เปิดตัวสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปทุกภาคส่วนหนุนรัฐกระจายอำนาจ
เปิดตัวสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปหวังเชื่อมโยงทุกภาคส่วนร่วมปฏิรูปประเทศ ย้ำอยากให้ปชช.รู้สึกเป็นเจ้าของขบวนการอย่างแท้จริง ตัวแทนเหนือ อีสาน กลาง ใต้ หนุนกระจายอำนาจ เปรยหากยกเลิกกฎอัยการศึกได้จะเป็นเรื่องที่ดีมาก
3 พฤศจิกายน 2557 สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มอำนาจประชาชน เปิดตัวสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปโดยมีนายจินดา บุญจันทร์ และนางลาวัลย์ งามชื่น ตัวแทนสภาปฏิรูปเป็นผู้อ่านแถลงการณ์ ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ
นายจินดา บุญจันทร์ ตัวแทนสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป กล่าวว่า หลังจากเปิดตัวสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปแล้วในวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้จะมีการประชุมครั้งแรกซึ่งจะได้นำกรอบความคิดและความคิดเห็นของทุกภาคส่วนมาร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยเพื่อหาแนวทางในการดำเนินงานเนื่องจากอยากให้การปฏิรูปในครั้งนี้ประชาชนทุกภาคส่วนได้มีโอกาสเข้าร่วมซึ่งภายหลังจากการหารือเรื่องกรอบความคิดและแนวทางในการปฏิบัติแล้วจะมีการนำเสนอทั้งต่อคสช. สภาปฏิรูป และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และขอย้ำว่าเครือข่ายเราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสภาปฏิรูป
“องค์กรที่จัดตั้งนั้นไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนาของเศรษฐกิจ แต่อยากให้การดำเนินการคำนึงถึงความเป็นเจ้าของของคนทั้งประเทศและต้องไม่ทิ้งความเห็นของภาคประชาชนและภายใต้การพัฒนาใดๆจะต้องมีการกระจายอำนาจให้คนในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมเกิดการยอมรับอย่างเท่าเทียมกัน และหวังว่าการปฏิรูปครั้งนี้จะเกิดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนอย่างกว้างขวางและทำให้ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของขบวนการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง”
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ตัวแทนประชาชนจากภาคต่างๆมีจุดยืนเดียวกันคือต้องการให้มีการกระจายอำนาจเพื่อให้ท้องถิ่นสามารถกำหนดกรอบทิศทางแผนการพัฒนาต่างๆด้วยตัวเอง เนื่องจากมีความเข้าใจปัญหาในพื้นที่ได้ดีกว่า ทั้งนี้หากเป็นไปได้ก็อยากให้มีการยกเลิกกฎอัยการศึกเพื่อให้ประชาชนมีเสรีภาพมากยิ่งขึ้น
ส่วนรายละเอียดประกาศสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปครั้งที่1/2557 มีใจความสำคัญว่า การจัดตั้งสภาประชาชนนั้นจะทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทยและการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มอำนาจประชาชน โดยมีเจตนารมณ์และแนวทางการดำเนินงานดังนี้
1.ทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงองค์กรภาคประชาชนทุกภาคส่วนเพื่อระดมความคิดเห็นและจัดทำข้อเสนอต่อการปฏิรูปประเทศไทยและการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างเป็นอิสระ
2.รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องกำหนดกรอบทิศทางไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำและการกระจายอำนาจไปสู่การเพิ่มอำนาจประชาชน ทั้งเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค นโยบายพื้นฐานแห่งชาติ การใช้อำนาจทางการเมืองโดยตรงของประชาชนด้วยการกำหนดให้มีสภาพลเมือง เป็นอำนาจที่สี่เพื่อช่วยในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
3.ระยะเวลาในการปฏิรูปหนึ่งปีนั้นรัฐบาลต้องเสริมสร้างให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้คนไทยทุกคนตระหนักและเข้าไปมีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศได้หลายช่องทาง
4.เราให้ความสำคัญกับการปฏิรูปที่มาจากการระดมความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนแต่ด้วยระยะเวลาที่จำกัดจำเป็นที่จะต้องมีการวางพื้นฐาน กลไกหรือกฎหมายและมีการกำหนดเงื่อนไขให้มีการดำเนินงานที่ต่อเนื่องไว้ในรัฐธรรมนูญ
5.คำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บางคำสั่งถูกนำไปปฏิบัติอย่างไม่ถูกต้อง ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน เช่นคำสั่งที่ 64 และ66 ดังนั้นรัฐบาลต้องมีมาตรการกำกับดูแลและสั่งการให้หน่วยปฏิบัติของราชการที่เกี่ยวข้องยุติการกระทำและปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด
6.ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเราจะดำเนินการให้เกิดการมีส่วนร่วมโดยสนับสนุนการขับเคลื่อนสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปทั้งในระดับพื้นที่และประเด็นปัญหา
ขอบคุณภาพจากสำนักข่าวINN