จาก “อาจสามารถ” สู่ “บางระกำโมเดล” … ตามกระแส หรือ แก้ปัญหา?
“นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ขยันเดินสายลงพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมเพื่อโชว์ศักยภาพ และลงไปนั่งสั่งการตรงในวอร์รูมบริหารจัดการ เกิด “บางระกำโมเดล” นำร่องแก้ปัญหาน้ำท่วม ลองมาย้อนความทรงจำ “อาจสามารถโมเดล” ต้นแบบแก้ปัญหาความยากจนของ “อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร” มีอะไรเหมือน-ต่าง?
…………………………..
ย้อนรอย “อาจสามารถโมเดล” แก้ปัญหาความยากจน 2549
อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด ถูกเลือกเป็น “พื้นที่นำร่องศึกษาและแก้ปัญหาความยากจนของคนชนบท” ในยุครัฐบาทักษิณ ชินวัตร เนื่องจากเป็นอำเภอแรกของประเทศที่ได้รับการโอนเงินครบถ้วน ตามโครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน(เอสเอ็มแอล) 31.4 ล้านบาท 138 หมู่บ้าน โดยระหว่าง วันที่ 16-21 ม.ค. 49 พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางมาร่วมใช้ชีวิตกับชาวบ้าน เพื่อรับฟังและสั่งการตรงต่อเจ้าหน้าที่ให้เร่งแก้ปัญหา
ปัญหาความยากจนของคนอาจสามารถ มากจาก “หนี้สิน” ทั้งในและนอกระบบ ปัญหาต่อมาคือ “ที่ดินทำกิและที่อยู่อาศัย” ตลอด 5 วัน ที่อดีตนายกฯ ลงพื้นที่ มีการถ่ายทำ “รายการเรียลลิตี้โชว์” การแก้ไขปัญหาความยากจนอากาศทั่วประเทศ โดยบอกว่าเพื่อเป็นแบบอย่างให้ข้าราชการใช้เป็นโมเดลการทำงาน
กำเนิด“บางระกำโมเดล” แก้ปัญหาน้ำท่วม 2554
พิษพายุนกเตน ทำให้ จ.พิษณุโลกได้รับผลกระทบหนักจากสถานการณ์อุทกภัยทั้ง 9 อำเภอ 80 ตำบล 652 หมู่บ้าน 33,722 ครัวเรือน ส่วนพื้นที่การเกษตรเสียหาย 321,001 ไร่ นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ จึงกำหนดให้ อำเภอบางระกำ ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด เป็นพื้นที่ต้นแบบการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย ฟื้นฟูหลังน้ำลด และป้องกันแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบในระยะยาว หรือ “บางระกำโมเดล” โดยบอกว่าจะให้เป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาน้ำระดับประเทศ
มีการตั้ง “วอร์รูม” ขึ้นทันทีเพื่อความรวดเร็วในการทำงาน มีศูนย์ปฏิบัติการที่ทำงานครบวงจรในที่เดียวแบบวันสต็อบเซอร์วิส ทั้งรับเรื่องร้องเรียน แก้ปัญหา แจ้งเตือนให้ข้อมูลข่าวสารแบบคอลเซ็นเตอร์ และนายกฯหญิง สั่งการให้จัดตั้ง “คณะทำงานบางระกำโมเดล” ดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยใช้แนวทาง 2 P 2 R คือ 1.Preparation เตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น 2.Response ตอบสนองอย่างรวดเร็วเมื่อมีเหตุการณ์ ทั้งช่วยเหลือและรายงานผล 3. Recovery การชดเชย เยียวยา และ 4. Prevention การป้องกัน
“บางระกำโมเดล” เน้นเรื่องปรับปรุงระบบผันน้ำยม-น่าน ให้ไหลสะดวกขึ้น และสร้างระบบผันน้ำให้ไหลลงอ่าวไทยอย่างรวดเร็ว โดย 1.ปรับปรุงและสร้างเส้นทางเดินน้ำโดยผันน้ำจากแม่น้ำยมสู่แม่น้ำน่านบริเวณคลองหกบาท อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ลงแม่น้ำน่านที่จุด อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ จึงต้องก่อสร้างประตูระบายน้ำคลองผันน้ำสวรรคโลก-พิชัยพร้อมอาคาร มูลค่า 150 ล้านบาท 2.ขุดลอกคลองระบายน้ำพร้อมปรับปรุงอาคาร-ประตูระบายน้ำบางแก้ว เพื่อผันน้ำจากแม่น้ำยมในเขต อ.บางระกำลงสู่แม่น้ำน่าน 3.สร้างแก้มลิงบึงตะเคร็ง เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำและใช้ประโยชน์ทั้งในฤดูฝนฤดูแล้ง ใช้งบ 200 ล้านบาท เก็บกักน้ำได้ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร งบประมาณเป็นเงินรวม 530 ล้านบาท 4.ปรับปรุงแหล่งเก็บกักน้ำขนาดเล็กอื่นๆครอบคลุมทุกพื้นที่ทั้งจังหวัด และบึงที่สำคัญในแต่ละอำเภอเพื่อเป็นแก้มลิงรองรับน้ำ
นายวีระ วงศ์แสงนาค รองอธิบดีกรมชลฯ ยังเสนอว่าลุ่มน้ำยมช่วงที่จะมาสมทบกับแม่น้ำเจ้าพระยาแคบ น่าจะทำอุโมงค์ลอดใต้ดินเพื่อระบายน้ำผ่านไปที่นครสวรรค์ จะช่วยบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์และช่วยชาวบ้านภาคเหนือตอนล่างได้มาก แม้จะลงทุนสูงเป็นหมื่นล้าน
“อาจสามารถโมเดล” ต้นแบบแก้จน หายไปไหน?
เบื้องหลังภาพและเสียงที่ออกสู่สาธารณะของ “อาจสามารถโมเดล ร้อยเอ็ด” ข้าราชการในพื้นที่ได้เตรียมการล่วงหน้า ได้แก่ 1.การขึ้นทะเบียนคนจน 2.การจัดทำรายละเอียดครัวเรือน 3.โครงการพี่เลี้ยงประชาชน โดยให้ข้าราชการในอำเภอและประชาชนปรับทัศนคติและหาทางออกร่วมกัน 4.จัดตั้งวอร์รูมอำนวยการสนับสนุนการปฏิบัติงานและให้บริการข้อมูลข่าวสาร 5.ประสานงานกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
“อาจสามารถโมเดล” จึงได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเพียง “เกมโชว์แก้จน” หรือการจัดฉากโฆษณาหาเสียงเร่งทำคะแนน หนำซ้ำมีเสียงสะท้อนตามมาว่า คล้อยหลังนายกฯทักษิณ ออกจากพื้นที่ ข้าราชการท้องถิ่นก็หมดแรงกระตุ้น ทุกอย่างหย่อนลงตามสภาพ จนวันนี้มีเสียงแว่วมาว่าอำเภออาจสามารถกลายเป็น “พื้นที่เสื้อแดง”
แต่ไม่เคยได้ยินอีกเลยว่า คนอำเภออาจสามารถวันนี้ “หายจนแล้วหรือยัง?” หรือ โมเดลนี้ถูกขยับขยายมาเป็น “ต้นแบบ” แก้ไขปัญหาความยากจน ณ ที่แห่งใดของประเทศ นับจากวันที่นายกฯทักษิณ ลงไปใช้ชีวิตร่วมกับชาวอำเภออาจสามารถ 5 วัน
“บางระกำโมเดล” แก้ปัญหาน้ำท่วมทั้งระบบได้หรือ?
คนพื้นที่อย่าง น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาแสดงทรรศนะว่า บางระกำโมเดลควรมี 2 แบบ คือ เฉพาะหน้า และระยะยาว เพราะผลจากไร่นาเสียหายจะทำให้คนบางระกำไม่มีข้าวไปจำนำ จึงต้องการความช่วยเหลือ 4 ประการ คือ 1.ชดเชยน้ำท่วมนา 2.เงินส่วนต่าง ซึ่งที่ผ่านมาได้เกวียนละ 3 พันบาท 3.เงินช่วยเหลือน้ำท่วมบ้าน 5 พันบาทต่อครัวเรือน 4.เมล็ดพันธุ์ข้าว ส่วนระยะยาว คือการป้องกันน้ำท่วม โดยชาวบางระกำจะตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามการแก้ปัญหาในพื้นที่ และในฐานะ ส.ส.จะติดตามในสภาต่อไปว่านายกฯ จะทำโมเดลบางระกำจริง จะแก้ปัญหาน้ำท่วมได้จริงหรือไม่ เพราะไม่ต้องการให้เหมือนกับอาจสามารถโมเดล(ที่หายไปกับสายลม)
ด้าน ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ สะท้อนว่าจะการสร้างโมเดลแห่งเดียว แล้วนำไปใช้ในหลายพื้นที่ อาจไม่ได้ผล เพราะแต่ละพื้นที่มีลักษณะภูมิประเทศที่แตกต่างกันออกไป หากเข้าใจเรื่องภูมิศาสตร์จะทำให้รู้สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นและวางแนวทางแก้ไขได้ถูก ว่ามีเครื่องมืออะไรบ้าง และเปิดพื้นที่ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำ เพราะคนในท้องถิ่นย่อมเข้าใจดีกว่า ไม่ใช่กำหนดจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว เหมือนกรณีอาจสามารถโมเดล
นายหาญณรงค์ ให้ความเห็นต่อว่า แนวคิดการสร้างอุโมงค์ผันน้ำของรองอธิบดีกรมชลฯ นอกจากจะลงทุนสูงแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อระบบน้ำใต้ดินอีกด้วย เพราะการเอาน้ำออกจะทำให้ไม่มีน้ำซึมลงไปข้างล่าง ส่งผลต่อระบบบาดาล หรือการใช้แหล่งน้ำใต้ดิน
จึงเสนอว่า 1.รัฐบาลต้องเร่งทำแผนป้องกันและรับมือปัญหาน้ำท่วมให้กับแต่ละชุมชน 2.จัดหาพื้นที่ว่างสำหรับรองรับน้ำ โดยอาศัยพื้นที่นาเป็นพื้นที่พักน้ำธรรมชาติ เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมเขตเมือง และใช้พื้นที่แก้มลิงธรรมชาติ ถ้าปริมาณน้ำ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร จะใช้พื้นที่รองรับน้ำประมาณ 700 ตร.กม. หรือ 400,000 ไร่ โดยน้ำที่ขังจะสูงที่ระดับน้ำขังประมาณ 1-1.5 เมตร เท่ากับปริมาณน้ำในเขื่อน 1 ลูก แต่ต้องเป็นพื้นที่นาที่เก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จแล้ว เพราะถ้านามีข้าวเต็มอยูคงไม่มีใครอยากให้น้ำเข้านา ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรเตรียมการหรือจัดหาไว้แต่เนิ่นๆในแต่ละอำเภอแต่ละพื้นที่ จะทำให้เห็นภาพรวมพื้นที่รองรับน้ำ ลดความเสียหายต่อบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้าง เพราะไปท่วมทุ่งนาซึ่งเป็นที่โล่งแทน อาจปล่อยให้ท่วมสัก 1-2 เดือน หลังจากนั้นค่อยดูปริมาณน้ำเป็นหลัก แล้วน้ำระบายออกเมื่อสถานการณ์โดยรวมเริ่มคลี่คลาย
………………………….
การที่ผู้บริหารสูงสุดของประเทศ อย่าง ฯพณฯท่านนายกรัฐมนตรี ลงไปสั่งการแก้ปัญหาชาวบ้านด้วยตนเองโดยตรงแบบรวบรัดตัดสายบังคับบัญชาในระบบราชการนั้น แน่นอนว่า “ย่อมได้รับคะแนนนิยม” หรือเสียงตบมือดัง แม้ว่าลึกๆจะเรียกว่า “ล้วงลูกข้าราชการ”
แต่การที่จะผุดไอเดียอะไรขึ้นมาแล้วใช้ชื่อว่า “โมเดลแก้ปัญหา” นั้นคงต้องใช้ระยะเวลาพิสูจน์ผลงานกันจริงจัง หวังว่าภาพที่หายไปของ “อาจสามารถโมเดล ร้อยเอ็ด” คงช่วยส่งสะท้อนถึง “บางระกำโมเดล พิษณุโลก” ได้บ้าง ไม่มากก็น้อย!.
ที่มาภาพบางส่วน : http://oldforum.serithai.net/index.php?topic=1395.0 และ http://www.moph.go.th/ops/iprg/iprg_new/include/admin_hotnew/show_hotnew.php?idHot_new=40456