"คนยะลาไม่เอาระเบิด" เมื่อเสื้อยืดพูดได้...กับคำฝากจากใจถึงกลุ่มก่อความไม่สงบ
“หากสงครามเมืองนี้ยังไม่จบ พวกเราคงต้องหลบกันเองต่อไป” เป็นข้อความชุดใหม่ที่ สมภพ สุดนรานนท์ หรือ “บี” จะสกรีนลงบนเสื้อรุ่นที่ 3 โดยเขาบอกอย่างตรงไปตรงมาด้วยว่า “ไม่ว่าพรรคการเมืองไหนจะเสนอนโยบายอะไร แต่สิ่งที่สำคัญที่คนสามจังหวัดต้องการมากที่สุดคือไม่เอาระเบิดครับ”
สมภพ เป็นเจ้าของร้านขายเสื้อที่ชื่อว่า “อินคา อินเลิฟ” หรือที่รู้จักมักคุ้นกันดีในหมู่วัยรุ่นว่าคือร้านขายเสื้อ “คนยะลาไม่เอาระเบิด” เปิดเป็นแผงลอยอยู่ในย่านสายกลาง (ถนนสิโรรส) ในเขตเทศบาลนครยะลา
แม้จะไม่มีใครบันทึกสถิติเอาไว้ว่าเขาเป็นคนแรกหรือเปล่าที่สกรีนข้อความสะท้อนความรู้สึกของคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีต่อความรุนแรงรายวันไว้บนเสื้อยืดแล้วนำมันออกจำหน่าย แต่สิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้ก็คือเจ้าเสื้อยืดที่บรรจุข้อความเท่ๆ ของเขากำลังดังยิ่งกว่าเสียงระเบิดเสียอีก
ปิ๊งไอเดีย
“เริ่มจากมีเหตุระเบิด 2 ครั้งติดๆ เกิดขึ้นในย่านสายกลาง คือ วันที่ 13 และ 21 กุมภาพันธ์ แล้วทุกอย่างจบลงด้วยการเฉย ทุกคนเงียบ ไม่มีใครกล้าพูดอะไร ขณะที่คนพุทธ มุสลิม และคริสต์ต่างล้มตายตลอดเวลา คนร้ายก็ไม่สามารถจับได้ นั่นคือคำถามที่เกิดขึ้นในใจผมว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับที่นี่ซึ่งเป็นบ้านของเรา” สมภพเล่าถึงจุดเริ่มไอเดียสกรีนเสื้อไม่เอาระเบิด
“หลังเกิดระเบิดลูกที่สอง (วันที่ 21 กุมภาพันธ์) ผมออกไปยืนประท้วงแทนคำพูดด้วยการใส่เสื้อ I Love Yala (ฉันรักยะลา) เป็นเสื้อที่คุณแม่ขายอยู่ โดยรับมาจากเชียงใหม่ เสื้อชุดนี้เด็กยะลาที่อยู่เชียงใหม่เป็นคนผลิตขาย จังหวะนั้นเพื่อนมาสะกิดบอกว่าทำเสื้อขายสิ เขียนอะไรก็ได้ที่อยากจะเขียน เพราะคนสนใจนะ”
และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาเปิดร้านขายเสื้อ โดยมีสโลแกนเป็นของตัวเองว่า “คนยะลาไม่เอาระเบิด”
“สโลแกนนี้เริ่มมาจากที่ได้ไปเห็นป้ายของกลุ่มการเมืองหนึ่งช่วงก่อนเลือกตั้งที่เขาประกาศว่าไม่เอาพรรค ไม่เอา 1 ไม่เอา 10 อ่านแล้วรู้สึกโดนใจ เลยคิดกับตัวเองในใจว่า เขาจะเอาอะไรกันก็ช่าง แต่ที่บ้านเราไม่เอาระเบิด แล้วก็คิดต่อว่าถ้าข้อความนี้ไปอยู่บนเสื้อล่ะ ก็เลยลองมาร่างดู ครั้งแรกก็จับผิดจับถูก เพราะไม่เคยขายเสื้อ ไม่รู้เรื่องอะไรเลย ไม่รู้ว่าผ้าคอตตอน (ผ้าฝ้าย) คืออะไรด้วยซ้ำ ตอนหลังก็เริ่มศึกษาเรื่องผ้าจากอินเทอร์เน็ต แล้วก็ทำเรื่อยมา”
เสื้อโนบอมบ์
สมภพ เล่าว่าเขาเป็นคนยะลาโดยกำเนิด เกิดและโตที่นี่ แต่ไปใช้ชีวิตเป็นนักดนตรีอยู่ที่กรุงเทพฯนานถึง 12 ปี ก่อนจะกลับมาอยู่ยะลาได้ 2 ปีเพื่อช่วยกิจการของที่บ้าน เมื่อกลับมาก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องความเป็นระเบียบเรียบร้อยที่เมื่อก่อนยะลาเคยมี แต่ปัจจุบันสิ่งเหล่านี้ขาดหายไป
“เสื้อชุดแรกจริงๆ คือชุดรักยะลา เพราะต้องการปลุกกระแสให้รักบ้านเกิดของตัวเอง ผลออกมาเสื้อขายดีมาก เลยมานั่งคิดต่อว่าถ้าเรามีเสื้อผ้าของเราในแบบไม่ซ้ำใคร น่าจะเวิร์คกว่า นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของเสื้อคนยะลาไม่เอาระเบิด ตอนหลังลูกค้าจะตั้งชื่อเองว่า ‘เสื้อโนบอม์บ’ (No Bomb)”
“เดือนมีนาคมผมเริ่มเปิดขายผ่านเฟซบุค กระแสตอบรับดีมาก ทุกคนเริ่มเชียร์ให้เปิดหน้าร้านด้วย ผมคิดอยู่ตั้งนานว่าถ้าขายจะส่งผลอะไรหรือไม่ แต่ถ้าไม่ลองเราก็ไม่รู้ จนวันที่ 3 เมษายผมก็เริ่มเปิดแผงขายเสื้อชื่อ ‘อินคา อินเลิฟ’ อย่างเป็นทางการ ขณะที่ในเฟซบุคก็ยังมีคนอุดหนุนเหมือนเดิม”
มุสลิมซื้อหา-พุทธไม่(ค่อย)กล้าใส่
สมภพ ขยายความว่า ที่มาของชื่อร้าน “อินคา อินเลิฟ” ที่ฟังเก๋ๆ นั้น คำว่า “อินคา” เป็นชื่อของลูกชาย ส่วนคำว่า “อินเลิฟ” เขาใส่เพิ่มเข้าไปเพื่อเน้นความรัก เพราะอยากให้ที่ชายแดนใต้มีความรักเยอะๆ
“ตอนขายใหม่ๆ ขายตัวละไม่กี่บาท ขายดีมาก ไม่ได้เน้นกำไร แต่เจตนาเน้นการขายออกไป คนซื้อมากเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะอารมณ์มันพลุ่งพล่าน ผมพยายามใช้ตัวอักษรทื่อๆ เจตนาคือให้เห็นชัดๆ เห็นปั๊บใช่เลย สกรีนบนผ้าคอตตอนสลิม บาง ใส่สบาย ซึ่งผมผลิตมา 3 รุ่นแล้ว รุ่นแรกคือ ‘คนยะลาไม่เอาระเบิด’ รุ่น 2 ‘รักนะยะลา ดินแดนแห่งเสียงระเบิด’ และรุ่นที่ 3 ‘หากสงครามเมืองนี้ยังไม่จบ พวกเราคงต้องหลบกันเองต่อไป’”
เสื้อแต่ละรุ่นมีทั้งคอกลมและคอวี ทำขนาดละ 2 สี คือ สีดำกับสีขาว ส่วนเสื้อโปโล “รักนะยะลา” ก็ยังมีขาย เน้นกลุ่มเป้าหมายคนทำงาน มี 7 สี คือ แดง ม่วง ขาว ดำ เหลือง ชมพู และฟ้า
“ผมเปิดร้าน 9 โมงเช้าถึง 3 ทุ่มทุกวัน กระแสตอบรับดีมาก ไม่ต้องใช้โฆษณา ไม่ต้องกวักมือเรียก ไม่ต้องไปรบเร้า คนที่เดินผ่านจะหยุดเดินและหันมาซื้อเอง มีคนจะมาขอรับไปขายต่อเยอะนะ แต่ผมไม่ให้ ผมขอขายที่เดียวคือย่านบ้านผมที่มีเหตุระเบิดติดๆ กัน 2 ครั้ง ผมไม่ได้หวังจะขายให้ทะลุหรือโด่งดัง แต่ขายเพื่อให้อยู่ได้ มีเท่าไหร่ก็เท่านั้น”
สมภพ เล่าว่า จากยอดสั่งซื้อที่ได้จดเอาไว้ ส่วนใหญ่คนที่มาซื้อเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ, ทหาร, ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) และ อส. (อาสารักษาดินแดน)
“เสื้อคำแรงๆ เช่น คนยะลาไม่เอาระเบิด ลูกค้ามุสลิมซื้อเยอะ แต่คนไทยพุทธไม่กล้าซื้อ บอกกลัวโจรยิง ผมเลยบอกไปว่ากลัวอะไร แค่ไม่เอาระเบิด ไม่ใช่ว่าเอาระเบิด จะบอกว่ากลุ่มก่อความไม่สงบจะทำก็ได้ แต่คนที่นี่ไม่ต้องการก็เท่านั้นเอง เพราะมันไม่ไหวแล้วจริงๆ”
เสื้อพูดได้
การสกรีนข้อความบนเสื้อ นอกจากจะเป็นการประกาศรสนิยมและทัศนคติของคนใส่แล้ว ในบางมิติยังทำให้รู้สึกว่าเสื้อตัวนั้น “พูดได้” อีกด้วย
และสมภพ ก็รู้สึกอย่างที่ว่า และยังบอกว่าเสื้อของเขาไปพูดไกลถึงต่างประเทศเลยทีเดียว
“ตัวเลขคนยะลาที่ย้ายออกไปจากพื้นที่และผมรู้จักมี 178 ครอบครัว ทุกคนส่งที่อยู่ให้ผมส่งเสื้อไป มีทั้งอยุธยา ภูเก็ต สงขลา เชียงใหม่ ต่างประเทศก็มี เช่น ออสเตรเลีย นอร์เวย์ อังกฤษ สวีเดน และเบลเยียม ที่อังกฤษกับออสเตรเลียมียอดสั่งซื้อมากที่สุด”
“มีพี่คนหนึ่งใส่เสื้อของผมแล้วถ่ายรูปหน้าหอนาฬิกาบิ๊กเบนที่อังกฤษ ยืนโชว์เลย ราคาเสื้อ 500 บาท ค่าจัดส่ง 1,000 บาท เขาก็เอา เขาบอกว่าจะช่วยพูดให้ ผมฟังแล้วรู้สึกอึ้งเลย แต่ก็ดีใจที่มีคนเห็นความสำคัญในสิ่งที่เราทำ”
ความประทับใจของสมภพที่มีต่อลูกค้าของเขาและ “เสื้อพูดได้” ยังไม่หมดเพียงแค่นั้น
“อาจารย์คนหนึ่งอยู่ที่ตรัง สั่งเสื้อ แล้วขับรถมายะลาเพื่อจะมาถ่ายรูปที่นี่โดยเฉพาะ ถ่ายเสร็จก็กลับ ผมถามว่าอาจารย์ไม่เหนื่อยหรือ อาจารย์ก็ยิ้มๆ มีอีกรายนั่งรถตู้มาจากสงขลา มาซื้อเสื้อและถ่ายรูป เป็นอะไรที่ประทับใจมาก”
สมภพ ย้ำว่า ข้อความทุกประโยคที่ร้อยเรียงบนตัวเสื้อนั้น เขาคิดเองทั้งหมด ไม่เคยลอกเลียนจากที่ไหน เป็นคำที่กลั่นมาจากความรู้สึกภายในทั้งสิ้น โดยมีทั้งความหมายตรงๆ และความหมายแอบแฝง
“จริงๆ แล้วเสื้อทุกตัวจะมีความหมายแฝงด้วย เช่น ผมสกรีนชื่อทุกอำเภอของจังหวัดยะลาล้อมคำว่ายะลาอยู่ มีคนหนึ่งบอกว่าใส่เสื้อนี้ล่อโจรมายิงตาย ผมถามว่าล่อตรงไหน ลูกเราจำหมดหรือเปล่าว่าจังหวัดยะลามีกี่อำเภอ ที่ผมทำถือเป็นความรู้เลยนะ แต่ความหมายบนเสื้อที่ผมกำลังสื่อคือ ยะลาโดนล้อม หรือเสื้อ ‘รักนะยะลา’ คนบอกว่าหวานดีนะ แต่ผมว่าไม่ใช่ ความจริงยะลามันเละเทะหมดแล้ว”
ไม่ได้ท้าใคร-แค่ไม่เอาระเบิด
อย่างไรก็ดี สมภพ ยอมรับว่า มีหลายคนในพื้นที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางที่เขาทำ แต่นั่นไม่ได้ทำให้เขารู้สึกท้อ
“เพื่อนที่กรุงเทพฯหลายคนไม่เข้าใจ หาว่าผมประสาทหลอนบ้าง เขาบอกว่าที่เขาก็ลำบากไม่แพ้ผม ผมว่าใช่ ลำบากเหมือนกัน ซึ่งไม่เถียง อาจจะลำบากกว่า แต่คนที่นี่เขาจะจิตตก ไม่ว่าจะเป็นพุทธหรือมุสลิม ทุกคนล้วนจิตตกทั้งนั้น”
“กว่าจะถึงอะไรวันนี้มาได้ ผมผ่านมาเยอะ ฟากหนึ่งมีคนสนับสนุนก็จริง แต่อีกฟากหนึ่งก็มีคนต่อต้าน ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ด้วยกัน บอกว่าทำไมทำเสื้ออย่างนี้ออกมาขาย ไปท้าโจรหรือเปล่า ผมบอกว่าผมไม่ได้ท้า ผมไม่เอาระเบิด”
แม้จะเหน็ดเหนื่อยกับการทำงานและแรงกดดันที่เผชิญ แต่ สมภพ บอกว่าเขาหยุดไม่ได้แล้ว
“ถามว่าเหนื่อยไหมขายเสื้อ...เหนื่อยครับ แต่มันหยุดไม่ได้แล้วครับ เพราะมาไกลขนาดนี้แล้ว จากทุนที่ลงมือทำครั้งแรก 3 หมื่นบาท ตอนนี้เป็นหลักแสนแล้ว เพราะต้นทุนเสื้อพวกนี้สูง วัตถุดิบที่ทำส่วนใหญ่แม้จะเป็นของในพื้นที่ แต่ตัวหนึ่งได้กำไรแค่ไม่กี่บาท”
“ตลอด 4-5 เดือนที่ทำมาแม้จะเหนื่อยมาก แต่เวลาเห็นคนเขาใส่กันรู้สึกว่าหายเหนื่อย เจตนาคือต้องการให้ใส่เยอะๆ ทุกคนถามว่าเพื่ออะไร ตอบได้เลยว่าปากท้องครึ่ง อุดมการณ์ครึ่ง อุดมการณ์ที่ว่าคืออยากให้ความรุนแรงเบาบางลงสักครึ่งก็ยังดี ที่เป็นขนาดนี้รู้สึกเยอะเกินไป”
ขอสุขสงบกลับคืน
ความที่เป็นคนยะลามาแต่กำเนิด ทำให้ สมภพ เชื่อมั่นว่า เหตุร้ายในบ้านตัวเองทุกวันนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากน้ำมือของพี่น้องมุสลิมทุกเรื่อง
“บ่อยครั้งที่ต้องตอบคำถามจากคนนอกพื้นที่ว่ามุสลิมทำใช่ไหม ผมก็ยืนยันว่ามุสลิมไม่ได้ทำ ผมมั่นใจ เพราะผมมีเพื่อนสนิทเป็นมุสลิม แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อคือคนที่ทำต้องการให้เกิดความแตกแยกระหว่างคนพุทธกับมุสลิม”
“ยะลาเคยเป็นเมืองที่น่าอยู่ สงบ สะอาด ผู้คนมีมิตรจิตมิตรใจต่อกัน อยากให้สิ่งเหล่านั้นกลับมา ผมว่ายังไม่สาย ช่วยกันเอาเสื้อพูดได้นี้ไปบอกทุกคนในโลกว่า คนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องทนใช้ชีวิตและนอนกับความตายตลอด 24 ชั่วโมง ผมคนเดียวคงไม่ไหว พวกเราต้องช่วยกัน” สมภพ กล่าว
สารและความรู้สึกที่ต้องการสื่อผ่านเสื้อของ “ผู้ขาย” ได้ส่งตรงถึง “ผู้ซื้อ” อย่างชัดเจน มลิวรรณ มหาพาณิชย์ อดีตครูจากมหาสารคาม บอกว่า เสื้อรักนะยะลาที่เธอใส่ ไปเจอขายอยู่ในเฟซบุค เห็นแล้วรู้สึกชอบ เป็นคำตรงๆ ดี จึงอยากได้ จังหวะนั้นเป็นช่วงเดือนเมษายน มีโอกาสลงไปเยือนยะลาก็เลยแวะซื้อ วันนั้นซื้อไปสิบกว่าตัว เพราะมีหลายคนอยากได้ ชื่นชมในสิ่งที่ทำ เป็นเอกลักษณ์ของยะลา และกลายเป็นความรู้สึกสำนึกรักบ้านเกิด ที่สำคัญใส่แล้วยังมีคนบอกว่าเก๋ดีด้วย
“เดิมฉันเป็นคนพัทลุง เคยมาสอนที่ยะลาเมื่อปี 2515 ที่โรงเรียนคณะราษฎร์บำรุง จนเมื่อปี 2547 ก็เออร์ลี่ รีไทร์ แล้วย้ายไปอยู่มหาสารคามกับลูกหลาน เสื้อรักนะยะลาออกแบบมาดี ทุกคำที่สกรีนอ่านแล้วได้ใจคนใส่ บอกตรงๆ ว่ารู้สึกภาคภูมิใจนะ รักยะลานะ ไม่อยากให้มีเหตุการณ์ร้ายๆเกิดขึ้น”
แม้มลิวรรณจะไม่ใช่วัยรุ่นแล้ว แต่เสื้อที่สกรีนคำว่า “เด็กยะลาไม่เอาระเบิด” ก็โดนใจเธอเช่นกัน
“ถามว่าคำดูแรงไปไหม ฉันว่าไม่แรงนะ เพราะมันเป็นคำที่สะท้อนความรู้สึกคนในพื้นที่ว่าเขาไม่ต้องการอย่างนี้ แต่ไม่ได้มุ่งไปยังจุดอื่น ในความรู้สึกของคนทั่วไปไม่มีใครต้องการอยู่แล้ว แต่ไม่มีใครพูดออกมา แต่นี่มันกลายเป็นเสื้อพูดได้ เป็นคำพูดที่พูดจากคนยะลาโดยพูดผ่านเสื้อ ฉันคิดว่าเป็นเสื้อที่สะท้อนความรู้สึกของคนในพื้นที่ได้ตรงๆ ดี”
ขณะที่ ปัทมา สาวจากอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี บอกขณะเลือกซื้อเสื้อ “รักนะยะลา” รุ่นของเด็กให้ลูกชายว่า แวะมาซื้อของย่านนี้ประจำ เห็นคำที่สกรีนบนเสื้อแล้วรู้สึกโดนใจดี ชอบ เป็นคำพูดที่สะท้อนความรู้สึกของคนในพื้นที่ว่าพวกเราไม่เอาสิ่งเหล่านั้นจริงๆ
“ฉันเชื่อว่ความรู้สึกของคนที่เห็นเสื้อและใส่เสื้อนี้ไม่ต่างกันหรอก คือไม่อยากได้ระเบิดหรือมีการฆ่ากันตายเกิดขึ้น ต้องขอบใจคนขายนะที่ช่างคิดสิ่งดีๆ ออกมา” ปัทมากล่าวยิ้มๆ
สัญญะแห่งสันติ
หากมองในมุมวิชาการ เสื้อยืดพูดได้เป็นหนึ่งในมิติการสื่อสารที่น่าสนใจไม่น้อย...
ผศ.นิชาวดี ตานีเห็ง อาจารย์จากภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวว่า เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ภาคประชาชนสามารถแสดงพลังขับเคลื่อนหรือสื่อสารให้เกิดความสันติได้ แม้จะใช้วิธีการสื่อสารในรูปแบบเชิงพาณิชย์ก็ตาม แต่มีเป้าหมายที่ต้องการสร้างความเข้าใจและความหมายร่วมกันระหว่างผู้ส่งสาร คือผู้ผลิตหรือผู้ขายเสื้อ กับผู้รับสาร คือผู้ซื้อเสื้อหรือผู้ที่เห็นด้วยแต่ไม่ได้ซื้อเสื้อ นำไปสู่การสื่อสารให้เป็นประเด็นสาธารณะ
“คนยะลาไม่เอาระเบิด” หรือ “รักนะยะลา ดินแดนแห่งเสียงระเบิด” ที่สื่อสารผ่านเสื้อ เป็นการรวมพลังมวลชนที่สื่อสารเพื่อต้องการสันติ เป็นการสื่อสารเชิงสัญญะ แสดงความหมายเชิงสัญลักษณ์ไปยังผู้รับสารหรือผู้สื่อสารอีกฝ่ายหนึ่ง และการสื่อสารนั้นก็หวังผลไปยังภาครัฐ ประชาชน หรืออาจจะเป็นกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบด้วยก็ได้ โดยต้องการให้มวลชนเหล่านั้นได้มาเห็นร่วมกันกับประเด็นบนเสื้อ คือการไม่เอาความรุนแรง
“ความไม่มั่นคงทางชีวิตและทรัพย์สินที่ทุกคนประสบทุกวันนี้ ฉันคิดว่าเป็นสิทธิที่ใครก็สามารถแสดงความคิดเห็นได้ โดยหวังผลปฏิเสธความรุนแรง” ผศ.นิชาวดี กล่าว
เสื้อโนบอมบ์กำลังทำหน้าที่แปรสิ่งร้ายๆ ให้กลายเป็นพลัง...พลังแห่งความต้องการสันติสุข!
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 แบบเสื้อ "รักนะยะลา ดินแดนแห่งเสียงระเบิด"
2 สมภพ สุดนรานนท์
3-5 แผงขายเสื้อของสมภพย่านสายกลาง เทศบาลนครยะลา
6 คอลเล็คชั่นและลูกค้าที่ถ่ายภาพเอาไว้เป็นที่ระลึก