รพ.จุฬาฯ เล็งส่งทีมแพทย์ลงพื้นที่ระบาดของเชื้อ “อีโบล่า”
ถอดบทเรียนจากแอฟริกาสู่ไทย “หมอผู้มีประสบการณ์ตรง” แนะหากเกิดในไทยต้องตรวจโรคในประเทศก่อน ชี้ผู้ป่วยหลังหายจากอาการ อย่าเพิ่งมีเพศสัมพันธ์ เหตุยังมีเชื้ออีโบล่า
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการเรื่อง “ดูแลผู้ป่วยอีโบล่าอย่างไรให้ปลอดภัย?!? : ประสบการณ์ตรงจากแอฟริกา” ณ ห้องกิตเวชศักดิ์ (312/3) ชั้น 3 ตึก อปร. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรุงเทพ
นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลายังคงน่าเป็นห่วง โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานข้อมูลถึงวันที่ 2 พ.ย. พบมีผู้ป่วยอีโบลาจาก 6 ประเทศแอฟริกาตะวันตก ได้แก่ เซียร์ราลีโอน กินี ไลบีเรีย ไนจีเรีย คองโก และ มาลี รวมถึงสเปน และสหรัฐอเมริกา รวม 13,042 ราย เสียชีวิต 4,818 ราย อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยจะมีความเสี่ยงต่ำในการระบาด แต่ สธ. ยังคงใช้มาตรการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ทั้งระบบคัดกรองที่ด่านควบคุมโรคทั้งท่าอากาศยาน ด่านทางน้ำ ทางบก โรงพยาบาล และชุมชน โดยจะติดตามและสอบถามอาการจนครบระยะการฟักตัวของโรคคือ 21 วัน ซึ่งขณะนี้มีผู้ที่เดินทางมาจากประเทศระบาดตั้งแต่วันที่ 8 มิ.ย. - 5 พ.ย.2557 รวม 2,773 ราย พบผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค 3 ราย แต่ทั้งหมดไม่มีการติดเชื้อไวรัสอีโบลา นอกจากนี้ ยังเตรียมระบบรักษาดูแลผู้ป่วยป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล และจัดทำแนวทางปฏิบัติสำหรับบุคาลากรทางการแพทย์เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
ศาสตราจารย์นายแพทย์ ไมเคิล คาลาแฮน (Prof. Michael V Callahan M.D.) อาจารย์แพทย์จาก Harvard Medical School แพทย์ผู้ทำงานและมีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับโรคติดเชื้อร้ายแรงทั่วโลก รวมทั้งยังเป็นหนึ่งในทีมอีโบลาในแอฟริกา ซึ่งเพิ่งเดินทางกลับมาเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา กล่าวถึงสถานการณ์ของเชื้อไวรัสอีโบล่าในปัจจุบันว่า ในปีนี้ อีโบล่าทำลายสถิติที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีการระบาดเมื่อปี 1976 และทวีความรุนแรงขึ้นซึ่งมีผู้เสียชีวิตมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยเกือบทั้งหมดในแอฟริกา พบว่า ติดเชื้อจากการเฝ้าดูแลคนป่วยในครอบครัว โดยไม่มีชุดป้องกันตัวอย่าง ถุงมือ กาวน์กันน้ำ ซึ่งอาการเริ่มต้นคล้ายคลึงกันหมดทุกราย คือไข้สูง อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตัว ปวดหัวรุนแรง และคลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ทั้งนี้ยังพบว่าอาการเจ็บคอเป็นอาการเริ่มแรกและเมื่อโรคเริ่มลุกลามผู้ป่วยจะเกิดอาการท้องเสียขั้นรุนแรง จนเกิดสภาวะขาดน้ำ เกลือแร่ โดยเฉพาะร่างกายขาดเกลือแร่โปแตสเซียม ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เสียชีวิต
“ผมและทีมเชื่อว่า อุจจาระจากการที่มีท้องเสียเป็นการแพร่กระจายโรคที่สำคัญที่สุดทางหนึ่ง ส่วนอาการที่ตกเลือดทั้งตัวนั้น พบไม่มากนัก ”ศ.นพ.ไมเคิลกล่าว และว่า หัวใจสำคัญที่ช่วยชีวิตผู้ป่วย คือ การรักษาแบบประคับประคองชีพ ที่ช่วยลดการเสียชีวิตลงไปได้ถึง 24% โดยทำคล้ายคลึงกับกรณีของการรักษาผู้ป่วยท้องร่วงอย่างรุนแรงในไทย เช่น อหิวาตกโรค ด้วยการให้น้ำเกลือแร่ทางปาก ทางเส้นเลือด ทดแทนเกลือแร่ โปแตสเซียม แมกนีเซียม และเกลือคาร์บอเนต และจะต้องรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนที่ถูก ในแอฟริกาถูกเหมารวมว่าเป็นอีโบล่าไปด้วย ได้แก่ โรคมาลาเรีย ไทฟอยด์ เป็นต้น
ศ.นพ.ไมเคิล ยังกล่าวย้ำอีกว่า หากเกิดมีอีโบล่าในไทย ต้องตระหนักว่าควรตรวจหาโรคที่เกิดในประเทศไทยอยู่แล้วด้วย หรือแม้กระทั่งไข้หวัดใหญ่ก็ตาม อีกทั้งอุปกรณ์ในการวินิจฉัยควรเปลี่ยนมาใช้เป็นเครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากหากใช้อุปกรณ์กระดาษหรือสมุดจด เชื้ออาจะติดอยู่และเมื่อถอดอุปกรณ์ป้องกันอาจทำให้ติดเชื้อได้ ซึ่งประเทศไทยควรมีการจัดอบรมกับทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องด้านนี้อย่างละเอียดรอบคอบ และระมัดระวัง
“ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อจากอีโบล่า ยังคงต้องระมัดระวังอย่าเพิ่งมีเพศสัมพันธ์ เหตุเพราะ น้ำอสุจิในตัวผู้ป่วยหลังหายจากอาการยังพบว่ามีเชื้อเชื้ออีโบล่าอยู่ และสามารถแพร่กระจายได้ ทางที่ดีควรป้องกันอย่าเพิ่งมีเพศสัมพันธ์” ศ.นพ.กล่าว และว่า เชื้อดังกล่าวอาจอยู่นานมากกว่า 2 เดือน
ขณะที่ศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง และหัวหน้าศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโรค ด้านค้นคว้าและอบรมโรคติดเชื้อไวรัสสัตว์สู่คน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันสร้างเครือข่าย ซึ่งตอนนี้ได้เริ่มทำแล้ว ทั้งทางด้านห้องปฏิบัติการ การเตรียมความพร้อม ซึ่งจะจัดให้มีการอบรมให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่และสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งประเทศไทยต้องปรับตัวให้มากขึ้น ต้องเตรียมพร้อมในการให้ความรู้กับประชาชน ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจและการปฏิบัติเพื่อรองรับในเบื้องต้น
“ที่น่ายินดีที่คุณหมอไมเคิลได้มาให้ความรู้และแนะนำในเรื่องการรับมือ การเตรียมความพร้อมต่างๆ ทั้งในเรื่องของการแนะนำการตรวจโรคแทรกซ้อน อาการของผู้ป่วยเบื้องต้น หรือเรื่องใหม่ๆ อย่างการนำเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์อย่างโทรศัพท์มือถือมาใช้ในการบันทึกและวินิจฉัยโรคและส่งเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ต่อไป โดยไม่สัมผัสตัวคนไข้ เพื่อป้องกันซึ่งเดิมจะใช้สมุดหรือกระดาษในการจดบันทึก”ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวและว่า ในอนาคตคาดว่าไทยอาจส่งเจ้าหน้าที่หรือทีมแพทย์ไปในพื้นที่ที่มีการระบาดอีโบล่าเพื่อช่วยเหลือและศึกษา และนำวิธีรักษามาปรับใช้ในการรักษาในประเทศต่อไป
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า หลังงานเสวนามีการแถลงโครงการ “รวมพลังปันน้ำใจ ต้านภัยอีโบล่า” ซึ่งเป็นการเปิดบัญชีรับบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการควบคุมโรคอีโบล่าในแอฟริกาตะวันตกอย่างเร่งด่วน โดยสภากาชาดไทย ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีนายสวนิต คงศิริ ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ ,นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ฝ่ายสนับสนุนบริการ ร่วมเปิดโครงการ
สามารถบริจาค ได้ที่ ชื่อบัญชี "พลังน้ำใจ หยุดยั้งอีโบล่า"
1.ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ๊์ บัญชีกระแสรายวัน เลขที่ 468-0-41667-5
2.ธนาคารกสิกรไทย สาขาดรงพยาบาลจุฬาลงกรณ๊์ บัญชีกระแสรายวัน เลขที่ 623-1-00234-9
3.ธนาคารกรุงเทพ สาขาโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ บัญชีกระแสรายวัน เลขที่ 913-3-50021-6
ได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557