เปิดใบหุ้น 2 บริษัท“บดินทร์”ว่าที่อธิการฯม.เกษตรฯชนวนถูกยื่นฎีกาค้านนั่งเก้าอี้
ใบหุ้น 2 บริษัท“บดินทร์”ว่าที่อธิการฯม.เกษตรฯคนใหม่ ชนวนถูกยื่นฎีกาคัดค้านนั่งเก้าอี้ หลังเจ้าตัวยันยื่นลาออกจากกรรมการแล้ว
กรณีมีบุคคลจำนวนหนึ่งยื่นทูลเกล้าฯถวายฎีกาต่อกรณีสภามหาวิทาลัยเกษตรศาสตร์ได้มีมติเมื่อ 22 ก.ย. 57 เห็นชอบให้ รศ. ดร.บดินทร์ รัศมีเทศ เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คนใหม่ ประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกเป็นเหตุผลในการคัดค้านก็คือกรณีพบ รศ.ดร.บดินทร์ได้จดทะเบียนทำธุรกิจอย่างน้อย 2 แห่ง คือ บริษัท อินโฟเลิร์นนิ่ง จำกัด และ บริษัท อินโฟไมนิ่ง จำกัด
ขณะที่เจ้าตัวชี้แจงผ่านสำนักข่าวอิศราว่า เคยมีชื่อเป็น “กรรมการ”ในบริษัทเอกชนจริง แต่ลาออกมานานแล้ว และกฎระเบียบก็ไม่ได้ห้ามว่าเป็นกรรมการไม่ได้ และในช่วงที่ไปเป็นกรรมการก็มีการขออนุญาตผู้บังคับบัญชา
“ที่มหาวิทยาลัยเกษตรมักจะเป็นแบบนี้ มีการเอาเรื่องโน้นเรื่องนี้มาโยงกัน แต่ผมจะบอกให้นะ ว่า ผมมั่นใจว่าไม่ได้ทำอะไรผิด ถ้าทำอะไรผิดผมจะกล้าลงสมัครตำแหน่งอธิการบดีหรือ และในขั้นตอนก็มีคณะกรรมการตรวจสอบประวัติหมดแล้ว ถ้าผมทำอะไรผิดเขาจะเลือกผมหรือ เรื่องกรรมการบริษัทอะไรนั้น มันเป็นเรื่องเล็กมาก มันจบไปตั้งนานแล้ว อย่าเอามาทำให้เป็นประเด็นอะไรเลย”รศ.ดร.บดินทร์ชี้แจง
(อ่านประกอบ: ยื่นถวายฎีกาปมตั้งอธิการม.เกษตรฯตั้งบ.ทำธุรกิจ–เจ้าตัวยันลาออกนานแล้ว)
เพื่อให้เห็นข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ สำนักข่าวอิศรา นำเอกสารข้อมูลทางธุรกิจทั้ง 2 แห่งมาเสนอให้เห็นอีกครั้ง
หนึ่ง บริษัท อินโฟเลิร์นนิ่ง จำกัด จดทะเบียนวันที่ 10 ม.ค.45 ทุน 1 ล้านบาท ประกอบธุรกิจแนะแนวศึกษาต่อต่างประเทศ ที่ตั้งเลขที่ 51/3 อาคารวิภาวดีทาวเวอร์ชั้น 19 ห้อง 6 ถ.งามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ
ในช่วงก่อตั้งมีหุ้นส่วน 7 คน
1.นายธนชัย กันตจินดา 3,000 หุ้น 2.นางศศิวิมล ศรีเจริญจิตร์ (มีอำพล) 3,000 หุ้น 3.นายบดินทร์ รัศมีเทศ 3,996 หุ้น ที่เหลือ นายศุภกฤษ์ สุขสมาน นายชูศักดิ์ ศรีเจริญจิตร์ นายพงศธร จันทน์พยอม และนายสุนัย แผ่นดินทอง คนละ 1 หุ้น รวม 10,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท มีนายธนชัย กันตจินดา นางศศิวิมล ศรีเจริญจิตร์ (มีอำพล) นายบดินทร์ รัศมีเทศ และ นายศุภกฤษ์ สุขสมาน เป็นกรรมการ และเป็นกรรมการเรื่อยมา (ดูเอกสาร)
บริษัทฯเปลี่ยนแปลงกรรมการครั้งล่าสุด วันที่ 13 ธ.ค.56 มีกรรมการ 3 คือ นายธนชัย กันตจินดา นายศยาม เกษะโกมล และนายชูศักดิ์ ศรีเจริญจิตร์ เป็นกรรมการ
ขณะที่รายชื่อผู้ถือหุ้นครั้งล่าสุด ณ 30 เม.ย.57 ผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 รายคือ
1.นายธนชัย กันตจินดา 3,000 หุ้น
2.รศ.ดร. ศศิวิมล มีอำพล 3,000 หุ้น
3.รศ.ดร.บดินทร์ รัศมีเทศ 3,996 หุ้น
ที่เหลือ นายศุภกฤษ์ สุขสมาน นายชูศักดิ์ ศรีเจริญจิตร์ นายพงศธร จันทน์พยอม และนายสุนัย แผ่นดินทอง คนละ 1 หุ้น
สอง บริษัท อินโฟไมนิ่ง จำกัด จดทะเบียนวันที่ 23 มิถุนายน 2543 ทุนปัจจุบัน 2 ล้านบาท ประกอบธุรกิจ ขายปลีกเครื่องมือสื่อสาร, รับปรึกษาด้วยการจัดการ ที่ตั้งเลขที่เดียวกัน มีนายบดินทร์ รัศมีเทศ ถือหุ้นใหญ่ 7,995 หุ้น จากทั้งหมด 10,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท มีนายบดินทร์ รัศมีเทศ และ นายศุภฤกษ์ สุขสมาน เป็นกรรมการ
สำเนาผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 30 เม.ย.53 นายศุภกฤษ์ สุขสมาน ถือ 7,000 หุ้น นายบดินทร์ รัศมีเทศ 12,995 หุ้น จากทั้งหมด 20,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท นายศุภกฤษ์ สุขสมาน นายบดินทร์ รัศมีเทศ เป็นกรรมการ
ณ 30 เม.ย. 57 นายธนชัย กันตจินดา 12,995 หุ้น (64.97%) นายศุภฤกษ์ สุขสมาน 6,999 หุ้น (34.99%) นางสาวเยี่ยมรัตน์ จิตรดอน 5 หุ้น และ นายศยาม เกษะโกมล 1 หุ้น นายศยาม เกษะโกมล และ นายธนชัย กันตจินดา เป็นกรรมการ
จากข้อมูลเห็นได้ว่า
1.บริษัท อินโฟเลิร์นนิ่ง จำกัด รศ.ดร. (นาย) บดินทร์ เป็นผู้ก่อตั้งปี 45 มีตำแหน่งเป็นกรรมการ และถือหุ้นใหญ่ กระทั่ง ลาออกจากกรรมการในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.56 แต่ยังคงถือหุ้นใหญ่เรื่อยมาจนถึงล่าสุด 30 เม.ย.57
2. บริษัท อินโฟไมนิ่ง จำกัด รศ.ดร.บดินทร์ เป็นผู้ก่อตั้ง ปี 43 เป็นกรรมการ และถือหุ้นใหญ่เรื่อยมาจนถึงเดือน เม.ย.53 ล่าสุด 30 เม.ย. 57 ไม่ปรากฏชื่อ รศ.ดร.บดินทร์ ถือหุ้นและเป็นกรรมการ
3.พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนปี พ.ศ.2535 มาตรา 96 บัญญัติว่า "ข้าราชการพลเรือนสามัญต้องไม่เป็นกรรมการผู้จัดการ หรือ ผู้จัดการ หรือ ดำรงตำแหน่งอื่นใด ที่มีลักษณะงานคล้ายคลึงกันนั้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท"
และ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 มาตรา 43 บัญญัติว่า “ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาต้องไม่เป็นกรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือดำรงตำแหน่งอื่นที่มีลักษณะงานคล้ายคลึงกันนั้น ในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท เว้นแต่เป็นการปฏิบัติราชการหรือได้รับมอบหมายจากอธิบดี” (ดูเอกสาร)
การมีตำแหน่ง “กรรมการ”ในบริษัทข้างต้น ในห้วงก่อนหน้านี้ (ก่อนที่จะลาออกในเวลาต่อมา) ขัดต่อข้อห้ามตาม พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ ปี 35 และ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 มาตรา 43 หรือไม่?
เป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องต้องไขความกระจ่างกันต่อไป