กรณีศึกษา"ขรก.สรรพสามิต"เกือบหมดอนาคตราชการ เพราะฝีมือใคร?
"..นางสาววีรยา ถูกยกเลิกการขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้และไม่มีสิทธิที่จะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งตั้งแต่วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๓ แล้ว กรณีจึงเป็นความผิดพลาดในการประสานงานกันระหว่างส่วนราชการที่เรียกข้าราชการมาบรรจุและส่วนราชการเจ้าของบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ ซึ่งหากกรมสรรพสามิตจะนำความผิดพลาดดังกล่าวมาเป็นผลร้ายต่อนางสาววีรยาฯ โดยเพิกถอนการบรรจุและแต่งตั้งนางสาววีรยา เข้ารับราชการ ย่อมไม่ถูกต้องและเป็นธรรม.."
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เผยแพร่ความเห็นทางกฎหมาย เรื่อง การมีคำสั่งให้ข้าราชการออกจากราชการ : กรณีบุคคลที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการ โดยส่วนราชการผู้บรรจุไม่ได้ตรวจสอบก่อนว่ายังเป็นผู้มีสิทธิได้รับการบรรจุและแต่งตั้งอยู่หรือไม่ ตามข้อหารือของกรมสรรพสามิตให้สาธารณชนได้รับทราบ
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เห็นว่าเรื่องนี้มีความน่าสนใจ และน่าจะเป็นอุทาหรณ์ที่ดี สำหรับความผิดพลาดของระบบราชการไทย ที่เกือบส่งผลร้ายแรงทำให้ชีวิตข้าราชการของหญิงสาวรายหนึ่ง ต้องจบสิ้นลง โดยไม่เป็นธรรม จึงนำมาเสนอต่อให้สาธารณชนได้รับทราบ ณ ที่นี้
โดยเรื่องราวนี้ ถูกเปิดเผยขึ้นจากการที่กรมสรรพสามิตได้มีหนังสือ ที่ กค ๐๖๐๓/๒๖๔๗๓ ลงวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๖ ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอหารือเกี่ยวกับการเพิกถอนคำสั่งทางปกครองและการจ่ายค่าตอบแทนกรณีมีคำสั่งให้ข้าราชการออกจากราชการ ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับเอกสารที่ส่งมาด้วยแล้ว
สรุปข้อเท็จจริงได้ ดังนี้
๑. กรมสรรพสามิตได้ขอใช้บัญชีรายชื่อผู้สอบแข่งขันได้ในตำแหน่งเจ้าพนักงานการเงินและบัญชีของกรมควบคุมโรคซึ่งประกาศขึ้นบัญชีไว้เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๓ ไปขึ้นบัญชีเป็นผู้สอบแข่งขันได้ในตำแหน่งเจ้าพนักงานธุรการปฏิบัติงาน ตำแหน่งเจ้าพนักงานสรรพสามิตปฏิบัติงาน และตำแหน่งเจ้าพนักงานการเงินและบัญชีปฏิบัติงาน ของกรมสรรพสามิต ซึ่งกรมควบคุมโรคได้จัดส่งบัญชีรายชื่อผู้สอบแข่งขันได้ให้กรมสรรพสามิตจำนวน ๓๘ ราย ตามหนังสือกรมควบคุมโรคที่ สธ ๐๔๐๒/๖๗๙๘ ลงวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
๒. กรมสรรพสามิตได้ดำเนินการคัดเลือก โดยแจ้งผู้สอบแข่งขันได้ดังกล่าวเพื่อให้ยื่นใบสมัครเข้ารับการคัดเลือก ซึ่งปรากฏว่ามีผู้ยื่นใบสมัครในตำแหน่งเจ้าพนักงานสรรพสามิตปฏิบัติงานเพียงรายเดียว คือ นางสาววีรยา มุ่งซ้อนกลาง
กรมสรรพสามิตจึงได้ดำเนินการประเมิน ความเหมาะสมกับตำแหน่ง โดยประกาศขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ และมีคำสั่ง ที่ ๒๒๗/๒๕๕๔ ลงวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๔ บรรจุและแต่งตั้งให้นางสาววีรยาฯ เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญในตำแหน่งเจ้าพนักงานสรรพสามิตปฏิบัติงาน มีผลตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๔ โดยในการนี้กรมสรรพสามิตได้มีหนังสือ ที่ กค ๐๖๑๘/๙๕๐๘ ลงวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ถึงกรมควบคุมโรคแจ้งให้ทราบผลการดำเนินการกรณีดังกล่าวด้วย
๓. ต่อมากรมควบคุมโรคได้มีหนังสือ ที่ สธ ๐๔๐๒/๒๘๓๔ ลงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ถึงกรมสรรพสามิต แจ้งให้ทราบว่ากรมควบคุมโรคได้ตรวจสอบสิทธิที่จะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งของนางสาววีรยาฯ แล้ว ปรากฏว่านางสาววีรยาฯ ถูกยกเลิกการขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้
ในตำแหน่งเจ้าพนักงานการเงินและบัญชีปฏิบัติงานของกรมควบคุมโรค และไม่มีสิทธิที่จะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งตั้งแต่วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๓ แล้ว เนื่องจากกรมควบคุมโรคได้เรียกให้นางสาววีรยาฯ มารายงานตัวเพื่อรับการบรรจุเข้ารับราชการ
แต่นางสาววีรยาฯ ไม่มารายงานตัวภายในเวลาที่กรมควบคุมโรคกำหนด
๔. กรมสรรพสามิตจึงได้มีหนังสือ ที่ กค ๐๖๑๘/๑๔๗๑๙ ลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ถึงสำนักงาน ก.พ. ขอหารือเกี่ยวกับสิทธิของนางสาววีรยาฯ ที่จะเข้ารับการประเมินความเหมาะสมกับตำแหน่งเจ้าพนักงานสรรพสามิตปฏิบัติงาน รวมทั้งในประเด็นว่าการถูกยกเลิกการขึ้นบัญชีเป็นผู้สอบแข่งขันได้ของนางสาววีรยาฯ มีผลทำให้ต้องยกเลิกคำสั่งบรรจุและแต่งตั้งใช่หรือไม่ และกรณีที่คำสั่งบรรจุและแต่งตั้งถูกยกเลิกไปแล้ว นางสาววีรยาฯ จะต้องคืนเงินเดือนและเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวที่ได้รับตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๔ จนถึงปัจจุบันหรือไม่
๕. สำนักงาน ก.พ. ได้มีหนังสือ ที่ นร ๑๐๐๔.๒/๑๙๕๙ ลงวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๔ ถึงกรมสรรพสามิต แจ้งความเห็นว่า การถูกยกเลิกการขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ของกรมควบคุมโรคของนางสาววีรยาฯ มีผลทำให้นางสาววีรยาฯ ไม่มีสิทธิได้รับการบรรจุในตำแหน่งเจ้าพนักงานสรรพสามิตปฏิบัติงานของกรมสรรพสามิต จึงต้องยกเลิกคำสั่งบรรจุ ซึ่งนางสาววีรยาฯ อาจขออนุมัติขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ไว้ตามเดิมต่อกรมควบคุมโรคได้ แต่จะได้รับอนุมัติขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ตามเดิมหรือไม่ เป็นการพิจารณาของกรมควบคุมโรค
ส่วนการจะคืนเงินเดือนและเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวที่ได้รับตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๔ จนถึงปัจจุบันหรือไม่ นั้น ขอให้กรมสรรพสามิตตรวจสอบจากพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ต่อไป
๖. เมื่อได้รับความเห็นของสำนักงาน ก.พ. ดังกล่าวในวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๔ แล้ว กรมสรรพสามิตจึงได้ระงับการเบิกจ่ายเงินเดือนและเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวของนางสาววีรยาฯ ตั้งแต่เดือนกันยายน ๒๕๕๔ และได้มีคำสั่ง ที่ ๕๕๓/๒๕๕๔ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๔ ให้นางสาววีรยาฯ ออกจากราชการเพราะถูกยกเลิกการขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ โดยให้คำสั่งให้ออกจากราชการมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๔
ซึ่งนางสาววีรยาฯ ได้รับทราบคำสั่งเมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๕๔ และได้มีหนังสือลงวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๔ อุทธรณ์คำสั่งให้ออกจากราชการ เนื่องจากเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม และไม่เป็นธรรม และทำให้ไม่ได้รับเงินเดือนของเดือนกันยายน ๒๕๕๔
โดยกระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า การยื่นอุทธรณ์ของนางสาววีรยาฯ มิใช่การร้องทุกข์ตามมาตรา ๑๒๒ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑
เพราะขณะยื่นหนังสือโต้แย้งคำสั่งให้ออกจากราชการ นางสาววีรยาฯ ไม่มีสถานะความเป็นข้าราชการแล้ว
อีกทั้งมิใช่การใช้สิทธิอุทธรณ์ตามมาตรา ๑๑๔ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ เพราะเหตุแห่งการให้ออกจากราชการในกรณีนี้ไม่เข้าเงื่อนไขการยื่นอุทธรณ์ตามมาตราดังกล่าว แต่พิจารณาได้ว่าการมีหนังสือโต้แย้งคำสั่งของนางสาววีรยาฯ เป็นการยื่นอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ การพิจารณาอุทธรณ์จึงต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าว
จากข้อเท็จจริงข้างต้น กรมสรรพสามิตในฐานะหน่วยงานผู้ทำคำสั่งทางปกครองและอยู่ระหว่างการพิจารณาคำอุทธรณ์ในชั้นแรกตามมาตรา ๔๕ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ จึงขอหารือคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองในประเด็นดังต่อไปนี้
๑. หากกรมสรรพสามิตจะยกเลิกคำสั่งให้ออกจากราชการซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายที่เป็นการสร้างภาระตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ มาตรา ๕๓ วรรคหนึ่ง แล้วออกคำสั่งใหม่เป็นการเพิกถอนคำสั่งบรรจุและแต่งตั้งเดิมซึ่งเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายที่เป็นการให้ประโยชน์อย่างอื่นที่มิใช่เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ที่อาจแบ่งแยกได้ตามมาตรา ๕๒ โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่กรมสรรพสามิตมีคำสั่งบรรจุและแต่งตั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับความเห็นของสำนักงาน ก.พ. การดำเนินการดังกล่าวจะต้องกระทำภายใน ๙๐ วัน
นับแต่วันที่ได้รู้ถึงเหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งบรรจุและแต่งตั้ง ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ มาตรา ๔๙ วรรคสอง หรือไม่
๒. นางสาววีรยาฯ มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนและเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๔ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๔ หรือไม่ และจะต้องนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมาปรับใช้แก่กรณีดังกล่าวคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้พิจารณาเรื่องดังกล่าว โดยมี ผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักงาน ก.พ.) ผู้แทนกระทรวงการคลัง (กรมสรรพสามิต) และผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข (กรมควบคุมโรค) เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดข้อเท็จจริงแล้ว
ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า เหตุที่กรมสรรพสามิตขอหารือเกี่ยวกับการยกเลิกคำสั่งให้นางสาววีรยา มุ่งซ้อนกลาง ออกจากราชการและจะออกคำสั่งใหม่เป็นเพิกถอนการบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการนั้น
เนื่องจากเห็นว่า การมีคำสั่งให้ออกจากราชการอาจจะไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงแห่งกรณี
เพราะกรณีนี้นางสาววีรยาฯ มิได้ไปรายงานตัวเพื่อรับการบรรจุเข้ารับราชการภายในระยะเวลาที่กรมควบคุมโรคกำหนด จึงถูกยกเลิกการขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ทำให้ไม่มีสิทธิได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง ซึ่งไม่เข้าเหตุที่จะให้ออกจากราชการตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑
อีกประการหนึ่ง การมีคำสั่งให้ออกจากราชการมีผลกระทบต่อประวัติของนางสาววีรยาฯ โดยปรากฏว่า หลังออกจากราชการไปแล้ว นางสาววีรยาฯ ได้ไปสมัครงานที่หน่วยงานของรัฐแห่งอื่น แต่ถูกปฏิเสธเนื่องจากมีประวัติว่าเคยถูกสั่งให้ออกจากราชการมาก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรมต่อนางสาววีรยาฯ
ด้วยเหตุผลดังกล่าว กรมสรรพสามิตจึงมีแนวคิดที่จะยกเลิกคำสั่งให้ออกจากราชการและมีคำสั่งใหม่เป็นการเพิกถอนการบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการ อย่างไรก็ดี กรมสรรพสามิตมีข้อสงสัยว่าการเพิกถอนคำสั่งบรรจุและแต่งตั้งจะยังคงกระทำได้หรือไม่
เพราะปัจจุบันได้ล่วงเลยระยะเวลา ๙๐ วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งความเห็นของสำนักงาน ก.พ. ที่ให้ยกเลิกคำสั่งบรรจุและแต่งตั้งไปแล้ว อันถือเป็นวันที่กรมสรรพสามิตได้รู้ถึงเหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งบรรจุและแต่งตั้งตามมาตรา ๔๙ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ และกรณีนี้ไม่น่าจะเข้าข้อยกเว้นให้เพิกถอนคำสั่งได้โดยไม่มีกำหนดเวลา
เพราะไม่ปรากฏว่านางสาววีรยาฯ ได้แสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงที่ควรบอกให้แจ้ง เพื่อให้กรมสรรพสามิตทำคำสั่งบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการแต่อย่างใด
แต่ความผิดพลาดของคำสั่งบรรจุและแต่งตั้งเกิดจากการที่กรมสรรพสามิตมิได้ตรวจสอบกับกรมควบคุมโรคซึ่งเป็นส่วนราชการเจ้าของบัญชีผู้สอบแข่งขันได้เสียก่อนว่านางสาววีรยาฯ ยังคงมีสิทธิที่จะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งอยู่หรือไม่ ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการในการนำรายชื่อผู้สอบแข่งขันได้ในตำแหน่งหนึ่งไปขึ้นบัญชีเป็นผู้สอบแข่งขันได้ในตำแหน่งอื่น ส่งพร้อมหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร ๑๐๐๔.๑/ว ๑๕ ลงวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๑
คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองพิจารณาข้อหารือของกรมสรรพสามิต ประกอบกับข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นแล้ว มีความเห็นในแต่ละประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง หากกรมสรรพสามิตจะยกเลิกคำสั่งให้นางสาววีรยาฯ ออกจากราชการและออกคำสั่งใหม่เพิกถอนคำสั่งบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการ การเพิกถอนจะต้องกระทำภายใน ๙๐ วันนับแต่วันที่ได้รู้ถึงเหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งบรรจุและแต่งตั้งตามมาตรา ๔๙ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ หรือไม่ นั้น
การพิจารณาประเด็นนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยในเบื้องต้นก่อนว่า กรมสรรพสามิตมีอำนาจตามกฎหมายในการออกคำสั่งให้นางสาววีรยาฯ ออกจากราชการหรือเพิกถอนคำสั่งบรรจุและแต่งตั้งนางสาววีรยาฯ เข้ารับราชการโดยอาศัยเหตุที่ว่านางสาววีรยาฯ ถูกยกเลิกการขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้เพราะไม่มารายงานตัวต่อกรมควบคุมโรคซึ่งเป็นส่วนราชการเจ้าของบัญชีหรือไม่
แม้การยกเลิกการขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ของกรมควบคุมโรคทำให้ไม่สามารถบรรจุนางสาววีรยาฯ เข้ารับราชการเป็นข้าราชการของกรมสรรพสามิตได้
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ แล้ว ไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติมาตราใด ที่กำหนดให้อำนาจผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งในการสั่งให้ข้าราชการออกจากราชการด้วยเหตุที่คำสั่งบรรจุและแต่งตั้งผิดหลงเพราะผู้ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการถูกยกเลิกการขึ้นบัญชีเป็นผู้สอบแข่งขันได้เนื่องจากไม่มารายงานตัวต่อส่วนราชการเจ้าของบัญชีภายในเวลาที่กำหนด
ส่วนการเพิกถอนการบรรจุและแต่งตั้งนางสาววีรยาฯ เข้ารับราชการโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติว่าด้วยการเพิกถอนคำสั่งทางปกครองในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ นั้น
การใช้อำนาจเพิกถอนการบรรจุและแต่งตั้งย่อมต้องพิจารณาจากบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับแก่การบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ ตลอดจนบทบัญญัติของกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวประกอบด้วยว่ามีเหตุที่อาจเพิกถอนการบรรจุและแต่งตั้งหรือไม่ เห็นว่า ตามหลักเกณฑ์และวิธีการในการนำรายชื่อผู้สอบแข่งขันได้ในตำแหน่งหนึ่งไปขึ้นบัญชีเป็นผู้สอบแข่งขันได้ในตำแหน่งอื่น ส่งพร้อมหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร ๑๐๐๔.๑/ว ๑๕ ลงวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๑ ข้อ ๖ ได้กำหนดว่า ในการเรียกผู้ได้ขึ้นบัญชี เป็นผู้สอบแข่งขันได้มารายงานตัวเพื่อรับการบรรจุ ให้ส่วนราชการที่จะเรียกผู้สอบแข่งขันได้มาบรรจุตรวจสอบกับส่วนราชการเจ้าของบัญชีเสียก่อนว่าผู้ที่จะเรียกมารายงานตัวนั้นยังคงมีสิทธิที่จะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งหรือไม่
จากหลักเกณฑ์ตามหนังสือของสำนักงาน ก.พ. ดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ต้องตรวจสอบเกี่ยวกับสิทธิของผู้สอบแข่งขันได้ในการได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้เป็นที่แน่ชัดก่อนดำเนินการบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการ หากปรากฏว่าผู้สอบแข่งขันได้รายใดไม่มีสิทธิที่จะได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง
ส่วนราชการก็ชอบที่จะไม่ดำเนินการบรรจุและแต่งตั้งผู้นั้นเข้ารับราชการ กรณีตามข้อหารือนี้ กรมสรรพสามิตในฐานะส่วนราชการที่จะเรียกข้าราชการมาบรรจุจึงมีหน้าที่ตรวจสอบกับกรมควบคุมโรคซึ่งเป็นส่วนราชการเจ้าของบัญชีก่อนว่านางสาววีรยาฯ ยังคงมีสิทธิที่จะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งหรือไม่ แต่ปรากฏว่ากรมสรรพสามิตมิได้ตรวจสอบกับกรมควบคุมโรคก่อนแต่อย่างใด แต่ได้มีคำสั่ง ที่ ๒๒๗/๒๕๕๔ ลงวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๔ บรรจุและแต่งตั้งนางสาววีรยาฯ เข้ารับราชการในตำแหน่งเจ้าพนักงานสรรพสามิตปฏิบัติงาน และต่อมา
จึงได้รับแจ้งจากกรมควบคุมโรคว่านางสาววีรยาฯ ถูกยกเลิกการขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้และไม่มีสิทธิที่จะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งตั้งแต่วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๓ แล้ว กรณีจึงเป็นความผิดพลาดในการประสานงานกันระหว่างส่วนราชการที่เรียกข้าราชการมาบรรจุและส่วนราชการเจ้าของบัญชีผู้สอบแข่งขันได้
ซึ่งหากกรมสรรพสามิตจะนำความผิดพลาดดังกล่าวมาเป็นผลร้ายต่อนางสาววีรยาฯ โดยเพิกถอนการบรรจุและแต่งตั้งนางสาววีรยาฯ เข้ารับราชการ ย่อมไม่ถูกต้องและเป็นธรรมแก่นางสาววีรยาฯ เพราะเป็นความผิดพลาดของกรมสรรพสามิตเองที่ไม่ตรวจสอบให้รอบคอบเสียก่อนว่านางสาววีรยาฯ ยังคงเป็นผู้มีสิทธิที่จะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งอยู่หรือไม่ในวันที่ทำคำสั่งบรรจุและแต่งตั้งนั้น
ดังนั้น กรมสรรพสามิตจึงไม่อาจสั่งให้นางสาววีรยาฯ ออกจากราชการหรือเพิกถอนการบรรจุและแต่งตั้งนางสาววีรยาฯ เข้ารับราชการได้ การที่กรมสรรพสามิตจะยกเลิกคำสั่งให้นางสาววีรยาฯ ออกจากราชการและทำคำสั่งใหม่เป็นเพิกถอนการบรรจุและแต่งตั้ง จึงไม่อาจกระทำได้ กรมสรรพสามิตในฐานะเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ชอบที่จะวินิจฉัยอุทธรณ์ในทางที่ให้ความเป็นธรรมแก่นางสาววีรยาฯ ผู้อุทธรณ์คำสั่งให้ออกจากราชการ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๔๖ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ เพิกถอนคำสั่งกรมสรรพสามิต ที่ ๕๕๓/๒๕๕๔ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๔ ที่ให้นางสาววีรยาฯ ออกจากราชการ รวมทั้งพิจารณามีคำสั่งให้นางสาววีรยาฯ กลับเข้ารับราชการ และพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ที่นางสาววีรยาฯ พึงจะได้รับนับแต่วันที่ออกจากราชการจนถึงวันที่สั่งให้กลับเข้ารับราชการด้วย
ประเด็นที่สอง เมื่อได้วินิจฉัยในประเด็นที่หนึ่งแล้วว่ากรมสรรพสามิตไม่อาจออกคำสั่งให้นางสาววีรยาฯ ออกจากราชการได้ เมื่อกรมสรรพสามิตได้มีคำสั่งให้นางสาววีรยาฯ กลับเข้ารับราชการแล้ว สิทธิของนางสาววีรยาฯ ที่จะได้รับเงินเดือนหรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ย่อมเป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังที่เกี่ยวข้อง
---------
นี่คือ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดกรณีหนึ่ง ต่อ ปัญหาการดำเนินงานในระบบราชการไทย ที่เกือบทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งหมดอนาคตลงไปโดยไม่เป็นธรรม ซึ่งมันถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการปฏิรูป และ เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างจริงจังเสียที!