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้แล้วหรือไม่
“แต่ในส่วนการดำเนินงานที่ยังไม่ “ตกผลึก” เราก็ต้องระมัดระวัง บางทีหากนำเสนอออกไป ก็อาจจะทำให้สังคมเข้าใจผิดว่า ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว มีการตกผลึกแล้ว ดังนั้นในส่วนนี้เราก็ต้องระมัดระวังให้มากยิ่งขึ้น นี่น่าจะเป็นจุดประสงค์หลักของท่านนายกฯ”
และนี่ถือเป็นคำชี้แจงต่อข้อซักถามที่ว่า เหตุใด พล.อ.ประยุทธ์ ต้องสั่งการกำชับเด็ดขาด ให้หน่วยงานราชการระมัดระวังในการให้ข่าวแก่สื่อมวลชน และมีคำสั่งให้ ดร.วิษณุ เข้าไปกำกับดูแลพิจารณากฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาข้อมูลเหล่านี้
แต่ที่สุดแล้วไม่ว่าปัญหาเหล่านี้จะได้รับการแก้ไข หรือเป็นเพียงแค่คำสั่งเพื่อต้องการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนหรือไม่ ก็ต้องรอดูทิศทางการดำเนินงานกันต่อไป
หมายเหตุ : ภาพประกอบ พล.อ.ประยุทธ์ จาก aecnews, ภาพหนังสือพิมพ์ จาก prachachat