ก.ก.ถ.รับฟังความเห็นร่างฯ ความร่วมมือจัดทำบริการสาธารณะ อปท. หวั่น โดนสตง.สอบ
สำนักงาน ก.ก.ถ.เปิดเวทีรับฟังความเห็นร่างฯ ตกลงร่วมมือทำบริการสาธารณะของ อปท. 'ดร.กมลชัย' เผยผู้นำท้องถิ่นส่วนใหญ่ไม่กังวลในรายละเอียด ยกเว้นกรณีจัดซื้อจัดจ้าง หวั่น สตง.ตรวจสอบ ระบุต้องเร่งสร้างความเข้าใจวัตถุประสงค์เพื่อความร่วมมือเป็นหลัก
วันที่ 31 ตุลาคม 2557 สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (สำนักงาน ก.ก.ถ.) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อการจัดทำร่างประกาศคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่อง ‘การทำความตกลงร่วมมือกันจัดทำบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครั้งที่ 1’ ณ โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ
โดยมีศ.พิเศษ ดร.กมลชัย รัตนสกาววงศ์ ประธานคณะอนุกรรมการวินิฉัยกฎหมายที่เกี่ยวกับการกระจายอำนาจให้เเก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นประธาน ซึ่งการจัดทำร่างฉบับดังกล่าว เพื่อให้การทำบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตามอำนาจหน้าที่และภารกิจที่ได้รับการถ่ายโอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและตอบสนองความต้องการของประชาชน
ทั้งนี้ การตกลงความร่วมมือจัดทำบริการสาธารณะจะเกิดขึ้นได้ เมื่อภารกิจหรือโครงการนั้นเกินกว่าศักยภาพหรือไม่คุ้มค่าที่ อปท.จะดำเนินการเอง ทำให้ต้องจัดทำบริการสาธารณะที่มี อปท.ตั้งแต่ 2 แห่งขึ้นไป และตั้งอยู่ในจังหวัดเดียวกัน หรือข้ามเขตได้ หากมีพื้นที่ติดต่อกัน ที่สำคัญ ประชาชนในพื้นที่นั้นต้องได้รับประโยชน์โดยตรง
ศ.พิเศษ ดร.กมลชัย ระบุถึงข้อกังวลของผู้นำท้องถิ่นต่อร่างประกาศฉบับดังกล่าวว่า ส่วนใหญ่จะไม่มีความกังวล ยกเว้นกรณีการจัดซื้อจัดจ้างหรือดำเนินการจัดหาพัสดุและครุภัณฑ์ หวั่นอาจผิดระเบียบปฏิบัติ จนถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบได้ จึงต้องทำให้ สตง.เกิดความเข้าใจในร่างประกาศว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่าง อปท. ส่วนการใช้จ่ายงบประมาณยังคงเป็นไปตามระเบียบการจัดหาพัสดุ การเงิน งบประมาณ อยู่
สำหรับประเด็นการถ่ายโอนภารกิจของ อปท. นั้น ศ.พิเศษ ดร.กมลชัย กล่าวว่า มีการถกเถียงตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจะให้ท้องถิ่นได้รับงบประมาณและภารกิจเพิ่มขึ้น เพื่อให้มีสัดส่วนตัวเลขงบประมาณแผ่นดิน 35-40% เพื่อหวังจะกลายเป็นเมืองเจริญทัดเทียมต่างประเทศ
ทั้งนี้ ส่วนตัวเห็นว่าเป็นความเข้าใจผิด การที่ท้องถิ่นจะมีความเจริญได้นั้น ดัชนีชี้วัดมิได้ขึ้นอยู่กับงบประมาณ แต่หากผลักดันได้จริงก็ถือเป็นการหลอกลวงตนเอง เพราะสุดท้ายการกระจายอำนาจเปลี่ยนจากส่วนภูมิภาคไปสู่ท้องถิ่น ทุกอย่างยังเหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นภารกิจ บุคลากร เพียงแค่เปลี่ยนต้นสังกัดเท่านั้น ฉะนั้นท้องถิ่นจะมีความเจริญได้จึงน่าจะขึ้นอยู่กับบุคลากรและผลงานมากกว่า ไม่ใช่งบประมาณ
“การกระจายอำนาจที่แท้จริงอยากให้มีท้องถิ่นออกข้อบัญญัติดูแลกันเอง แต่ที่ผ่านมาเราไม่ได้ให้อำนาจท้องถิ่นออกข้อบัญญัติทุกเรื่อง” ศ.พิเศษ ดร.กมลชัย กล่าว และว่าภารกิจไป แต่อำนาจไม่ไป แม้จะมีการกระจายอำนาจตามแผนบางส่วนก็ไม่ใช่อำนาจเบ็ดเสร็จ
ส่วนที่ผู้นำท้องถิ่นหลายคนอยากให้ระบุรายละเอียดให้ชัดเจนนั้น ศ.พิเศษ ดร.กมลชัย ระบุว่า คงเป็นไปไม่ได้ เพราะร่างฉบับนี้ใช้เพื่อเป็นเเนวทางในความร่วมมือด้านจัดทำบริการสาธารณะเท่านั้น คงไม่สามารถเขียนกำกับลงไปชัดเจน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อการจัดทำร่างประกาศฯ เรื่อง ‘การทำความตกลงร่วมมือกันจัดทำบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น’ จะจัดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ในวันที่ 13-14 พฤศจิกายน 2557 ณ โรงแรม อรัญเมอร์เมด จ.สระแก้ว ก่อนจะนำมารวบรวมและนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ เพื่อยกร่างต่อไป .