นักวิชาการมก. เสนอลดขั้นตอนขอใบอนุญาต หนังสือรับรองตัด-โค่นไม้ ให้ชัดในพ.ร.บ.สวนป่า
นักวิชาการ มก. เสนอดึง พ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ.2535 กลับมาแก้ไข หวั่นเนื้อหายังไม่ครอบคลุมในหลายด้านๆ แนะหากทำขึ้นใหม่ควรระบุเรื่องของการจัดตั้งกองทุนกิจการส่วนป่า เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่สนใจปลูกป่าเศรษฐกิจ
วันที่ 29 ตุลาคม 2557 คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดแถลงข่าวเรื่อง “พ.ร.บ.สวนป่าฉบับแก้ไข...พัฒนาหรือขัดขวางกิจการสวนป่าไทย” ณ ห้องประชุมจงรัก ปรีชานนท์ ตึกวนศาสตร์ 72 ปี คณะวนศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ คณบดีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับพระราชบัญญัติสวนป่า(ฉบับที่....) พ.ศ....ที่ดำเนินการแก้ไขและผ่านความเห็นจากคณะกรรมาธิการร่างกฎหมายในวาระที่ 1 เรียบร้อยแล้วว่า ในเนื้อหาสำหรับกฎหมายดังกล่าวเห็นด้วยกับการขึ้นทะเบียนชนิดไม้สวนป่าที่ในอดีตยังไม่ครอบคลุมทั้งความเป็นจริงในปัจจุบัน
สำหรับในส่วนของการเพิ่มเติมในกฎหมายคือควรมีการสนับสนุนหน้าที่และการบริการของสิ่งแวดล้อม การจัดตั้งกองทุนการสนับสนุนการปลูกป่า เพื่อช่วยในเหลือประชาชนที่สนใจในการกิจการการปลูกต้นไม้ที่เป็นเศรษฐกิจ โดยมีภาครัฐและเอกชนเป็นผู้ดำเนินการให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ
“อยากให้เปลี่ยนชื่อจาก พ.ร.บ.สวนป่าเป็น พ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการสวนป่า ต้องไม่ใช่ควบคุม ที่ผ่านมามีหลายคนเคยคิดทำแต่ทำไม่ได้ ผมอยากจะเชียร์ให้เปลี่ยนชื่อเป็น พ.ร.บ.การส่งเสริมการสวนป่า ถ้าตั้งชื่อแบบนี้เรียกได้ว่าเป็นการควบคุมไม่ใช่การส่งเสริม อีกทั้งต้องลดขั้นตอนในการขอใบอนุญาตในกระบวนการต่างๆ ให้น้อยลงและได้ง่ายที่สุด เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชน” คณบดีคณะวนศาสตร์ มก.กล่าว และว่า ควรยกเลิก พ.ร.บ.สวนป่าปี 2535 ทั้งหมดและจัดให้มีการร่างขึ้นใหม่จะดีที่สุด
ด้าน ผศ.ดร.นิคม แหลมสัก รองคณบดีฝ่ายส่งเสริมสร้างศักยภาพ คณบดีคณะวนศาสตร์ มก. กล่าวว่า ในอดีตตั้งแต่ พ.ร.บ.สวนป่า ปี 2535 จนถึงฉบับปีปัจจุบันมีอุปสรรคในหลายด้าน แต่หลายฝ่ายก็คาดหวังว่า กฎหมายฉบับนี้จะส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ทั้งนี้จากการดูจากเนื้อหาของกฎหมายสวนป่าที่แก้ไขล่าสุดนั้น มองว่า ยังต้องมีการเพิ่มเติมในบางส่วน อาทิ ต้องมีมาตราที่ระบุว่า จัดตั้งกองทุนการส่งเสริมการปลูกสวนป่า เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่สนใจและไม่มีเงินทุน ส่วนในเรื่องของการบริการจัดการต้องพูดในอีกลำดับขั้นหากข้อเสนอนี้ผ่านแล้ว และต้องกระจายอำนาจในการขึ้นทะเบียนต่างๆให้องค์การบริการส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมตัดสินใจ
"ที่สำคัญที่สุดคือต้องเปลี่ยนชื่อเป็น พ.ร.บ.การส่งเสริมการปลูกสวนป่า เพราะถือเป็นการส่งเสริมไม่ใช่การควบคุม" ผศ.ดร.นิคม กล่าว และว่า ขอให้ให้ชะลอ พ.ร.บ.สวนป่าที่ยื่นผ่านวาระ 1 ไว้ก่อน และหันมารับฟังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับกฎหมายฉบับนี้ที่มีอยู่จำนวนมาก เพราะเป็นผู้ได้รับผลกระทบ อีกทั้งหวั่นว่า รัฐธรรมนูญฉบับถาวรกำลังที่จะออกมาในไม่ช้า กฎหมายนี้จะไปก้าวล้ำสิทธิต่างๆในรัฐธรรมนูญ
ขณะที่ ผศ.ดร.ขวัญชัย ดวงสถาพร อาจารย์ประจำภาควิชาการจัดการป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มก. กล่าวถึงมาตราที่ควรปรับปรุงในกฎหมายดังกล่าวว่า มาตราที่เห็นว่าควรมีปรับปรุง ได้แก่ มาตรา 6 ของร่าง พ.ร.บ. สวนป่า พ.ศ.... ซึ่งกำหนดให้ผู้จัดทำสวนป่าจัดทำบัญชีแสดงชนิดและจำนวนไม้ที่ทำการปลูก พร้อมกำหนดบทลงโทษผู้ทำสวนป่าที่ไม่ได้ดำเนินการและจัดทำบัญชีนั้น ในทางวิชาการการสำรวจทรัพยากรป่าไม้ย่อมมีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง เนื่องจากการสำรวจโดยปกติเป็นการทำแบบสุ่มตัวอย่างไม่ใช่ทั้งหมดจึงมีความคลาดเคลื่อน ดังนั้นควรใช้ข้อความเดิมของปี 2535 อีกทั้งเนื้อหาใน พ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ.2535 ที่เห็นว่า ควรถูกปรับปรุงเพิ่มเติม เช่น มาตรา 11 ที่กล่าวถึงการแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่ออกหนังสือรับรองการแจ้งก่อนการตัดหรือโค่นไม้ ที่ผ่านมาเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อผู้ทำสวนป่าในการตัดโค่นต้นไม้มาจำหน่ายหรือการใช้ประโยชน์ เนื่องจากมีการออกหนังสือรับรองการแจ้งที่ล่าช้า และไม่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน มีระยะเวลาการอนุมัติตั้งแต่ 8 เดือน ถึง 2 ปี ในส่วนนี้ต้องแก้ไขให้มีวันและเวลาการออกหนังสือที่แน่นอนชัดเจน เป็นต้น
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2557 มีมติเห็นชอบให้เสนอร่างพระราชบัญญัติสวนป่า (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติมีมติเห็นชอบให้เสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และให้เสนอคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไปได้