'สมชาย' ร้อง คสช.สอบ อสส. หากไม่ฟ้องจำนำข้าว
"สมชาย" ยัน กฎหมาย ป.ป.ช. มัด สนช. ต้องรับถอดถอนนักการเมือง วัดใจ "พรเพชร" นำเรื่องเข้าพิจารณา 6 พ.ย. ปูด อสส.ตั้งธงไม่ฟ้อง จำนำข้าวสูญกว่า 1 ล้านล้าน ชี้คดี "ปู" เข้าสู่กระบวนการถอดถอนแล้ว ร้อง คสช. สอบองค์กรทนายแผ่นดิน หากไม่ฟ้องจำนำข้าว
วันที่ 3 พ.ย. นายสมชาย แสวงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงการพิจารณาสำนวนถอดถอน นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา ในวันที่ 6 พ.ย.นี้ว่า ส่วนตัวเห็นว่าน่าจะข้ามขั้นตอนเรื่องการพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับดำเนินการได้แล้ว เพราะตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 64 บัญญัติไว้ว่า
"เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าข้อกล่าวหาที่มาจากการเข้าชื่อร้องขอเพื่อให้วุฒิสภามีมติให้ถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาออกจากตำแหน่งมีมูล และได้รายงานไปยังประธานวุฒิสภาตามมาตรา 56 (1) แล้ว ให้ประธานวุฒิสภาจัดให้มีการประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณามีมติโดยเร็ว" แสดงว่า สนช. ซึ่งทำหน้าที่วุฒิสภาตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 กำหนดในมาตรา 5 และ 6 ก็ต้องพิจารณาเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากรับไว้พิจารณาเท่านั้น
นายสมชาย กล่าวต่อว่า ในการประชุม สนช.ครั้งที่ผ่านมา ได้มีการยกเว้นข้อบังคับการประชุมที่กำหนดให้ต้องบรรจุเรื่องที่ ป.ป.ช. ส่งมาไว้ในวาระการประชุมภายใน 30 วันไปแล้ว ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. จะพิจารณาว่า จะบรรจุเรื่องนี้ไว้ในวาระเมื่อไร ซึ่งหวังว่าจะนำเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมในวันที่ 6 พ.ย.นี้ จากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาถอดถอน ซึ่งมีกรอบเวลานับจากวันที่มีการบรรจุไว้ในวาระการประชุม 45 วัน ส่วนจะถอดถอนได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับมติที่ประชุม ซึ่งจะต้องได้เสียง 132 เสียงขึ้นไป หรือสามในห้าของจำนวน สนช. ทั้งหมด
นายสมชาย กล่าวถึงคดีจำนำข้าวว่า ประธาน สนช. บรรจุไว้ในวาระการประชุมแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนตามกระบวนการถอดถอน คือ ให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาชี้แจงก่อนที่ สนช.จะพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเพื่อลงมติต่อไป ซึ่งโครงการนี้สร้างความเสียหายจำนวนมหาศาลให้กับระบบเศรษฐกิจไทย หาก สนช.ดำเนินการถอดถอนไม่ได้ก็จะกระทบต่อการทำหน้าที่ของ สนช. ทำให้กลายเป็นจำเลยของสังคม
นายสมชาย กล่าวต่อว่า ทราบข่าววงในว่า การพิจารณาร่วมกันในคณะทำงานร่วมระหว่าง ป.ป.ช. กับอัยการสูงสุด (อสส.) ในวันที่ 7 พ.ย.นี้ ทาง อสส.อาจจะมีคำสั่งไม่ฟ้อง โดยอ้างความไม่สมบูรณ์ของสำนวนในประเด็นเดิมๆ ที่เคยอ้างไว้ ป.ป.ช. จึงควรฟ้องเอง และ คสช.ควรใช้อำนาจพิเศษจัดการกับอัยการด้วย เพราะความเสียหายมหาศาลไม่ใช่แค่ 7 แสนล้าน แต่ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท ยังไม่รวมถึงผลกระทบที่เกิดกับอุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบ ถ้าอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องก็ต้องตอบคำถามสังคมว่า ความเสียหายมากขนาดนี้ แต่ไม่ดำเนินคดีจะเป็นทนายแผ่นดินได้อย่างไร
"เมื่ออัยการไม่ฟ้อง คสช. ก็ต้องพิจารณาว่า นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุดใช้ได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยนตัวอัยการสูงสุด และพิจารณาด้วยว่า นายวุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์ รองอัยการสูงสุดที่ดูแลเรื่องนี้มีปัญหาหรือไม่ หากมีปัญหาก็ต้องเปลี่ยนตัว เพราะไม่มีความกล้าหาญในการทำหน้าที่ แต่ถ้า คสช.ไม่ทำอะไรแรงสนับสนุนก็จะหายไป เนื่องจากคนเห็นกับตาว่าความเสียหายเป็นอย่างไร นายกฯ พูดเองว่าข้าวเสียหาย 70-90% เหลือข้าวดีแค่ 10% ถ้าไม่สามารถนำคนที่สร้างความเสียหายมารับโทษได้ ย่อมกระทบต่อความศรัทธาที่ประชาชนมีต่อ คสช. อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” นายสมชาย กล่าว.
ขอบคุณข่าวจาก