หนึ่งปีที่น้ำตายังไม่หยุดไหล...หนึ่งปีแห่งความอาลัย "หมวดแชน"
"ทุกครั้งที่พูดเรื่องราวของพี่แชนก็อดน้ำตาไหลไม่ได้ แต่ก็รู้สึกดีที่ยังมีคนถามถึง มีคนนึกถึง รู้สึกว่าพี่แชนไม่ใช่วีรบุรุษ 7 วัน หรือวีรบุรุษ 5 นาที แม้ต้องเสียน้ำตาที่จะเล่าให้ฟัง"
เป็นคำกล่าวปนสะอื้นของ นันทวรรณ วรงคไพสิฐ ภรรยาคู่ชีวิตของ พล.ต.ท.แชน วรงคไพสิฐ หรือ "หมวดแชน" ตำรวจนักกู้ระเบิดคนดังที่ต้องสละชีพขณะปฏิบัติหน้าที่ปลดชนวนระเบิดลูกสุดท้ายของชีวิต เพื่อช่วยเหลืออีกหลายชีวิตให้อยู่รอดปลอดภัย ที่หมู่ 4 ต.กาเยาะมาตี อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เมื่อเช้าวันที่ 28 ต.ค.ปีที่แล้ว
เหตุระเบิดในครั้งนั้นคร่าชีวิตเจ้าหน้าที่หน่วยเก็บกู้ทำลายวัตถุระเบิด หรือ อีโอดี เจ้าของรหัส "เหยี่ยวดง 60" ไปถึง 3 นาย นอกจากหมวดแชนแล้วยังมี ร.ต.ต.จรูญ เมฆเรือง และ จ.ส.ต.นิมิตร ดีวงศ์ ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่ฝีมือระดับพระกาฬ
จากสถิติที่เก็บรวบรวมโดยศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) พบว่าตลอด 10 ปีไฟใต้ (ต้นปี 47 ถึงสิ้นปี 56) มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตไป 339 นาย เฉพาะปี 56 ที่ต้องสูญเสียหมวดแชนจากการปฏิบัติหน้าที่ มีตำรวจต้องสังเวยชีวิตถึง 36 นาย มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 51 เป็นต้นมา
ขณะที่สถิติเหตุระเบิดตลอด 10 ปีไฟใต้มีทั้งสิ้น 2,764 เหตุการณ์ เฉพาะปี 56 จำนวน 286 เหตุการณ์ ตัวเลขนี้ไม่นับรวมวัตถุระเบิดที่เก็บกู้ได้สำเร็จ ซึ่งประมาณกันว่ามีนับพันลูกเช่นกัน และในจำนวนนั้นมากกว่า 300 ลูกเป็นฝีมือของหมวดแชน
หลายคนจึงเชื่อว่าการเสียชีวิตของหมวดแชนและเพื่อนอีโอดีด้วยระเบิดแสวงเครื่องที่ต่อวงจรซ้อนถึง 3 ชั้น คนร้ายต้องหมายปลิดชีวิตพวกเขาให้พ้นทางนักกู้ระเบิด
และวันนี้ครบรอบ 1 ปีการจากไปของ "หมวดแชน" ซึ่งตลอด 1 ปีที่ผ่านมาครอบครัวของเขายังไม่หยุดเสียน้ำตา...
"ถ้าถามว่าสภาพชีวิตเป็นอย่างไร ดีขึ้นบ้างไหม...แน่นอนชีวิตคนเราต้องอยู่และเดินไปข้างหน้า ต้องต่อสู้กับปัญหาที่ผ่านเข้ามา แรกๆ พี่แย่มากถึงขั้นต้องกินยานอนหลับ ตอนนี้ก็พยายามนอนช้า จะได้ตื่นช้า ตื่นมาจะได้ไปทำงานทันที พอไปทำงานเรามีเพื่อน มีงานให้ทำ ก็จะรู้สึกว่าดีขึ้น ดีกว่าอยู่บ้านคนเดียว ถ้าวันไหนตื่นเร็วจะรู้สึกแย่และทรมานมาก" นันทวรรณเล่าถึงชีวิตประจำวันของเธอตลอดช่วงเวลาที่สามีจากไป
ทุกวันนี้ นันทวรรณ อาศัยอยู่กับมารดาและลูกสาวที่เป็นพยาบาลอยู่โรงพยาบาลระแงะ จ.นราธิวาส โดยเธอยังทำงานที่สถานีอนามัยบ้านตอหลัง อ.ระแงะ เช่นเดิม ส่วนลูกคนเล็กยังอยู่ในวัยเรียน
"ตอนที่พี่แชนยังอยู่ เราเคยคุยกันว่าจะลาออกมาทำสวน เพราะพี่ชอบทำสวน แต่เมื่อเป็นแบบนี้ก็เลยไม่ได้ทำ พี่คิดว่าการทำงานจะช่วยเยียวยาจิตใจเรา อย่างที่หลายคนเคยพูดไว้ว่าเวลาจะช่วยได้ พี่ก็คิดว่าจริงนะ ก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่พี่คิดว่ายิ่งนานวันพี่ยิ่งคิดถึงพี่แชนมากขึ้น รู้สึกว่าเขายังอยู่ ไม่ได้ไปไหน ข้าวของทุกอย่างของพี่แชนเคยอยู่ที่ไหน อยู่อย่างไร พี่ก็เก็บที่เดิม เพราะเราคิดว่าเดี๋ยวเขาก็กลับ"
"พี่พยายามไม่ดูข่าว ไม่รับรู้โลกภายนอก แม้กระทั่งจุดเกิดเหตุของพี่แชน และสภาพพี่แชนเป็นแบบไหน พี่ก็ไม่รับรู้ เวลานั่งรถไปไหนมาไหนกับเพื่อน เพื่อนก็จะบอกว่าตรงนี้ๆ ที่เกิดเหตุ พี่ก็จะบอกว่าไม่เอา ไม่รับรู้ ไม่ดู ไม่พูดเรื่องนี้ พี่รับไม่ได้"
อย่างไรก็ดี นันทวรรณ บอกว่า การใช้ชีวิตแบบช่วยเหลือตัวเองมากขึ้นของเธอ ไม่ได้ทำให้รู้สึกลำบาก เพราะการเป็นภรรยาของอีโอดี ก็ต้องเป็นหลักของครอบครัวแทนสามีอยู่แล้ว
"เมื่อสัก 5-6 ปีก่อนพี่ขับรถไม่เป็นนะ" เธอยกตัวอย่าง และว่า "แต่ด้วยงานของพี่แชน ทำให้พี่และลูกๆ ต้องขับรถให้เป็น เพราะเวลาเราไปไหนด้วยกัน พี่แชนมีงานด่วนพี่จะได้ขับรถกลับ เวลามีงานพี่แชนจะก็กระโดดลงจากรถไปทำงานทันที ถ้าพี่ขับไม่เป็นพี่ก็ต้องนั่งเฝ้ารถ ก็เหมือนบังคับว่าต้องขับรถเป็นกันทุกคน"
"ถามว่าอยู่ได้ไหม ก็อยู่ได้นะ เราเป็นคนไม่ได้มีเงินมากมาย เรามีหนี้ มีภาระ ถือเป็นเรื่องธรรมดาของคนที่ไม่ได้เกิดมาร่ำรวย"
เธอเล่าต่อถึงบ้านที่เธออยู่ ซึ่งเป็นบ้านที่อยู่ร่วมกับสามีก่อนเสียชีวิต และไม่ยอมย้าย เพราะต้องการอยู่ในบรรยากาศเดิมๆ
"จริงๆ บ้านที่อยู่ตอนนี้ไม่ใช่บ้านเดิมของพี่ แต่เป็นหลังที่เราอยู่ด้วยกันตอนที่พี่แชนยังอยู่ บ้านพี่จริงๆ อยู่ตันหยงลิมอ (อ.ระแงะ) ส่วนบ้านพี่แชนอยู่ อ.เมืองนราธิวาส เราสร้างบ้านที่ อ.เมือง แต่พี่แชนเป็นโรคภูมิแพ้ หอบ และความดัน เราก็เลยคุยกันว่าจะหาที่ที่อากาศบริสุทธิ์ เราก็เลยมาอยู่ที่นี่ พอมาอยู่ทุกคนก็รักพี่แชนเหมือนญาติ เพราะพี่แชนดีกับทุกคน ตอนนี้เวลาพี่ไปไหนก็ยังมีคนถามถึงพี่แชน พี่ก็รู้สึกดีนะ แม้จะทำให้พี่ร้องไห้ออกมาก็ตาม"
แต่ก็อย่างที่นันทวรรณบอก คือชีวิตต้องเดินต่อไป และมีเรื่องราวอีกมากมายที่ต้องเจอ วันนี้เธอจึงเก็บสามีไว้ในความทรงจำอันแสนดี
"พี่ภูมิใจในตัวพี่แชนมาก เพราะพี่แชนเป็นคนดีของแผนดิน พี่แชนเป็นข้าราชการดีเด่น เป็นตำรวจดีเด่น และเป็นนักกู้ระเบิดที่ดีที่สุด ที่สำคัญคือเขาเสียสละ ทำหน้าที่อย่างสุดกำลัง แต่เมื่อกลับบ้านก็เป็นพ่อที่ดี ทุกเททุกอย่างให้กับครอบครัว"
แม้น้ำตาของนันทวรรณจะยังไม่หยุดไหล แต่น้ำตานั้นแปรเปลี่ยนจากความเศร้า เป็นหยาดน้ำตาแห่งความภาคภูมิ...
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 (ซ้าย) หมวดแชนเมื่อครั้งยังปฏิบัติหน้าที่ (ขวา) นันทวรรณ
2 กราฟฟิกแสดงจำนวนตำรวจที่เสียชีวิตจากสถานการณ์ไฟใต้ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา และสถิติเหตุระเบิดในพื้นที่
ขอบคุณ : ภาพโดยศูนย์ภาพเนชั่น, กราฟฟิกโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ