กรมทรัพย์สินทางปัญญา เร่งทำฐานข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่น
ก.พาณิชย์เร่งรวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยจัดทำเป็นฐานข้อมูลให้ชัดเจน หวั่นต่างชาติฉกไปใช้ทำไทยเสียประโยชน์
นางปัจฉิมา ธนสันติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวบรวมรายชื่อภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย และจัดทำเป็นฐานข้อมูลให้ชัดเจน เพื่อเป็นการปกป้องคุ้มครอง เพราะจะทำให้ทราบได้ว่าภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยมีอะไรบ้าง หากมีผู้ใดนำไปใช้จะได้รับทราบได้ทันที และสามารถเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ได้ เพราะปัจจุบันฐานข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยกระจัดกระจายอยู่ที่หน่วยงาน ต่างๆ มีทั้งเป็นเอกสาร และเป็นคำบอกเล่าที่ไม่มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ขณะเดียวกันผู้ที่จะนำไปใช้ประโยชน์จำเป็นต้องมาขออนุญาต และแบ่งปันผลประโยชน์ให้ประเทศที่เป็นเจ้าของด้วย
ปัญหาของไทยขณะนี้ คือแม้มีหลายหน่วยงานดูแลภูมิปัญญาท้องถิ่น แต่ก็ยังไม่มีการรวบรวมรายชื่อไว้อย่างชัดเจน เช่น พันธุ์สมุนไพรไทย ศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ทำให้ผู้ที่นำไปใช้ อ้างได้ว่าไม่ได้นำมาจากไทย แต่นำมาจากประเทศเพื่อนบ้านของไทย ซึ่งต้องพิสูจน์ว่าใช่หรือไม่ใช่ แต่หากไทยเก็บรวบรวมทำเป็นฐานข้อมูลเผยแพร่อย่างชัดเจน เวลามีผู้นำไปใช้ จะทำให้ตรวจสอบได้รวดเร็ว และเจรจาให้ผู้นำไปใช้แบ่งปันผลประโยชน์ให้กับไทยไทย
นอกจากนี้ ช่วงที่ผ่านมากรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ผลักดันการเจรจาจัดทำมาตรฐานระหว่างประเทศด้านการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น ในเวทีต่าง ๆ เช่น องค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (ไวโป) เป็นต้น ซึ่งประมาณ 4 ปีที่ผ่านมา ไวโป มีการดำเนินการดังกล่าวแล้ว แต่ต้องหยุดชะงักลง เพราะประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ รวมถึงประเทศที่ไม่มีภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเองไม่สนับสนุน โดยประเทศเหล่านี้มักนำภูมิปัญญาท้องถิ่นของประเทศอื่นไปใช้ประโยชน์
พร้อมกันนั้น จะต้องมีการยกร่างกฎหมายภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย เพื่อให้ความคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยบางอย่างที่ไม่มีกฎหมายคุ้มครอง และต้องมีหน่วยงานกลางที่ดูแลเป็นการเฉพาะด้วย เพื่อให้การปกป้องคุ้มครองมีประสิทธิภาพมากที่สุด
ปัจจุบัน ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยแบ่งเป็น 3 หมวด ได้แก่ องค์ความรู้ของชุมชนท้องถิ่น, การแสดงออกซึ่งศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน และทรัพยากรพันธุกรรม ซึ่งมีกฎหมายเฉพาะภายใต้การกำกับดูแลของหลายหน่วยงาน เช่น กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชพ.ศ.2542 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กฎหมายคุ้มครองพันธุ์สัตว์ ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พ.ศ.2542 ของกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงงานศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน กระทรวงวัฒนธรรมดูแล และกฎหมายสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น .