ธ.ก.ส.เดินหน้าจ่ายสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี
ธ.ก.ส.เปิดโครงการสินเชื่อชะลอขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2557/58 วงเงิน 17,280 ล้านบาท เพิ่มทางเลือกให้เกษตรกรขายข้าวในช่วงที่ราคาสูง พร้อมออกสินเชื่อเพื่อสร้างหรือปรับปรุงยุ้งฉางและลานตากข้าวอีก 1,000 ล้านบาท สนับสนุนโครงการชะลอขายข้าวเปลือก
นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.ได้เริ่มเปิดตัวโครงการสินเชื่อชะลอขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2557/58 วงเงิน 17,280 ล้านบาท ตามมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเปิดให้ชาวนาในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2557 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2558 โดยจะเริ่มจ่ายเงินได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2557 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2558 และชำระคืนเงินกู้ภายใน 4 เดือนนับจากเดือนที่รับเงินกู้
ทั้งนี้โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี เป็นสินเชื่อช่วยเกษตรกรในช่วงที่ผลผลิตออกมาปริมาณมากและมีราคาตกต่ำ เพื่อให้เกษตรกรมีทางเลือกในการชะลอการขาย โดยไม่ต้องพะวงกับปัญหาเงินที่จะนำมาใช้จ่ายในครัวเรือนและภาระหนี้สิน โดยสามารถนำผลผลิต คือ ข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกเหนียวมาขอกู้กับ ธ.ก.ส. อัตราร้อยละ 80 ของราคาตลาด วงเงินไม่เกินรายละ 300,000 บาท โดยไม่เสียดอกเบี้ย
นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ยังมีโครงการสินเชื่อเพื่อการสร้างหรือปรับปรุงยุ้งฉาง และลานตากข้าว เนื่องจากเกษตรกรต้องขายข้าวเปลือกทันทีหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อนำไปชำระค่าใช้จ่ายในการผลิตและค่าใช้จ่ายในครัวเรือน แต่เนื่องจากผลผลิตออกมาพร้อมกันเป็นจำนวนมากจึงทำให้ราคาผลผลิตตกต่ำ ดังนั้น ธ.ก.ส.จึงออกสินเชื่อเพื่อการสร้างหรือปรับปรุงยุ้งฉาง และลานตากข้าว เพื่อสามารถก่อสร้างและปรับปรุงยุ้งฉางและลานตากข้าวเปลือก เพื่อสามารถปรับปรุงคุณภาพและเก็บผลผลิตไว้แล้วจึงนำออกมาขายเมื่อราคาสูงขึ้น
โดยมีวงเงินสินเชื่อ 1,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยสำหรับเกษตรกรทั่วไปที่ MRR หรือ 7.0% และสถาบันเกษตรกรในอัตรา MLR หรือ 5.0% โดยสินเชื่อสำหรับปรับปรุงยุ้งฉางหรือลานตากข้าวเดิมให้ชำระคืนภายใน 5 ปี ส่วนการสร้างยุ้งฉางและลานตากข้าวใหม่ชำระคืนภายใน 10 ปี โดยสามารถขอกู้ที่ ธ.ก.ส.ทุกสาขาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2558
“โครงการที่ ธ.ก.ส.ดำเนินการในครั้งนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระให้กับเกษตรกรที่ต้องการเงินไปใช้จ่ายค่าปัจจัยการผลิตและใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ในช่วงที่ราคาผลผลิตตกต่ำเมื่อราคาผลผลิตสูงขึ้นจึงนำผลผลิตไปขายในราคาที่พึงพอใจ ซึ่งโครงการนี้จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพของเกษตรกรลูกค้าในด้านการผลิต การตลาดและเป็นแนวทางหนึ่งในการสนับสนุนการเพิ่มมูลค่าการผลิต (Value Added) ตลอดห่วงโซ่การผลิต” นายสมหมายกล่าว
ภาพประกอบ:โมเดิร์นไนน์