รมว.พลังงานบินดูพื้นที่โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ยันจำเป็นสร้าง
ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี โพสต์เฟชบุค ระบุถึงความจำเป็นสร้างโรงไฟฟ้าที่กระบี่ บอกคนในชุมชนมีเงินกองทุนใช้ปีละ 120 ล้านบาท ขณะที่กรีนพีช –ชาวประมงพื้นบ้าน จัดกิจกรรม “ปกป้องกระบี่” เเรียกร้องขยายพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่แทนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน
วันที่ 9 พฤศจิกายน ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์ข้อความผ่านเฟชบุค ถึงการเดินทางไปดูการเตรียมการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ว่า เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน และเพื่อให้เห็นสภาพที่แท้จริงของพื้นที่ พร้อมกับสรุปว่า ดูดี ทำได้ ประโยชน์มาก และบริหารจัดการพื้นที่ให้ดีได้
ดร.ณรงค์ชัย กล่าวถึงการบินดูพื้นที่ทุกแง่ทุกมุม โดยวนเวียนอยู่หลายรอบ เห็นชัดว่า พื้นที่ทำท่าเรือลำเลียงถ่านหินอยู่ในอ่าวใกล้ท่าเรือขนน้ำมันอยู่แล้ว ตรงนั้น เป็นป่าโกงกาง ไม่มีหาดทราย ไม่มีรีสอร์ท และไม่น่าจะทำรีสอร์ทได้ มองจากทะเลจะไม่เห็น
ส่วนเส้นทางขนย้ายถ่านหิน (ระบบปิด) รมว.พลังงาน กล่าวว่า ก็แทบจะไม่มีชุมชนให้เห็น และพื้นที่สร้างโรงงาน ก็เป็นพื้นที่โรงไฟฟ้าถ่านหินเดิม เพียงแต่ของใหม่จะใหญ่กว่าเดิม คือ กำลังไฟฟ้าเท่ากับ 800MW เทียบกับเดิมประมาณ 340 MW
“ได้พบกับผู้นำชุมชนจำนวนมาก ทุกคนต้องการให้พื้นที่ของตนดีและเจริญ จะมีโรงไฟฟ้าก็ต้องช่วยสร้างความเจริญ ทุกคนเข้าใจว่า ภาคใต้มีปัญหาไฟฟ้า มีกำลังไม่มากพอ ต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม คือ ตอนนี้ภาคใต้ต้องมีกำลังไฟฟ้าประมาณ 3,500MW ทำเองประมาณ 2,900MW ที่ขาดต้องส่งจากภาคกลางประมาณ 600MW ซึ่งส่งทางไกล มีสูญเสียระหว่างทาง แล้วเวลาฉุกเฉิน ก็ซื้อจากมาเลเซีย หน่วยละ 12 บาท เทียบกับไทยประมาณ 3.80 บาท ประชาชนสรุปเอาเองก็คงได้ คนใต้เสี่ยงกับไฟดับ ไฟตกมากแค่ไหน”
รมว.พลังงาน กล่าวถึงความจำเป็นสร้างโรงไฟฟ้าที่กระบี่ ว่า เมื่อทำที่กระบี่ 800MW ช่วยโรงเก่า 340MW ก็จะไปพัฒนาต่อที่เทพาอีก 1,100MW คือ ภาคใต้ที่ใช้ไฟมากที่สุดก็คือ สงขลา 520MW สุราษฎร์ธานี 400MW และภูเก็ต360MW ทางสุราษฎร์ฯ มีโรงไฟฟ้าที่ขนอม กระบี่จะได้ช่วยโซน อันดามัน และเทพาจะมาช่วยภาคใต้ตอนล่าง
“ เห็นชัดว่า โครงการพวกนี้จำเป็นทั้งนั้น ที่จะใช้ถ่านหินก็เพราะเป็นทางเลือก เพราะตอนนี้เราใช้ก๊าซธรรมชาติมากไป ผมอยากให้ประชาชนเข้าใจว่า โครงการเหล่านี้จำเป็นมาก และการดำเนินการของกฟผ. ก็พัฒนามาไกลมากแล้ว แต่ถ้าจะเสริมอะไร ก็เสนอได้ ผู้นำที่กระบี่เสนอมาหลายข้อ เมื่อมีโรงไฟฟ้าก็จะทำได้ เพราะที่จริงชุมชนเขาจะมีเงินกองทุนใช้ปีละ 120 ล้านบาท สามารถเอามาใช้ทำสิ่งที่เขาอยากทำได้ทั้งนั้น”
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เช้าช่วงเวลาเดียวกัน กรีนพีซจัดกิจกรรมปกป้องกระบี่ โอบกอดพื้นที่ชุ่มน้ำ จากอ้อมกอดของชาวประมง โดยชาวประมงกว่า 100 คน เรือประมงพื้นบ้าน และเรือหัวโทงกว่า 70 ลำ มารวมตัวกันที่แนวผืนป่าชายเลนบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ เพื่อทำกิจกรรมโอบกอดพื้นที่ชุ่มน้ำอันอุดมสมบูรณ์ เรียกร้องขยายพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่แทนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จากนั้นปล่อยพันธุ์ปูปลา 20,000 ตัว ลงสู่ท้องทะเล และติดป้ายข้อความรณรงค์ปกป้องป่าชายเลนตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ตามจุดต่างๆ สามจุด