สำรวจพื้นที่อันตราย เชียงใหม่-อุดรฯ-ชลบุรี ก่อนสานเสวนาสัญจร
ปัญหาความขัดแย้งทางความคิดอย่างรุนแรง ที่สืบเนื่องมาจากสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ มิได้ส่งผลเฉพาะแต่ในเขตกรุงเทพเท่านั้น
หากแต่ปัญหาดังกล่าวยังกระจายไปในพื้นที่อื่นๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งในส่วนชุมชนท้องถิ่น จนเป็นที่มาของแนวทางการระดมจัดเสวนาในแต่ละจังหวัด โดยมีสมาชิกสภาพัฒนาการเมือง ซึ่งมีภารกิจส่งเสริมแนวทางขับเคลื่อนทางการเมืองของภาคพลเมืองเป็นตัวกลาง
สำหรับสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีแนวโน้มต่อความขัดแย้งค่อนข้างสูงเป็นอย่างไรนั้น คนึงนิจ อายุมั่น สมาชิกสภาพัฒนาการเมือง จากกระบวนการสรรหาตามมาตรา 7 (1) จ.เชียงใหม่ สะท้อนได้อย่างน่าสนใจว่า แม้จะมีความขัดแย้งทางความคิดอยู่บ้างแต่ในการแสดงออกของประชาชนก็ยังไม่มีความรุนแรงใดๆ เกิดขึ้น อาจจะมีการชุมนุมของแต่ละฝ่ายบ้าง แต่ก็ไม่ได้มีการปะทะ หรือมีเหตุการณ์ใดที่เป็นชนวนที่น่าจะส่อให้เห็นถึงความรุนแรง แต่ถึงอย่างไรก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ส่งผลให้การพูดคุยแสดงความคิดเห็นในที่ต่างๆของ ประชาชนต้องระมัดระวัง กว่าแต่เดิม กล่าวคือ จะไม่พูดเรื่องการเมือง กับคนที่ไม่สนิทสนมจริงๆ
“ที่เชียงใหม่ มีทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายเสื้อแดงและเสื้อเหลือง แต่หากเทียบกันจริงๆ คิดว่าเสื้อแดงก็น่าจะมีมากกว่า สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดเช่นนี้ ให้คนที่อยู่ตรงกลาง ไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ต้องระมัดระวังตัวมาก เพราะแต่ละฝ่ายก็อาจจะคิดได้ว่าพวกนี้อยู่ฝ่ายตรงข้าม ทำให้เกิดความระแวงซึ่งกันและกัน”
คะนึงนิจ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามสถานการณ์ความขัดแย้งส่วนใหญ่มักจะมีในเขตของอ.เมืองเท่านั้น แต่ในส่วนของ อ.สะเมิม ที่ตนอาศัยอยู่ รวมถึง อ.ต่างๆ ในจังหวัด เหตุการณ์ทั่วไปยังถือว่าปกติ เพราะการพูดเรื่องการเมืองยังน้อย และถึงจะมีการโต้เถียงกันบ้าง ก็จะมีผู้นำชุมชนหรือ ปราชญ์ของหมู่บ้านเป็นคนไกล่เกลี่ย เนื่องด้วยสภาพสังคมยังอยู่กันอย่างใกล้ชิดถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน
สำหรับแนวทางการจัดเสวนาในชุมชน ตามมติของสภาพัฒนาฯ นั้น สมาชิกจาก จ.เชียงใหม่ ให้รายละเอียดว่า กำลังอยู่ในระหว่างการเตรียมการประสานผู้เกี่ยวข้องให้เข้าร่วม โดยเบื้องต้นคาดว่าน่าจะใช้พื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยแม่โจ้ อ. สันทราย เพราะเห็นว่ามีความเหมาะสมในด้านต่างๆ ทั้งเรื่องสถานที่และทัศนคติอื่นๆ เพื่อไม่ให้เห็นว่าเข้าข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งการจัดเสวนาในครั้งนี้น่าจะทำให้มีแนวโน้มทำให้สถานการณ์ดีขึ้น มีความเข้าใจกันมากขึ้น แต่ก็ยังไม่มั่นใจว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้
ด้านสมาชิกสภาพัฒนาฯ จากภาคตะวันออก อย่าง วิทยา ปิยะพงศ์ ตัวแทนจ. ชลบุรี กล่าวถึงสถานการณ์ในพื้นที่ของตนเองว่า แต่เดิมนั้นเกิดความขัดแย้งค่อนข้างมาก เนื่องจาก จ. ชลบุรี เป็นฐานที่มั่นแห่งหนึ่งของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยเฉพาะใน อ.บ้านบึง อ.เมือง และ อ.พนัสนิคม ที่มักมีการรวมตัวชุมนุมเพื่อดูสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี แต่ก็ยังไม่ทราบข่าวว่ามีการปะทะกันของทั้ง 2 ฝ่าย แต่อย่างใด
วิทยา กล่าวต่อว่า ขณะนี้การชุมนุมดังกล่าวในจังหวัดเริ่มน้อยลง เนื่องจากส่วนใหญ่ผู้เห็นด้วยกับแนวทางของพันธมิตรฯ มักจะเดินทางเข้าไปชุมนุมในกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับอีกฝ่าย ก็ได้เดินทางมาชุมนุมในกรุงเทพฯเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ในส่วนแนวทางการจัดเสวนาเพื่อลดความรุนแรงตามมติที่ประชุมสภาพัฒนาฯ ของ จ. ชลบุรี จะมีขึ้นในประมาณวันที่ 18-22 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งขณะนี้ได้ประสานกับสมาชิกสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ของจังหวัด รวมถึงผู้เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อร่วมกิจกรรมดังกล่าว สำหรับสถานที่ยังไม่ได้ระบุแน่ชัด แต่คาดว่าอาจจะใช่ที่ว่าการอ. บ้านบึง เป็นที่จัดกิจกรรม
“การจัดเสวนา หรือกิจกรรมใดๆ มันก็ไม่สามารถการันตีได้ว่าจะลดความขัดแย้งได้จริง แต่มันก็ทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นว่า ยังมีกลุ่มที่ไม่เข้าข้างฝ่ายใด เป็นพลังสีขาว ซึ่งกลุ่มนี้ก็พร้อมที่จะเป็นคนกลางเพื่อให้แต่ละฝ่ายพูดคุยกันด้วยเหตุผล เกิดความสามัคคีกัน” สมาชิกสภาพัฒนาฯ จ.ชลบุรี กล่าว
ส่วนไพรพนม พลยศ สมาชิกสภาพัฒนาฯ จาก จ.อุดรธานี พื้นที่ที่เคยมีเหตุปะทะกันของทั้ง 2 ฝ่าย จนเคยมีการนำเสนอต่อสาธารณะไปแล้วนั้น กล่าวว่า ประชาชนในจังหวัดมีทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายเสื้อแดงและเหลือง แต่ภายหลังจากที่มีเหตุการณ์ดังกล่าวไปแล้ว ผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ที่เป็นกลาง ต่างก็ระมัดระวังในกรณีที่มีการชุมนุมในจังหวัดมากขึ้น เพื่อไม่ให้มีเรื่องราวทำนองนี้เกิดขึ้นอีก โดยขณะนี้ประชาชนกลุ่มพันธมิตรฯ ส่วนใหญ่ได้เข้ากรุงเทพฯ เพื่อปักหลักในทำเนียบหมดแล้ว ขณะที่อีกฝ่ายก็ได้เดินทางมาชุมนุมกันไปเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาเช่นกัน ทำให้ในพื้นที่จังหวัด ไม่ได้มีการแสดงออกอะไรมากนัก ส่วนการจัดเสวนาตามมติของสภาพัฒนาฯ กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ ซึ่งผลของกิจกรรมครั้งนี้ก็น่าจะทำให้ความขัดแย้งลดลงไปได้บ้าง
อนึ่งสำหรับการจัดเสวนาตามมติการประชุมของสภาพัฒนาฯ ในครั้งที่1 นั้น ได้วางกรอบให้มีการจัดเสวนาในแต่ละจังหวัด โดยมีสมาชิกสภาพัฒนาฯ ร่วมกับสมาชิก พอช. พร้อมผู้เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการ ในรูปแบบการพูดคุยอย่างสันติวิธี ทั้งนี้กิจกรรมดังกล่าวได้จัดไปแล้วที่ จ. สตูลเป็นแห่งแรกในวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา