รัฐบาลรับลูก มท. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ถอดถอนนักการเมืองท้องถิ่นแก้ไขใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีการบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารงานท้องถิ่น และนักการเมืองท้องถิ่นปรับเปลี่ยนไปจากเดิม ทำให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้พยายามปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องดังกล่าว ล่าสุดกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (ฉบับที่ พ.ศ. ...ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อแก้ไขกฎหมายเรื่องเดียวกันซึ่งประกาศใช้เมื่อปี 2542 ที่มีผลบังคับใช้อยู่ และครม.ได้มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 11 พฤศิกายน ที่ผ่านมา โดยสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ. ดังกล่าวประกอบไปด้วย
การกำหนดบทนิยามศัพท์ผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการเลือกตั้ง อาทิคำว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิเข้าชื่อ ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียง ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฯ และมีความครอบคลุมชัดเจนยิ่งขึ้น
ปรับลดสัดส่วนผู้เข้าชื่อร้องขอเพื่อให้มีการลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น โดยให้ถือเกณฑ์จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งตามที่กำหนด และเมื่อมีการยื่นคำร้องแล้ว ผู้มีสิทธิเข้าชื่อไม่สามารถถอนชื่อของตนออกจากบัญชีผู้เข้าชื่อได้
ในส่วนของหลักเกณฑ์การแจ้งข้อกล่าวหา กำหนดให้การแจ้งข้อกล่าวหาและการทำคำชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อแก้ข้อกล่าวหายื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแจ้งผู้มีชื่อในบัญชีผู้เข้าชื่อแต่ละคนทราบ โดยได้ดำเนินการยื่นคัดค้านภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ แต่หากในกรณีจำเป็นอาจขยายเวลาได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 15 วัน และให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดวินิจฉัยคำร้องและคำคัดค้านด้วย
เรื่องค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการยื่นถอดถอน กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอน และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเข้าชื่อ กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
นอกจากนี้ยังมีการกำหนดให้แก้ไขข้อความในบัตรลงคะแนนเสียงให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และปรับลดสัดส่วนจำนวนผู้ลงคะแนนเสียงที่มีผลต่อการถอดถอนบุคคลให้พ้นจากตำแหน่งลงจากเดิม ตลอดจนห้ามมิให้มีการขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยวไม่ให้ความสะดวกในการใช้สิทธิเข้าชื่อหรือลงคะแนนเสียง
ทั้งนี้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวอยู่ในระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อนำเสนอในที่ประชุมต่อไป