สรุปผลเวทีเสาร์ถกแถลง เรื่อง ปกครองจังหวัดอย่างไร ท้องถิ่นได้ประโยชน์
สรุปผลเวทีเสาร์ถกแถลง
เรื่อง ปกครองจังหวัดอย่างไร ท้องถิ่นได้ประโยชน์
วันเสาร์ที่ 25 ตุลาคม 2557 ที่ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาฯ
ผู้สนใจการปฏิรูปการเมืองจากภาควิชาการและภาคประชาสังคม เสนอให้ใช้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในรูปแบบจังหวัดปกครองตนเอง ดังตัวอย่างองค์กรการปกครองท้องถิ่นในชื่อ “เชียงใหม่มหานคร”
สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมจัดเวทีเสาร์ถกแถลง เพื่อพิจารณาข้อดีข้อเสียของทางเลือกของการปกครองจังหวัดที่ท้องถิ่นได้ประโยชน์ 3 ทางเลือก คือ “เทศบาลระดับจังหวัด” เสนอโดย อัษฎางค์ ปานิกบุตร “เชียงใหม่มหานคร” เสนอโดย สวิง ตันอุด และ “จังหวัด ... ส่วนท้องถิ่น” เสนอโดย โคทม อารียา
ทางเลือกทั้งสามจะต้องมีกฎหมายรองรับ ซึ่งอาจออกเป็นกฎหมายรายจังหวัดสำหรับจังหวัดที่พร้อม หรืออาจออกเป็นกฎหมายกลาง และออกเป็นพระราชกฤษฎีการายจังหวัดสำหรับจังหวัดที่พร้อม ข้อเสนอที่เหมือนกันสำหรับทั้งสามทางเลือก คือที่มาผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น ซึ่งต้องมาจากการเลือกตั้ง
ทุกทางเลือกเสนอให้แบ่งโครงสร้างเป็นสองระดับ โดยมีความแตกต่างบ้างดังนี้
สำหรับทางเลือกที่ 1 “เทศบาลระดับจังหวัด” นั้น แบ่งโครงสร้างเป็นเทศบาลที่เรียกชื่อตามจังหวัด เช่น เทศบาลนนทบุรีซึ่งพัฒนาจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดในปัจจุบัน และเทศบาลระดับพื้นที่ ซึ่งพัฒนาจากเทศบาลในปัจจุบัน รวมทั้งเทศบาลที่มาจากการยกระดับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ให้เป็นเทศบาลทั้งหมด
สำหรับทางเลือกที่ 2 “จังหวัดปกครองตนเอง” ก็แบ่งโครงสร้างเป็นระดับจังหวัดที่มีองค์กรในชื่อเรียกต่าง ๆ กันขึ้นอยู่กับการกำหนดชื่อตามพระราชกฤษฎีกา เช่น เชียงใหม่มหานคร และเทศบาลระดับพื้นที่
ส่วนทางเลือกที่ 3 “จังหวัด ... ส่วนท้องถิ่น” แบ่งโครงสร้างเป็นระดับจังหวัดที่มีองค์กรเรียกชื่อว่า “จังหวัด...(ระบุชื่อจังหวัด) ... ส่วนท้องถิ่น” เช่น “จังหวัดนนทบุรีส่วนท้องถิ่น” ซึ่งพัฒนาจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด และแยกชัดจาก “จังหวัด...ส่วนภูมิภาค” ส่วนระดับพื้นที่อาจมีเพียงเทศบาลอย่างเดียว หรือมีทั้งเทศบาลและ อบต. เหมือนในปัจจุบัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความเห็นพ้องในแต่ละจังหวัด
นอกจากนี้ ในระดับจังหวัด อาจมีสภาพลเมืองซึ่งสมาชิกมาจากการสรรหา มีอำนาจหน้าที่ในการมีส่วนร่วมจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด และการติดตาม/กระทู้ถามการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น เป็นต้น
ข้อแตกต่างระหว่างทางเลือกทั้งสามคือขอบข่ายการถ่ายโอนอำนาจหน้าที่จากส่วนภูมิภาคสู่ส่วนท้องถิ่น การถ่ายโอนข้าราชการจากส่วนภูมิภาคสู่ส่วนท้องถิ่น และระยะเวลาของการถ่ายโอนดังกล่าว ตลอดจนการได้มาซึ่งรายได้ของท้องถิ่น
สำหรับทางเลือกที่สอง กำหนดให้ถ่ายโอนอำนาจหน้าที่ของราชการส่วนภูมิภาคทั้งหมดไปให้ท้องถิ่นภายใน 2 ปี ยกเว้นเรื่องที่เกี่ยวกับการทหาร การต่างประเทศ เงินตรา และศาล ส่วนรัฐมีอำนาจในการกำกับดูแลให้องค์กรปกครองตนเองของจังหวัดกระทำการในขอบเขตของกฎหมาย ให้มีการถ่ายโอนข้าราชการส่วนภูมิภาคโดยถ่ายโอนผู้ที่สมัครใจทั้งหมดไปสู่ท้องถิ่น ผู้ที่ไม่สมัครใจสามารถย้ายไปอยู่จังหวัดอื่นหรือไปอยู่ส่วนกลาง สำหรับที่มาของรายได้นั้น ท้องถิ่นจะเป็นผู้จัดเก็บภาษีเอง และแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งให้ส่วนกลาง เช่น 30 %
สำหรับทางเลือกที่สามจะมีลักษณะที่ยืดหยุ่นแต่มีความแน่นอนชัดเจนโดยการตราพระราชกฤษฎีกาทุก 5 ปี เพื่อกำหนดการถ่ายโอนอำนาจหน้าที่ การถ่ายโอนข้าราชการ และการจัดเก็บภาษี กรณีเกิดข้อพิพาทระหว่างราชการส่วนท้องถิ่นและส่วนภูมิภาค หรือระหว่างท้องถิ่นด้วยกันเอง ให้ผู้ตรวจราชการแผ่นดินเป็นผู้ไกล่เกลี่ย ถ้าตกลงกันไม่ได้ให้ศาลปกครองเป็นผู้วินิจฉัย
ที่ประชุมเห็นว่าทางเลือกที่สอง “จังหวัดปกครองตนเอง” น่าจะเหมาะสมที่สุด เพราะเป็นการเปลี่ยนทั้งระบบในจังหวะเดียว ซึ่งจะมีพลังมากกว่า ลดโอกาสที่จะยืดเยื้อและไม่เสี่ยงต่อการผัดผ่อนไปเรื่อย ๆ ดังที่ปรากฏว่ามีความคืบหน้าน้อยมาก แม้กฎหมายรัฐธรรมนูญจะมีการเร่งรัดให้ดำเนินการในเรื่องนี้มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2540
ที่ประชุมมีความเห็นว่า การขับเคลื่อนในเรื่องนี้จะต้องดำเนินการดังนี้
1) คณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ สภาพัฒนาการเมือง องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาสังคม ควรจัดเวทีสาธารณะทุกระดับ เพื่อให้มีการถกแถลงทั้งในระดับทัศนคติ การรับรู้และเหตุผล โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนและจำแนกตามบริการสาธารณะที่จะต้องจัดให้แก่ท้องถิ่น ประเด็นการถกแถลงอาจรวมถึง การจัดสรรทรัพยากรท้องถิ่น การจัดเก็บรายได้ การชะลอแผนจากส่วนกลางและเน้นแผนส่วนท้องถิ่น ผลจากการถกแถลงควรส่งให้ผู้มีอำนาจหน้าที่ พรรคการเมือง รวมทั้งเผยแพร่สู่สาธารณะ
2) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าว ควรรณรงค์ผ่านสื่อต่าง ๆ รวมทั้งวิทยุชุมชน สื่อกราฟฟิก สื่อออนไลน์ เพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานในการปกครองตนเอง และเพื่อให้เกิดความเห็นพ้องกันมากยิ่งขึ้นในเรื่องความจำเป็นและความต้องการของประชาชนในเรื่องการกระจายอำนาจและจังหวัดปกครองตนเอง
3) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าวควรสร้างความเชื่อมั่นว่า การกระจายอำนาจจะไม่ทำให้รัฐอ่อนแอลง เพราะรัฐที่เข้มแข็งทั่วโลกก็มีการกระจายอำนาจโดยโอนย้ายราชการส่วนภูมิภาคไปสู่ท้องถิ่นด้วยกันทั้งนั้น อีกทั้งราชการส่วนกลางก็ยังรับผิดชอบในเรื่องความมั่นคงและอื่น ๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญในระดับชาติ
4) ประชาชนในจังหวัดร่วมกันสร้างเครือข่ายในจังหวัดที่มีความพร้อม (ประมาณ 15 จังหวัด) เพื่อการขับเคลื่อน รวมทั้งเตรียมเสนอร่างกฎหมายสำหรับจังหวัดของตน
5) ผู้เข้าร่วมประชุมหลายคนตั้งใจว่าจะสร้างความเข้าใจในเรื่องนี้กับผู้ที่อยู่ใกล้ชิด ผลิตสื่อที่จะใช้ในการรณรงค์ในเรื่องนี้ ตลอดจนศึกษากรณีตัวอย่างที่ท้องถิ่นสามารถจัดบริการสาธารณะได้ดีอย่างเป็นรูปธรรม
25 ตุลาคม 2557