5 เครือข่ายผนึกกำลัง ดันโครงการ "พลังปัญญา" สร้างเกษตรกรสู่สังคมที่พึงพาตนเองอย่างยั่งยืน
5 เครือข่ายผสานกำลัง จับมือทำโครงการ "พลังปัญญา" ผลักดันเกษตรกรไทย เปลี่ยนวิธีคิด พลิกชีวิตด้วยปัญญา หวังสร้างการพึ่งพาตนเอง สังคมสุขยั่งยื่น
วันที่ 5 พฤศจิกายน 2557 มูลนิธิมั่นพัฒนา ร่วมกับ กองทัพบก บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และหอการค้าไทย จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ "พลังปัญญา" ส่งเสริมเกษตรกรไทย ณ Hall 4 อาคารอเนกประสงค์ เอสซีจี กรุงเทพฯ
ดร.เสนาะ อูนากูล ประธานคณะกรรมการกิจการสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี กล่าวถึงการดำเนินโครงการพลังปัญญาว่า ได้ดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ดินเค็มทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือผ่านโครงการ "นวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อการฟื้นฟูพื้นที่ดินเค็ม" ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา การฟื้นฟูพื้นที่ดินเค็มประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ที่สำคัญ เกษตรกรเปลี่ยนวิธีคิด ดำเนินชีวิตด้วยหลักและเหตุผล อีกทั้งมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
“จากความสำเร็จดังกล่าวทำให้ชุมชนต่างๆสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง โดยมีภาคีเครือข่ายร่วมมือ ร่วมขยายแนวคิดนี้ออกไปในวงกว้าง เพื่อให้ชุมชนพัฒนา สร้างกระบวนการนำไปสู่การพึ่งพาตนเอง และสร้างสังคมที่มีความสุขอย่างยั่งยืนต่อไป” ดร.เสนาะ อูนากูลกล่าว
ด้านดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองประธานมูลนิธิมั่นพัฒนา กล่าวว่า การพัฒนาศักยภาพของคนให้เกิดความพร้อมที่จะยอมรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นด้วยการเปลี่ยนความคิดให้ทันสมัย คิดนอกกรอบ สอดคล้องหลักเหตุผล หลักการทางวิทยาศาสตร์และภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำให้สามารถนำความรู้ที่ได้ไปแก้ไขปัญหาของตนเองได้ตรงกับปัญาที่แท้จริง เพื่อให้เกิดความสุขที่แท้จริง ตามแนวคิดการพัฒนาอย่างยืนในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เน้นความสมดุล ครอบคลุมในทุกมิติ ตามหลักการเศรษฐกิจพอเพียง
ขณะที่ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก กล่าวว่า ในส่วนของกองทัพได้เข้ามาช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็ง ด้วยการบริการจัดการทางปัญญา นำวิธีคิดที่เป็นเหตุเป็นผลมาร่วมช่วยแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสม เป็นระบบ ช่วยลดช่องว่างเรื่องรายได้ของคนในชุมชน สร้างค่านิยมเรื่องการพึ่งพาตนเอง มีวินัย โดยไม่หวังพึ่งแต่รัฐเพียงอย่างเดียวและเมื่อชุมชนมีความสุข มีความสมดุลในชีวิต จะลดความขัดแย้งทางความคิดที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ อีกทั้งยังสามารถช่วยปกป้องคุ้มครองรักษาผลของชาติ ให้พ้นจากภัยคุกคามทั้งภายในและนอกประเทศ
ด้านนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานหอการค้าไทย กล่าวว่า โครงการนี้จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยต่อยอดให้กับโครงการลดความเหลื่อมล้ำที่หอการค้าไทยกำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งมุ่งเน้นให้เกษตรกรและชุมชนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาและปฏิรูปอาชีพเกษตรกรรมช่วยยกระดับการทำการเกษตรสร้างรายได้ให้กับชุมชน
ขณะเดียวกัน ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)กล่าวถึงโครงการสร้างสังคมแห่งปัญญาด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่า การนำหลักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาถ่ายทอดวิธีการคิดอย่างมีเหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ มีแนวคิดการบริหารจัดการและพึ่งพาตนเองจากทรัพยากรชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การคิดนวัตกรรม เพื่อสร้างช่องทางในการพัฒนาเกษตร การแปรรูป และการตลาดที่มีมูลค่าสูง รวมไปถึงการขยายช่องทางการจัดจำหน่าย การทำการตลาด โดยมีระบบจัดการที่ดีซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้กับประชาชนและชุมชน
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการพลังปัญญา จัดขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรและผู้นำชุมชน ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีคุณสมบัติที่ตรงตามแนวคิดของโครงการที่วางไว้ อาทิ ซื่อสัตย์สุจริต มีภาวะผู้นำ มีจิตอาสาพร้อมแบ่งปัน โดยจัดอบรมหลักสูตร “ผู้นำทางปัญญาเพื่อความสุขที่ยั่งยืน” เพื่อให้เกิดการสร้างปัญญาผ่านการปรับเปลี่ยนกระบวนการคิด คิดนอกกรอบ มีเหตุผลและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสามารถนำไปประกอบอาชีพให้ได้ผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งหวังที่จะเพิ่มรายได้ ลดหนี้สิ้นและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเองและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน