มจธ.ศึกษาเส้นทางจักรยาน พบใต้ทางด่วน 2 แห่งเหมาะสุด เสนอ กทพ.จัดนำร่อง
ปัจจุบันหลายภาคส่วนหันมารณรงค์การใช้รถจักรยานแทนรถยนต์ ส่งผลให้มีผู้คนใช้รถจักรยานเป็นพาหนะเดินทางกันมากขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่เมืองเพื่อลดปริมาณการใช้รถยนต์บนถนนและลดปัญหามลพิษในอากาศอีกทางหนึ่ง
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ถือเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่เห็นความสำคัญเกี่ยวกับการรณรงค์และสนับสนุนให้นักศึกษาและคนในชุมชนใช้รถจักรยานมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดกิจกรรมจักรยานประเพณี มจธ.บางมด-บางขุนเทียน หรือ วินรถจักรยานภายในมหาวิทยาลัยของน้องนักศึกษา รวมทั้งให้บุคลากรและนักศึกษายืมรถจักรยานได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ฯลฯ
ล่าสุด มจธ.ยังทำการสำรวจและศึกษาเส้นทางจักรยานสำหรับใช้ในการสัญจรภายในเมืองขึ้น โดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ภายใต้กำกับของกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการจราจรและขนส่ง หรือ Traffic and Transport Development and Research Center (TDRC) มจธ. ดำเนินการจัดทำ “โครงการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจการเงิน เพื่อจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายถนนสำหรับรถจักรยานในเขตทางพิเศษ” รวมถึงการออกแบบเบื้องต้นเส้นทางรถจักรยานโครงการนำร่อง ( Pilot Project) ในเขตทางพิเศษ
รศ.ดร.ธวัชชัย เหล่าศิริหงษ์ทอง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการจราจรและขนส่ง (TDRC) เปิดเผยว่า มจธ.ได้รับความไว้วางใจจากทาง กทพ.ให้จัดดำเนินการจัดทำโครงการฯ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ ศึกษาถึงความเหมาะสม ออกแบบ และนำเสนอรูปแบบการดำเนินงาน โดยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมีนาคม-มิถุนายน 2557 แล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนและกระตุ้นให้เกิดการใช้รถจักรยานสำหรับการเดินทางในชีวิตประวันมากขึ้น ประกอบกับทาง กทพ.เองมีโครงข่ายทางพิเศษอยู่ในความรับผิดชอบเป็นจำนวนมากที่ผ่านพื้นที่ใจกลางเมืองและเชื่อมต่อพื้นที่ชานเมืองได้ซึ่งลักษณะกายภาพของทางและเขตทางนั้น สามารถนำมาใช้พัฒนาให้มีโครงข่ายเส้นทางรถจักรยานและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการใช้รถจักรยานที่ได้มาตรฐานสูงและสอดคล้องกับความต้องการเดินทางประจำวันเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ให้สามารถเดินทางได้อย่างสะดวก คล่องตัว ปลอดภัย และประหยัด
โดยเริ่มจากการสำรวจและศึกษาเส้นทางพิเศษทั้งหมด พบว่า มีโครงข่ายเส้นทางทั้งสิ้น 207.9 กิโลเมตร จากทั้งหมด 7 สายทางจากนั้นทำการศึกษาถึงความเป็นไปได้และความเหมาะสมสำหรับการเป็นเส้นทางจักรยานที่จะทำให้เกิดการสัญจรของคนเมืองอย่างแท้จริง จัดลำดับความน่าสนใจของเส้นทางที่จะพัฒนา ซึ่งผลการศึกษานี้นำไปสู่การจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายถนนสำหรับรถจักรยานในเขตทางพิเศษระยะเวลา 10 ปี (พ.ศ.2558 - พ.ศ.2567) ประกอบด้วย 6 แผนงาน 6 ยุทธศาสตร์ แบ่งเป็นแผนงานระสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยแผนงานระยะสั้น คือตั้งแต่พ.ศ.2558-2559
สำหรับผลการสำรวจและศึกษา รศ.ดร.ธวัชชัยกล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า จากเส้นทางทั้งหมด 207.9 กิโลเมตร พบว่าเส้นทางที่เหมาะสมที่สุดที่น่าจะนำมาทำเป็นเส้นทางรถจักรยานนำร่องมี 2 ส่วน คือ
(1) เส้นทางจากถนนรามอินทรา – ถนนพระราม 9 ระยะทางรวม 13 กิโลเมตร
และ (2) เส้นทางจากถนนพระราม 9 – ถนนรัชดาภิเษก ระยะทางรวม 4.45 กิโลเมตร
โดยมีเส้นทางเชื่อมต่อไปยังสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ (ARL) ที่สถานีมักกะสัน และเส้นทางเชื่อต่อไปยังท่าเรือโดยสารคลองแสนแสบ ที่ท่าเรือชาญอิสสระ ระยะทางรวมทั้งสิ้น 17.45 กิโลเมตร วงเงินค่าก่อสร้างประมาณ 1,039.5 ล้านบาท ซึ่งผลการวิเคราะห์แล้วพบว่า โครงการมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR=8.8%)
โดยเส้นทางนำร่องส่วนที่ 1 จะมีจุดเริ่มต้นจากถนนรามอินทรา มาสิ้นสุดที่ถนนพระราม 9 มีลักษณะเป็นเส้นทางรถจักรยานบนดินใต้สะพานทางด่วน มีขนาดความกว้าง 4 เมตร แบ่งเป็น 2 ช่องไป – กลับ ( 2 X 2 เมตร ) และเส้นทางนำร่องส่วนที่ 2 จะมีจุดเริ่มต้นจากถนนพระราม 9 สิ้นสุดที่ถนนรัชดาภิเษก ซึ่งจะมาเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์นั้น มีลักษณะเป็นเส้นทางจักรยานแบบยกระดับ โดยเริ่มทำสะพานยกระดับข้ามแยกบริเวณลานกีฬาแยกลาดพร้าวเพื่อข้ามมายังฝั่งถนนพระราม 9
นอกจากนี้ยังได้ออกแบบช่องทางสำหรับการข้ามถนนแบบลอดอุโมงค์ใต้ดินเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงโครงข่ายกับชุมชนที่มีอยู่หนาแน่ตลอดทั้งสองฝั่ง เนื่องจากเห็นว่าเส้นทางดังกล่าวนอกจากเป็นเส้นทางด่วนที่มีองค์ประกอบหลายส่วนที่เหมาะสม เป็นจุดใจกลางเมืองหรือไข่แดง ที่รายล้อมด้วยชุมชนขนาดใหญ่ มีการสัญจรและมีผู้คนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงถือเป็นเส้นทางที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาเส้นทางจักรยานที่จะทำให้เกิดการสัญจรของคนเมืองอย่างแท้จริง
รศ.ดร.ธวัชชัย กล่าวในตอนท้ายว่า “อย่างไรก็ตาม แผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายถนนสำหรับรถจักรยานในเขตทางพิเศษขณะนี้ได้ส่งมอบให้กับ กทพ. เรียบร้อยแล้ว หากมีการดำเนินการตามแผนฯ เชื่อว่า จะสามารถเพิ่มส่งเสริมการใช้รถจักรยานในการเดินทางในพื้นที่เขตเมืองได้มากขึ้น และจะนำไปสู่การขยายแนวคิดออกไปยังเส้นทางอื่นๆ ที่มีความเป็นไปได้สามารถนำไปปรับใช้ได้เพิ่มมากขึ้น”