"อย่าทำร้ายพวกเราด้วยการเผาโรงเรียน" เสียงจากเด็กๆ ในวันเปิดเทอมชายแดนใต้
สถานการณ์ชายแดนใต้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก แต่ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทว่าเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการก่อเหตุรุนแรง
ตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้ว (สัปดาห์สุดท้ายของเดือน ต.ค.ต่อเนื่องต้นเดือน พ.ย.57) มีเหตุลอบวางระเบิดคาราโอเกะ 4 จุดในเขต อ.เมืองปัตตานี จากนั้นก็มีเหตุกราดยิงประชาชนผู้บริสุทธิ์ ทั้งที่ อ.เทพา จ.สงขลา อ.เมืองนราธิวาส ซึ่งมีเหยื่อเป็นนักศึกษาสาว และที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส มีผู้เสียชีวิตเป็นผู้หญิงเช่นกัน
เหตุรุนแรงรายวันช่วงนี้ ทำให้หลายคนลืมเหตุการณ์เผาโรงเรียน 6 แห่งพร้อมกันใน 2 อำเภอ คือ อ.มายอ กับ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นข่าวครึกโครมเมื่อวันที่ 12 ต.ค.ไปเสียสนิท
โรงเรียน 6 แห่งที่ถูกเผา ได้แก่ โรงเรียนบ้านกระเสาะ โรงเรียนบ้านน้ำดำ โรงเรียนบ้านปากู โรงเรียนบ้านมะนังยง โรงเรียนบ้านเขาดิน และโรงเรียนบ้านตือเบาะ โดยมีโรงเรียนบ้านกระเสาะเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่อยู่ในเขต อ.มายอ ส่วนที่เหลืออยู่ใน อ.ทุ่งยางแดง
และเมื่อวันจันทร์ที่ 3 พ.ย.เป็นวันเปิดเทอมวันแรกของโรงเรียนทั่วสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งโรงเรียนที่ถูกเผาด้วย ทั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ต้องการให้โรงเรียนที่แม้ถูกวางเพลิงเผา ต้องเปิดการเรียนการสอนตามปกติ
บรรยากาศที่ อ.ทุ่งยางแดง จึงมีพ่อแม่ผู้ปกครองพาเด็กไปส่งที่โรงเรียนตามปกติเหมือนพื้นที่อื่นๆ แต่แน่นอนว่าความรู้สึกในใจของพวกเขา โดยเฉพาะเด็กๆ และครูที่ต้องทนเห็นซากปรักหักพังของอาคารเรียนที่ถูกวางเพลิง คงไม่ปกติเหมือนโรงเรียนอื่นแน่
นายมะรอพี สาแม ครูสอนวิชาการงานและอาชีพ โรงเรียนบ้านน้ำดำ บอกว่า อย่าให้พูดถึงกรณีโรงเรียนถูกเผา ไม่อยากได้ยิน ไม่อยากรับรู้ อยากพูดแต่เรื่องข้างหน้า เพราะที่เจอมาถือว่าหนักที่สุดแล้ว ทุกอย่างหายไปหมดเลย เสียใจอย่างบอกไม่ถูก อยากร้องไห้
"ตอนนี้เราให้เด็กๆ ไปเรียนในห้องละหมาดบ้าง ห้องพักครูบ้าง ห้องสหกรณ์บ้าง หรือไม่ก็ในเต็นท์ หรือใต้ต้นไม้ ถามว่าเรียนได้ไหม มันก็เรียนได้นะ แต่ถามว่าการเรียนที่ไม่เหมือนเพื่อน มันรู้สึกแย่ในความรู้สึก"
"เราอยู่กันมานาน ไม่เคยมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นเลย พอเกิดครั้งหนึ่งก็ทำลายทุกอย่างที่เรามีไปหมด ทั้งหนังสือ ข้าวของทุกอย่าง ครูอย่างเราก็ไม่เป็นไร แต่เด็กๆ สิ พวกเขาจะรู้สึกแย่ยิ่งกว่าครู เพราะสิ่งที่เราทุกคนทำมาคืออนาคตของพวกเขา เมื่อมีคนมาทำลายอนาคตของเขา ถามว่าเขาจะรู้สึกแย่ขนาดไหน"
ครูมะรอพี บอกว่า ที่นี่เป็นโรงเรียนขยายโอกาส เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีเด็กนักเรียนประมาณ 250 คน เด็กเหล่านี้อยู่ในวัยของการเรียนรู้ ต้องการประสบการณ์ ต้องการสิ่งดีๆ ป้อนเข้าไป
"รู้สึกเสียใจนะ เสียใจอย่างบอกไม่ถูกที่นักเรียนไม่มีที่เรียน" ครูมะรอพี กล่าว
วันแรกของภาคการศึกษาใหม่ นักเรียนของโรงเรียนบ้านน้ำดำยังไม่ต้องเข้าไปเรียนในเต็นท์ที่ทางโรงเรียนเตรียมเอาไว้ให้ เพราะช่วงเปิดเทอมใหม่มีกิจกรรมที่เด็กๆ ต้องไปร่วมงานวิชาการพอดี และทางโรงเรียนส่งนักเรียนเข้าประกวดด้วย จึงมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ไปร่วมกิจกรรมดังกล่าว
"เด็กๆ ก็ยังมีกำลังใจดีอยู่นะ พยายามฝึกงานฝีมือ ฝึกวัฒนธรรม เพื่อไปประกวดให้ได้ที่ 1 กลับมา ที่ผ่านมาเราก็ได้นะ แต่ปีนี้ไม่แน่ใจ เพราะพวกเด็กๆ ต้องเจอกับเรื่องแย่ๆ ก่อนไปร่วมงาน" ครูมะรอพี ระบุ
ความรู้สึกของครูมะรอพี ไม่ต่างอะไรกับ ครูมารีนา สาแม ครูชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเดียวกัน ที่บอกว่า ตอนนี้ต้องให้เด็กเรียนในห้องพักครู
"ตั้งแต่เช้าก็ให้เด็กนักเรียนขนโต๊ะ เก้าอี้ และร่วมกันจัดอุปกรณ์การเรียน พอเคารพธงชาติเสร็จ เราก็เริ่มเรียนได้ 1 บท เรื่องเงาะป่า เราสอนด้วยปากเปล่า ไม่มีการเขียนอะไรเลย เพราะปากกา ดินสอ สมุด เด็กๆ ยังไม่มี เรียนได้ไม่เท่าไหร่ เด็กๆ ก็เริ่มไม่มีสมาธิ เพราะฝุ่นควันไฟยังมีอยู่ ยังไม่หมดไป เผอิญว่าห้องพักครูห้องนี้อยู่ใกล้กับอาคารที่ถูกเผา ก็เลยทำให้ระบบไฟทุกอย่างพังหมด ต้องซ่อมแซมใหม่"
ครูมารีนา เล่าต่อว่า พอเด็กๆ ไม่มีสมาธิ ครูสอนไปก็ไม่รู้เรื่อง จึงตัดสินใจพาพวกเขาออกไปนั่งเรียนกันใต้ต้นไม้ หาที่ร่มเรียนกัน
"พวกเขาก็ดีขึ้นนะ แต่สภาพแบบนี้เราไม่สามารถเรียนอะไรได้มากเลย ก็ให้เด็กทบทวนสูตรคูณ เรียนเท่าที่จะเรียนได้ไปก่อน วันไหนพร้อมจริงๆ ค่อยว่ากัน ไม่พร้อมก็เรียนเท่าที่ได้ เพราะเราหยุดสอนไม่ได้ เด็กก็หยุดเรียนไม่ได้เหมือนกัน ทุกอย่างต้องเดินไปข้างหน้า"
ครูมารีนา ยังมองในแง่ดีอย่างมีความหวังว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นแค่พายุที่พัดผ่านมา เดี๋ยวก็ผ่านไป และเชื่อว่าฟ้าหลังฝนจะดีกว่าและสดใสกว่าเสมอ ฉะนั้นสิ่งดีๆต้องเกิดขึ้นกับพวกเธอและเด็กๆ อย่างแน่นอน แม้จะต้องเจอปัญหาที่แย่ที่สุดก็ตาม
ด้านความรู้สึกของเด็กๆ อย่าง ด.ญ.ซูรีดา ลายะโย๊ะ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 บอกว่า รู้สึกเสียใจมากที่มาเผาห้องเรียนของหนู ตอนนี้หนูไม่มีที่เรียน ต้องมาเรียนใต้ต้นไม้ ครูบอกว่าหลังจากนี้ต้องเข้าไปเรียนในเต็นท์ ก็รู้สึกเครียดมากเลยที่ต้องไปเรียนในเต็นท์ ช่วงนี้ฝนตกด้วย ครูบอกว่าพอฝนตก พวกเราก็ต้องยกโต๊ะเก้าอี้ไปอาศัยอยู่กับห้องอื่นๆ
ส่วนอาคารเรียนชั่วคราวหลังใหม่ที่กำลังก่อสร้าง ตอนนี้เสายังไม่ขึ้นเลย ครูบอกว่าน่าจะต้องใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะสร้างเสร็จ
"พวกเราดีใจนะที่โรงเรียนเปิด แต่พอมาเห็นห้องเรียนแล้วก็เสียใจมาก ร้องไห้เลย ขออย่ามาทำลายโรงเรียนอีกเลย สงสารเด็กๆ อย่างพวกเราเถิดเพราะพวกเราเรียนหนังสือไม่ได้"
ขณะที่ ด.ญ.ฮาซานา มะมุด นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 บอกว่า "หนูร้องไห้เลยตอนที่โรงเรียนถูกเผา พอมาวันนี้ เปิดเรียนวันแรก ไม่มีห้องเรียน หนูยิ่งรู้สึกเสียใจมาก ไม่รู้จะทำอย่างไร เมื่อเช้าก็ได้ไปนั่งดูห้องเรียนที่ถูกเผา ขออย่าให้มีการเผาโรงเรียนอีกเลย อย่าทำร้ายพวกเราโดยการเผาโรงเรียน"
สำหรับบรรยากาศในภาพรวมของการเปิดเรียนวันแรก ปรากฏว่ามีการดูแลรักษาความปลอดภัยจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายกองกำลัง ทั้งทหาร ตำรวจ ปกครอง ตลอดจนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) อย่างเต็มที่ มีการส่งกำลังเข้าไปดูแลความสงบเรียบร้อยภายในและบริเวณรอบๆ โรงเรียนด้วย โดยโรงเรียนบางแห่งมีผู้ปกครองนักเรียนเข้าไปช่วยเป็นหูเป็นตา
นายอิสมะแอ ปะซี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ตะลูโบะ อ.เมือง จ.ปัตตานี เล่าว่า คืนก่อนที่โรงเรียนจะเปิดเทอม ทุกคนร่วมใจกันเฝ้าระวังอย่างหนัก ทั้งทหาร ชรบ. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และลูกบ้าน เราดูแลกันอย่างเต็มที่ มีการแบ่งเวรกันชัดเจนว่าใครดูแลตรงไหน เวลาไหน กี่คน เราจะทำกันอย่างต่อเนื่องเลย ส่วนชาวบ้านคนไหนที่บ้านอยู่ใกล้โรงเรียนก็ต้องช่วยกันสอดส่องความเคลื่อนไหว
"เช้านี้พอเปิดเรียน ผู้ปกครองต่างพาลูกหลานไปส่งที่โรงเรียน ก็สามารถเปิดเรียนได้ตามปกติ เราก็ดีใจ รู้สึกว่าสำเร็จแล้วที่ร่วมมือกันดูแลความสงบ เราจะคงความเข้มในมาตรการรักษาความปลอดภัยแบบนี้ต่อไป เพื่อให้เด็กได้เรียนอย่างสบายใจและมีความสุข"
ขณะที่บรรยากาศเปิดเทอมวันแรกในเขต อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ที่โรงเรียนบ้านคอลอตันหยง ครูสาวคนหนึ่งที่ขอสงวนนาม บอกว่า เปิดเทอมเที่ยวนี้เด็กมากันเยอะ เยอะกว่าเปิดเทอมที่ผ่านๆ มาถึงประมาณ 80% ทีเดียว ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนวันเปิดเทอมเด็กค่อนข้างบางตา อยู่ที่ราว 30-40% เท่านั้น
ส่วนความรู้สึกของครู แม้ก่อนเปิดเทอมไม่กี่วันจะมีเหตุรุนแรงในพื้นที่ แต่ก็มองเป็นเรื่องปกติ ขวัญกำลังใจยังดีอยู่ เพราะได้มีการเตรียมพร้อมก่อนเปิดเทอมมาเป็นสัปดาห์แล้ว ขณะที่มาตรการรักษาความปลอดภัยให้กับครูนั้น ทุกวันนี้จะมีทหารคอยติดตาม จึงรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย หากไม่มีการติดตาม แต่ใช้วิธีเฝ้าระวังตามเส้นทางจะรู้สึกปลอดภัยกว่า
ส่วนที่ จ.ยะลา แต่ละหมู่บ้านได้จัดชุดรักษาความปลอดภัยประจำหมู่บ้าน (ชรบ.) จำนวน 6-10 คน เข้าเวรยามและตรวจตราภายในบริเวณโรงเรียนและภายนอกอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะเวลากลางคืน เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มคนร้ายลอบก่อเหตุวางเพลิง
ถือเป็นความร่วมมือดีๆ ของทุกฝ่ายที่หวังใจให้สถานการณ์ชายแดนใต้เป็นดั่งฟ้าหลังฝน คือเต็มไปด้วยความสดใสเมื่อเรื่องราวร้ายๆ ผ่านพ้นไป...
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1-4 บรรยากาศที่โรงเรียนบ้านน้ำดำ ใน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ซึ่งถูกคนร้ายลอบวางเพลิงเผาโรงเรียน
5-6 ความคึกคักและมาตรการรักษาความปลอดภัยสุดเข้มที่หน้าโรงเรียนใน อ.เมืองปัตตานี