นักกม.แนะแก้พ.ร.บ.แข่งขันฯ ควรเพิ่มการทำผิดนอกอาณาเขตเข้าไปด้วย
สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นปรับปรุงพ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า 2542 ใน 8 ประเด็น อดีตคณบดีนิติศาสตร์ จุฬาฯ- นักกม.สภาอุตฯ เห็นพ้องดึงรัฐวิสาหกิจเข้าอยู่ในกม.ฉบับนี้ องค์ประกอบคณะกก. ทำงานเต็มเวลา มีความเป็นมืออาชีพ
วันที่ 28 ตุลาคม สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น เพื่อปรับปรุงพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า 2542 ณ ห้องริชมอนด์ บอลรูม ชั้น 4 โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี ทั้งนี้จะมีการนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะไปใช้ในการปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวถึงระบบการค้าของไทย เป็นระบบการค้าเสรี หลักการที่สำคัญ คือ การค้าต้องมีความเป็นธรรม ดำเนินธุรกิจและอยู่ร่วมกันได้ตามกฎ กติกา ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งการมีกฎหมายแข่งขันทางการค้า นับเป็นเครื่องมือหนึ่งในการจัดการการค้าที่ไม่เป็นธรรมในประเทศไทย
“กฎหมายแข่งขันทางการค้า ที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2542 ถึงวันนี้เป็นเวลา 15 ปี ยอมรับว่า การบังคับใช้ยังไม่ดีเท่าที่ควร แต่สามารถทำให้ดีขึ้นได้ด้วยการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้เข้ากับเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงไป”
ด้านศาสตราจารย์ดร.ศักดา ธนิตกุล อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการปรับปรุงกฎหมายการแข่งขันทางการค้าให้มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้ โดยเฉพาะการกำหนดโทษให้ต้องคิดคุก หรือนำกฎหมายอาญามาจับเข้าองค์ประกอบ ถือว่า ผิด นั้น เห็นว่าเรา จำเป็นต้องนำหลักเศรษฐศาสตร์ และการประกอบธุรกิจเข้ามาพิจารณาด้วย
ขณะที่การปรับปรุงกฎหมายในอนาคต จะกำหนดให้รัฐวิสาหกิจเข้ามาอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้นั้น ศ.ดร.ศักดา กล่าวว่า ประเทศไทยมีรัฐวิสาหกิจ 59 แห่ง หากมีการแปรรูป รัฐวิสาหกิจเหล่านี้ก็ต้องตกอยู่ภายใต้วินัยการแข่งขันเพื่อให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงต้องมีการกำกับดูแลที่ดี โดยทางทฤษฎีรัฐวิสาหกิจควรอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ รวมถึงเป็นการสร้างความยุติธรรมกับภาคเอกชน
“รัฐวิสาหกิจบางแห่งที่มีเป้าหมายทำเพื่อสังคม ก็ต้องแยกออกไป ไม่ควรมองประเด็นแค่เป็นบริษัทมหาชน หรือไม่เท่านั้น” ศ.ดร.ศักดา กล่าว และว่า แนวคิดปรับปรุงให้องค์กรกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้า เป็นองค์กรอิสระก็สามารถยึดโมเดล สำนักงาน กสทช. ได้นับว่า ใกล้เคียงที่สุด มากกว่าสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ( คปภ.) รวมไปถึงการปรับปรุงกฎหมายแข่งขันทางการค้า องค์ประกอบของคณะกรรมการฯ ก็ต้องทำงานแบบเต็มเวลา มีความเป็นมืออาชีพ จำนวนไม่ควรมีเกิน 5 คน มากสุดไม่ควรเกิน 7 คน อีกทั้งงบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันฯ รัฐบาลควรจัดสรรมาไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท
“ประเด็นการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายแข่งขันฯ ควรเพิ่มการกระทำผิดนอกอาณาเขต รองรับการเปิดประชาคมอาเซียน เข้าไปในกฎหมายด้วย จากปัจจุบันไม่มีระบุไว้ เพราะหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ นอกจากดูแลการแข่งขันทางการค้าในประเทศให้ดีแล้ว จำเป็นต้องคำนึงด้วยว่า เวลาคนของเราออกไปทำธุรกิจนอกประเทศ ก็ต้องตามไปดู หรือคนข้างนอกมาทำธุรกิจแข่งกับธุรกิจในประเทศ ก็ต้องดูแลด้วยเช่นกัน”
ขณะที่นายรัฐไกร ลิ้มศิริตระกูล กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการกฎหมาย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงประเด็นดึงรัฐวิสาหกิจเข้ามาอยู่ในกฎหมายแข่งขันทางการค้าเพื่อให้อยู่ภายใต้กรอบกติกาเดียวกัน พร้อมกับเชื่อว่า การแข่งขันจะทำให้การประกอบธุรกิจมีประสิทธิภาพขึ้น เช่น การบริการของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ที่ดีขึ้นมากเนื่องจากมีการเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาทำธุรกิจ ตลาดมีการแข่งขัน นี่จึงเป็นตัวชี้ชัดว่า การแข่งขันทำให้บริการดีขึ้น
“ไม่ติดใจว่า รัฐวิสาหกิจ จะเป็นบริษัทจำกัด หรือมหาชนที่จะเข้ามาอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ ขอให้เป็นรัฐวิสาหกิจที่ประกอบธุรกิจแข่งกับภาคเอกชน เพราะรัฐวิสาหกิจมีแต้มต่อ มีสิทธิพิเศษบางประการ ฉะนั้นในมือข้างหนึ่งได้ประโยชน์แล้ว อีกมือหนึ่งควรเข้ามาอยู่ในกฎกติกาเดียวกัน”
ทั้งนี้ นายรัฐไกร ยังกล่าวถึงองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ ด้วยว่า ต้องมีความหลากหลาย รู้รอบด้านกฎหมาย เศรษฐศาสตร์ การค้า และต้องทำงานเต็มเวลา ขณะที่จำนวนเจ้าหน้าที่ งบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐก็ต้องมากเพียงพอ
“ส่วนการตั้งข้อสังเกต คณะกรรมการฯ ที่มีตัวแทนภาคเอกชนเข้ามานั้น ทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่ได้ผลนั้น ผมเห็นด้วยว่า ในหลักการกรรมการไม่ควรมีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่กรรมการภาคเอกชนสามารถให้มุมมองด้านการค้า ด้านธุรกิจ หรือไว้คอยให้คำปรึกษาได้ ซึ่งหากมากเกินไปก็ลดจำนวนลง หรืออาจเปลี่ยนในรูปเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาได้”
นายรัฐไกร กล่าวด้วยว่า กฎหมายแข่งขันทางการค้า คือกฎหมายที่พยายามรักษาการแข่งขันทางการค้าให้เป็นธรรม เปิดโอกาสให้คนเข้ามาแข่งขันในธุรกิจได้ ไม่ใช่กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ดังนั้นไม่จำเป็นต้องมีตัวแทนผู้บริโภคเข้ามานั่งในคณะกรรมการ มิเช่นนั้นจะกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งไป เพราะผู้บริโภคจะได้ประโยชน์ ถือเป็นผลพลอยได้จากการมีการแข่งขันทางการค้าที่ดี
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับประเด็นการพิจารณาปรับปรุงพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า 2542 มีทั้งหมด 8 ประเด็น ได้แก่
1.กำหนดให้การกระทำของรัฐวิสาหกิจตามกฎหมาว่าด้วยวิธีงบประมาณที่เป็นบริษัทมหาชนจำกัด ต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมาย 2.ให้สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันฯ เป็นองค์กรอิสระในการดำเนินงาน มีบุคลากร มีงบประมาณ เพียงพอ 3.แก้องค์ประกอบของคณะกรรมการฯ โดยลดจำนวนและมีการคัดสรรผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญด้านการแข่งขัน ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ รวมทั้งต้องปฏิบัติงานเต็มเวลา
4.ปรับปรุงคำนิยาม “ผู้ประกอบธุรกิจ” ให้มีความหมายรวมถึงบริษัทในเครือ 5.เพิ่มอำนาจหน้าที่คณะกรรมการฯ ให้มีอำนาจออกแนวทางปฏิบัติในเรื่องต่างๆ ตามกฎหมาย 6.ปรับแก้ไขมาตรา 26 วรรคสอง เกี่ยวกับการรวมธุรกิจ โดยเพิ่มปัจจัยในการกำหนดเกณฑ์การรวมธุรกิจในเรื่องมูลค่าของการรวมธุรกิจ (Size of Transaction) 7.กำหนดให้มีมาตรการลดหย่อนผ่อนโทษ เพื่อสนับสนุนการกลับใจไม่กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 27 กรณีตกลงร่วมกัน และ 8.ปรับบทกำหนดโทษในกรณีฝ่าฝืน มาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 27 (5) –(10) เป็นโทษปรับทางอาญา ส่วนมาตรา 29 ให้เป็นโทษปรับทางปกครอง และกรณีผิดตามมาตรา 27 (1) – (4) ยังคงมีโทษจำคุก และโทษปรับทางอาญาเช่นเดิม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ปรับปรุงทั้งที “ดร.เดือนเด่น” หวังดึง รสก. 57 แห่ง อยู่ภายใต้กม.แข่งขันทางการค้า