4 เดือนแรก คสช.เหตุรุนแรงชายแดนใต้ลด ก่อนดีดกลับช่วง ต.ค.
สถิติเหตุรุนแรงชายแดนใต้ย้อนหลังตั้งแต่เดือน พ.ค.57 ซึ่งเป็นเดือนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าควบคุมอำนาจการปกครอง มีทิศทางที่น่าสนใจ
โดยใน 4 เดือนแรก (ไม่นับ พ.ค.) ทิศทางความรุนแรงลดระดับลงพอสมควร พิจารณาจากสถิติตัวเลข 5 เดือน (รวมเดือน พ.ค.) ที่เก็บรวบรวมโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กล่าวคือ
O เดือน พ.ค. มีเหตุรุนแรง 45 เหตุการณ์ แยกเป็นเหตุลอบยิง 24 เหตุการณ์ ระเบิด 17 เหตุการณ์ ก่อกวน 1 เหตุการณ์ ลอบวางเพลิง 3 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 21 ราย บาดเจ็บ 127 ราย
O เดือน มิ.ย. มีเหตุรุนแรง 60 เหตุการณ์ แยกเป็นเหตุลอบยิง 39 เหตุการณ์ ระเบิด 12 เหตุการณ์ ก่อกวน 5 เหตุการณ์ ลอบวางเพลิง 4 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 34 ราย บาดเจ็บ 47 ราย
O เดือน ก.ค. มีเหตุรุนแรง 40 เหตุการณ์ แยกเป็นเหตุลอบยิง 25 เหตุการณ์ ระเบิด 14 เหตุการณ์ ก่อกวน 1 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 26 ราย บาดเจ็บ 104 ราย
O เดือน ส.ค. มีเหตุรุนแรง 36 เหตุการณ์ แยกเป็นเหตุลอบยิง 19 เหตุการณ์ ระเบิด 13 เหตุการณ์ ก่อกวน 4 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 15 ราย บาดเจ็บ 40 ราย
O เดือน ก.ย. มีเหตุรุนแรง 32 เหตุการณ์ แยกเป็นเหตุลอบยิง 21 เหตุการณ์ เหตุระเบิด 7 เหตุการณ์ ก่อกวน 4 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 14 ราย บาดเจ็บ 19 ราย
จะเห็นได้ว่าสถิติเหตุรุนแรงและความสูญเสียลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ห้วงเวลาก่อนหน้านั้น คือ เดือน ม.ค.ถึง เม.ย.57 เกือบทุกเดือนมีเหตุรุนแรงเกิน 50 เหตุการณ์
อย่างไรก็ดี เมื่อย่างเข้าเดือน ต.ค. ซึ่งเป็นเดือนที่ 5 หลังจากที่ คสช.เข้ายึดอำนาจ และเริ่มมีรัฐบาลอย่างเป็นทางการ ปรากฏว่าสถิติเหตุรุนแรงกลับดีดตัวขึ้นมาอีกครั้ง แม้ความสูญเสียจะยังคงทรงตัวก็ตาม
O เดือน ต.ค. มีเหตุรุนแรง 39 เหตุการณ์ แยกเป็นเหตุลอบยิง 17 เหตุการณ์ เหตุระเบิด 8 เหตุการณ์ ก่อกวน 8 เหตุการณ์ และลอบวางเพลิง 6 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 9 ราย บาดเจ็บ 23 ราย
สรุปยอดผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากสถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอรอยต่อของ จ.สงขลา คือ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.47 ถึง 31 ต.ค.57 หรือ 130 เดือน รวมมีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 5,634 ราย บาดเจ็บ 10,554 ราย
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : กราฟฟิกแสดงสถิติเหตุรุนแรงและความสูญเสียจากสถานการณ์ไฟใต้ 4 เดือนแรกยุค คสช. (ไม่นับเดือน พ.ค.)
ขอบคุณ : กราฟฟิกโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ