เส้นทางปฏิรูปสื่อฉบับสภาผู้แทนฯ-ป้องเกลียดชังปิดกั้น “Hate Speech”
“…การนำเสนอหรือเผยแพร่ข้อมูลที่ก่อให้เกิดปัญหา และสร้างความเกลียดชังทางการเมืองในสื่อสารมวลชน เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เกิดความถดถอยทางการเมืองจนนำไปสู่วิกฤติทางการเมือง เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างประชาชนหรือกลุ่มทางการเมืองในระดับต่าง ๆ…”
หมายเหตุ www.isranews.org : บทสรุปและข้อเสนอของสาระสังเขป ประเด็นการปฏิรูปประเทศไทยด้านสื่อสารมวลชน จัดทำโดยสำนักวิชาการ สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2557 เพื่อประโยชน์ต่อการดำเนินงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ
----
ข้อสรุปและข้อเสนอแนะการปฏิรูปสื่อสารมวลชน
สื่อมวลชนถือเป็นผู้ที่มีบทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบที่สำคัญ โดยเฉพาะสังคมประชาธิปไตยมีหน้าที่นำเสนอหรือเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารประเภทต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชน กลุ่มทางสังคม และองค์กรได้ทราบข่าวคราว ปรากฏการณ์ หรือสถานการณ์ต่าง ๆ ในสังคม อันอยู่บนพื้นฐานของเสรีภาพในการแสดงออก หรือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อสารโดยวิธีอื่น ๆ มีบทบาทที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเมือง และภาคส่วนอื่นในสังคมไทยอย่างกว้างขวาง เป็นการเสนอข้อมูลข่าวสารให้สาธารณะชนได้รับทราบถึงเรื่องราว ปัญหา และบริบทเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา รวมถึงการเป็นสื่อกลางที่อธิบายถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น อันมีส่วนสำคัญที่ทำให้ประชาชนเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น
ในทางการเมืองการปกครองของไทยในปัจจุบัน สื่อมวลชนนับว่ามีบทบาทสำคัญ โดยอาจอาศัยบทบาทและหน้าที่ของตนที่มีอยู่มาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารข้อมูลข่าวสารทางการเมือง อันทำให้ประชาชนรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับบริบท สถานการณ์ ความสัมพันธ์ ตลอดจนถึงปัญหาทางการเมืองระหว่างองค์กรทางการเมืองและสถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย
ทั้งนี้ การนำเสนอหรือเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชน ย่อมส่งผลต่อทัศนคติและพฤติกรรมทางการเมืองของประชาชนหรือกลุ่มทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเมื่อประชาชนหรือกลุ่มบุคคลได้รับรู้หรือรับทราบข้อมูลข่าวสารทางการเมืองจากสื่อมวลชนแล้ว ประชาชนหรือกลุ่มทางการเมืองก็อาจนำข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ มาประกอบการตัดสินใจทางการเมือง จนอาจนำไปสู่พัฒนาการทางการเมืองที่ดีขึ้น หรืออาจนำไปสู่ความถดถอยทางการเมืองที่เลวร้ายลงไปก็เป็นได้
ข้อเสนอแนะสู่การปฏิรูปสื่อสารมวลชน
1.สื่อสารมวลชนต้องเสนอข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา
การนำเสนอหรือเผยแพร่ข้อมูลที่ก่อให้เกิดปัญหา และสร้างความเกลียดชังทางการเมืองในสื่อสารมวลชน (hate speech in the mass media) เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เกิดความถดถอยทางการเมืองจนนำไปสู่วิกฤติทางการเมือง เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างประชาชนหรือกลุ่มทางการเมืองในระดับต่าง ๆ และเกิดการแตกความสามัคคีระหว่างประชาชนด้วยกัน ที่อาจพัฒนาไปสู่การใช้ความรุนแรงระหว่างประชาชนด้วยกันเอง หรือการใช้ความรุนแรงระหว่างหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองกับประชาชน
ด้วยเหตุนี้ รัฐจึงต้องกำหนดกลไกเข้ามาควบคุม จำกัด และปิดกั้นการนำเสนอหรือเผยแพร่ข้อมูลที่อาจสร้างความเกลียดชังทางการเมือง โดยกลไกของรัฐจะต้องไม่ขัดต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายภายในประเทศในการจำกัดเสรีภาพในการพูดหรือเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อมวลชน
2.การกำกับโดยรัฐ และองค์กรวิชาชีพต้องมีความชัดเจน เป็นธรรม
การที่รัฐเข้ามามีบทบาทในการกำหนดกลไกควบคุมการนำเสนอหรือเผยแพร่ข้อมูลที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองของสื่อมวลชนแล้ว สื่อมวลชน องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน องค์กรกำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม อาจร่วมกันกำหนดมาตรการในการควบคุมการนำเสนอหรือเผยแพร่ข้อมูลที่อาจสร้างความเกลียดชังทางการเมือง ด้วยการกำกับควบคุมตนเอง (self-censorship)
กล่าวคือ สื่อมวลชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทีเกี่ยวข้องอาจแสวงหาแนวทางและกระบวนการในการควบคุมการนำเสนอหรือเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านการเมือง ไม่ให้มีเนื้อหาที่สร้างความเกลียดชังในทางการเมือง โดยอาศัยเพียงเหตุแห่งความแตกต่างกันทางด้านเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ชาติกำเนิด ความเชื่อทางศาสนา เพศ การแสดงออกทางเพศ ความพิการทางกาย และปัญหาด้านสุขภาพ มาสร้างวาจาดูหมิ่น ดูแคลน เย้ยหยัน หรือก่อให้เกิดความเกลียดชังกันในทางการเมือง แม้ว่าการกำกับควบคุมตนเองของสื่อมวลชนอาจส่งผลดีต่อการนำเสนอข้อมูลข่าวสารทางการเมืองของตนให้สอดคล้องกับหลักจริยธรรมสื่อมวลชนมาตรการทางกฎหมายแล้ว ยังอาจส่งผลกระทบต่อความจริงหรือข้อเท็จจริงในเนื้อหาจากคำพูดหรือข้อมูลข่าวสารของแหล่งข่าวก็เป็นไป
หลักการที่สำคัญประการหนึ่งที่สื่อมวลชน องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน องค์กรกำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) นำเอามาใช้ในการกำกับดูแลการนำเสนอหรือเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารก็คือ การควบคุมและกำกับตนเอง (self-censorship) ซึ่งสื่อมวลชนในระดับต่าง ๆ อาจได้รับสิทธิจากแนวทางปฏิบัติ ระเบียบ หรือกฎหมายที่ให้อำนาจในการควบคุมและกำกับตนเองของสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ หรืออาจถูกภาครัฐที่มีอำนาจกำกับดูแลสื่อมวลชนโดยตรง ใช้อำนาจเข้าแทรกแซงเพื่อเซ็นเซอร์เนื้อหาหรือคำพูดที่ประกอบด้วยวาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมือง
ตัวอย่างเช่น การกำหนดระบบ การจัดลำดับความเหมาะสมของเนื้อหารายการโทรทัศน์ (self-rating) เพื่อเตือนให้สาธารณะชนที่รับชมรายการได้ทราบว่า เนื้อหาที่นำเสนอได้สร้างความเกลียดชังแฝงอยู่ รวมไปถึงเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้สอนเด็ก หรือแนะนำเยาวชนว่าควรใช้วิจารณญาณในการชมหรือไม่ควรให้เด็กและเยาวชนชมเนื่องจากจะมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม เพราะเป็นการเหยียดสีผิว ชาติพันธุ์กำเนิด ความคิดเห็นในทางการเมือง และสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้อื่น ฯลฯ เป็นต้น
3.กฎหมายต้องมีความชัดเจน
ปัจจุบันหลายประเทศได้พยายามกำหนดมาตรการในรูปแบบของกฎหมายสารบัญญัติหรือกฎเกณฑ์แห่งวิชาชีพสื่อมวลชนเพื่อป้องกันการนำเสนอหรือเผยแพร่ข่าวสารที่สร้างความเกลียดชังโดยอาศัยสื่อมวลชนเป็นเครื่องมือ ซึ่งอาจเป็นการจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชน แม้ว่าสื่อมวลชนในสังคมประชาธิปไตยจะมีสิทธิเสรีภาพที่จะเป็นสื่อกลางในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร แสดงความเห็น แสดงทัศนคติ และสารอื่น ๆ ต่อสาธารณะชนในวงกว้าง หรือกระจายข้อมูลข่าวสารที่อาจมีอิทธิพลต่อความคิดของผู้คน หรือส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลข่าวสารที่สื่อมวลชนได้นำเสนอไปนั้น อาจประกอบด้วยวาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมือง ที่อาจกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนหรือผู้มีส่วนได้เสียทางการเมือง รวมไปถึงความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีกับความมั่นคงของชาติ สื่อมวลชนจึงจำต้องมีความรับผิดชอบบางประการหากการใช้สิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนมากเกินขอบเขต
ด้วยเหตุนี้เอง สื่อมวลชน องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน และ กสทช. อาจร่วมกันสร้างความสมดุลการควบคุมการนำเสนอหรือเผยแพร่ข่าวสารที่อาจสร้างความเกลียดชัง อันก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ บูรณาภาพแห่งดินแดนหรือความปลอดภัยสาธารณะ ความระส่ำระสาย หรืออาชญากรรมในบ้านเมือง สุขภาพของผู้อื่นหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สิทธิและชื่อเสียงของบุคคลอื่น ๆ ในสังคม
สำหรับประเทศไทย สื่อมวลชนย่อมได้รับความคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก หรือเสรีภาพในการแสดงความเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์และการโฆษณา และการสื่อสารโดยวิธีอื่น ๆ เป็นหลักการสำคัญของรัฐประชาธิปไตยไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้รัฐใช้อำนาจลิดรอน หรือจำกัดเสรีภาพ เว้นแต่การที่รัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐมีความจำเป็นต้องก้าวล่วงเข้าไปในสิทธิและเสรีภาพในการสื่อสาร และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนได้เฉพาะเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น
ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่ปรากฏขึ้นจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง จากการเคลื่อนไหวของกลุ่มอิทธิพลทางการเมือง การณรงค์ของกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง และสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองอื่น ๆ
สื่อมวลชนถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชนได้ทราบถึงสถานการณ์ทางการเมือง ในบางครั้งการนำเสนอเนื้อหา สาระ มุมมอง แง่คิด และทัศนคติทางการเมือง อาจแฝงไว้ด้วยเนื้อหาอันอาจที่สร้างความเกลียดชังทางการเมือง ทั้งจากการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในสื่อกระแสหลัก ได้แก่ หนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ และสื่อทางเลือกใหม่ เช่น โทรทัศน์ดาวเทียม เคเบิลทีวี วิทยุชุมชน และวิทยุธุรกิจท้องถิ่น
ประเด็นที่น่าสนใจว่า เพราะเหตุใดสื่อมวลชนจึงได้มีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารอันมีเนื้อหาที่สร้างความเกลียดชังในลักษณะดังกล่าว ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะสื่อมวลชนมีความเชื่อว่าตนเองมีเสรีภาพในการแสดงออกตามที่รับรองและคุ้มครองตามกฎหมาย รวมไปถึงผลประโยชน์จากการสื่อสารทางการเมืองร่วมกันระหว่างกลุ่มอิทธิพลหรือกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองกับสื่อมวลชนบางกลุ่ม และการแข่งขันด้านธุรกิจสื่อสารมวลชนที่มุ่งผลประกอบการจากการดำเนินกิจการของตน
และเมื่อพิจารณาถึงแนวทางหรือข้อจำกัดของสื่อมวลชนเกี่ยวกับการนำเสนอหรือเผยแพร่ พบว่า มาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจ หรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง”
แต่เป็นที่น่าสังเกตได้ว่า ข้อมูลข่าวสารที่ประกอบด้วยวาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมือง ถือเป็นข้อมูลข่าวสารที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนภายใต้กฎหมายฉบับนี้หรือไม่ แม้ว่าในหลายประเทศถือว่าข้อมูลข่าวสารที่ประกอบด้วยวาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมือง เป็นข้อมูลข่าวสารที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ แต่กฎหมายไทยฉบับนี้ไม่ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า ข้อมูลข่าวสารที่ประกอบด้วยวาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือไม่
แม้ว่าการกล่าววาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองต่อผู้อื่นหรือบุคคลที่สามในบางกรณีอาจเข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ในความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า หรือหมิ่นประมาทในกรณีต่าง ๆ แต่หากการกล่าววาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองต่อผู้อื่นหรือบุคคลที่สาม ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาทั้งองค์ประกอบภายนอกและองค์ประกอบภายใน กระบวนการยุติธรรมก็ไม่อาจดำเนินคดีต่อผู้ที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองในเชิงดูหมิ่นซึ่งหน้า หรือหมิ่นประมาทต่อผู้อื่นหรือบุคคลที่สามได้
ในอดีตที่ผ่านมา ผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์เป็นองค์กรในรูปแบบต่าง ๆ ได้รวมกลุ่มกันขึ้น เพื่อจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของการประกอบอาชีพ หรือวิชาชีพ และควบคุมการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพกันเองภายใต้มาตรฐานทางจริยธรรม เช่น มาตรฐานทางจริยธรรมของวิทยุชุมชน ข้อบังคับสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ พ.ศ.2553 และจรรยาบรรณนักหนังสือพิมพ์
แต่ทว่าทำไมปัจจุบันยังไม่มีการจัดทำเอกสารกำหนดแนวทางในการกำกับควบคุมการนำเสนอหรือเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอันมีเนื้อหาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองเป็นการเฉพาะแต่อย่างใด
คงมีเพียงงานวิจัยทางวิชาการจากสถาบันการศึกษาที่อยู่บนชั้นหนังสือรอการนำไปประยุกต์เพื่อปฏิบัติให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
อ่านประกอบ : "กลาโหม"ชงปฏิรูป"สื่อ"ทำงานใต้อำนาจทุน ผู้ประกาศเป็นดาราหรู-นักข่าวไส้แห้ง
หมายเหตุ : ภาพประกอบหนังสือพิมพ์จาก bangkokvoice