สปสช.โอนเงินไตรมาสแรกให้รพ.สป.สธ.884แห่ง เน้นจัดสรรงบฯแบบกระจายอำนาจ
สปสช.โอนเงินไตรมาสแรกล่วงหน้าให้รพ.สังกัดสป.สธ. 884 แห่งแล้ว 12,848 ล้านบาท ตั้งแต่ 24 ต.ค.เพื่อให้มีสภาพคล่องให้บริการผู้ป่วย ส่วนการเจรจากับสธ.นั้น ล่าสุดได้ข้อสรุปและหลักการร่วมแล้ว เน้นกระจายอำนาจ จัดการระดับพื้นที่ โอนเงินตรงที่รพ. ไม่ไปที่สธ.หรือเขตสุขภาพ ถ้าจะมีข้อตกลงใดๆ ต้องทำก่อนไตรมาสสอง และ สธ.จะยกร่างข้อเสนอใหม่ตามหลักการที่หารือร่วมกัน เพื่อเข้าสู่คณะอนุฯการเงินการคลัง และเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ดสปสช.ต่อไป นัดหารือต่อ 30 ต.ค.นี้
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า หลังจากที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) ได้มีประกาศหลักเกณฑ์การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสำหรับผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2558 ไปแล้วนั้น ขณะนี้สปสช.ได้โอนงบประมาณไตรมาสแรกให้รพ.สังกัดสป.สธ. ที่เป็นหน่วยบริการคู่สัญญาระดับปฐมภูมิ หรือ รพ.ชุมชนจำนวน 884 แห่ง ไปแล้วเมื่อวันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา จำนวน 12,848 ล้านบาท โดยใช้ตัวเลขประมาณการจากรายรับจัดสรรล่วงหน้าที่หน่วยบริการสาธารณสุขได้รับจัดสรรจากปีงบประมาณ 56 เพื่อให้หน่วยบริการมีสภาพคล่อง ทั้งนี้สาเหตุที่ไม่สามารถใช้ข้อมูลจากปีงบประมาณ 57 เพื่อคำนวณการจัดสรรล่วงหน้าได้นั้น เนื่องมาจากตัวเลขปี 57 มีปัญหาเรื่องการหักเงินเดือนบุคลากรสธ.ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง จึงต้องใช้ตัวเลขปี 56 แทน
นพ.วินัย กล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าการหารือเรื่องหลักการแนวทางการบริหารกองทุนระหว่างกระทรวงสธ. สปสช. และคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง ซึ่งเป็นไปตามมติบอร์ดสปสช. 22 ก.ย.57 ที่มอบหมายให้มีการหารือเพิ่มเติมในกรณีที่อาจจะมีความจำเป็นต้องปรับแก้เพิ่มเติมรายละเอียดหลักเกณฑ์การบริหารกองทุนฯเพื่อให้สอดคล้องกับข้อมูลของสธ. และนโยบายของรมว.สธ. และรมช.สธ. โดยให้ได้ข้อยุติภายใน 2 เดือนนั้น ที่ผ่านมา สธ.และสปสช.ได้หารือมาอย่างต่อเนื่อง โดยสปสช.มอบ นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ รองเลขาธิการสปสช. หารือร่วมกับ นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดสธ.ซึ่งได้รับมอบหมายจาก นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสธ.
ทั้งนี้ ผลการหารือยึดตามประเด็น 3 ข้อที่สธ.เสนอ และมีข้อสรุปร่วมกันซึ่งทั้งสองฝ่ายมีความเห็นตรงกัน ดังนี้
1.ข้อเสนอการดำเนินการรูปแบบเขตสุขภาพนั้น มีข้อสรุปว่าการหารือครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อรื้อการจัดการงบประมาณปี 58 แต่เป็นการปรับเพื่อต่อยอดให้เหมาะสมขึ้น และเป็นการพูดคุยในส่วนของงบประมาณที่จัดสรรให้สธ.เท่านั้น ซึ่งการจัดสรรยังคงเน้นหลักการสำคัญคือ จัดสรรเงินตรงไปที่หน่วยบริการ เน้นการกระจายอำนาจ และการจัดการในระดับพื้นที่มากที่สุด ส่วนข้อตกลงใดๆต้องเป็นการตกลงก่อนการจัดสรรเงิน และจะไม่มีการโอนเงินไปไว้ที่สธ.หรือเขตบริการสุขภาพของสธ.โดยเด็ดขาด การจัดสรรจะใช้หลักการคำนวณใกล้เคียงกับผลงานและจ่ายขาดโดยไม่มีการเรียกเงินคืน เงินที่เหลือหรือขาดจะใช้หลักการหักลบกลบหนี้กันในปีต่อไป และการทำข้อตกลงระดับกระทรวงหรือระดับเขต จะเน้นการกำหนดตัวชี้วัดร่วมกัน ทั้งด้านกระบวนการและผลลัพธ์ และมีมาตรการรองรับหากทำไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตกลงไว้
2.รูปแบบการบริหารงบเหมาจ่ายรายหัว เห็นชอบว่ามีความจำเป็นจะต้องมีการสร้างสมดุลระหว่างการจัดสรรงบผู้ป่วยนอก งบผู้ป่วยใน และงบบริการเฉพาะ โดยงบบริการเฉพาะจะให้ความสำคัญว่าประเด็นใดควรแยกดำเนินการในระดับใด และให้สอดคล้องกับเขตบริการสุขภาพของสธ. และกลุ่มเป้าหมายของสปสช. ส่วนการทำข้อเสนอรูปแบบการบริหารงบเหมาจ่ายรายหัวนั้น มอบหมายให้สธ.และสปสช.ทำงานร่วมกันเพื่อจัดทำข้อเสนอดังกล่าว และเห็นชอบร่วมกันถึงความสำคัญของการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค โดยให้มีการทำข้อเสนอ เป้าหมาย กลไก โดยขอความเห็นชอบจาก นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา บอร์ดสปสช.
3.ข้อเสนอการตัดเงินเดือนของสธ.นั้น เนื่องจากเป็นข้อเสนอที่ทำให้เงื่อนไขข้อเสนอ 2 ข้อข้างต้นไม่สามารถดำเนินการได้ จึงขอให้ใช้ข้อตกลงที่ได้ผ่านคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังแล้วเป็นหลัก
“ส่วนการดำเนินการต่อไปนั้น เมื่อได้ข้อสรุปร่วมตามหลักการข้างต้นแล้ว ทางสธ.จะประชุมภายในเพื่อยกร่างจัดทำข้อเสนอใหม่ หลังจากนั้นจะนัดหมายเพื่อนำเสนอร่างข้อเสนอใหม่กับผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้บริหารสธ.และสปสช. ประธานการเงินการคลังเขตบริการสุขภาพของสธ. และสปสช.เขต ก่อนจะมีการนำข้อเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังในต้นเดือนพ.ย. และเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ดสปสช.ในวันที่ 10 พ.ย.ต่อไป” เลขาธิการสปสช. กล่าวและว่า ในวันที่ 30 ต.ค.นี้ จะมีการหารืออีกครั้งระหว่าง นพ.พีรพล และนพ.วชิระ