กางระเบียบ"เข้า-ลา"ประชุมสภาฯ-ไม้เรียว "พรเพชร" คุมเข้ม "สนช."
"..การไปปฏิบัติราชการหรือปฏิบัติงานไม่ว่าจะเป็นของส่วนราชการต้นสังกัดหรือของสภาให้สมาชิกแจ้งเป็นหนังสือพร้อมทั้งเหตุผลประกอบต่อประธานสภาเพื่อทราบเป็นการล่วงหน้าก่อนถึงวันประชุม เว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้.."
ในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา สังคมไทยคงจะได้ยินข่าวคราวเกี่ยวกับปัญหาการ "โดดร่ม" ไม่เข้าทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรอันทรงเกียรติของ ส.ส., ส.ว.กันมาโดยตลอด โดยอ้างเหตุผลความจำเป็นสารพัดกันไปต่างๆ นานา
บางกรณีก็ร้ายแรง ถึงขนาดมีการเสียบบัตร ลงคะแนนเสียงเพื่อโหวตมติแทนกัน และอยู่ระหว่างการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ด้วย
คือ กรณี ส.ส.พรรคเพื่อไทยบางราย ถูกกล่าวหา ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยขณะปฏิบัติหน้าที่ในรัฐสภา ได้เสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน ในการลงมติในเรื่องร่างแก้ไข รัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภา เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 56
คำถามที่น่าสนใจ หลังการยึดอำนาจรัฐประหาร 22 พ.ค.57 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และมีการแต่งตั้ง สนช. เข้ามาทำหน้าที่แทน ส.ส., ส.ว. ในการตรากฏหมาย แก้ไขเพิ่มเติมและปรับปรุงกฏหมาย ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การตราพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด และกฏหมายอื่นๆ
ภาพแห่งการ "โดดร่ม" "เสียบบัตรแทนกัน" ไม่เข้าทำหน้าที่ในสภาฯ ของ สนช. จะยังปรากฎให้เห็นซ้ำรอย ส.ส. และ ส.ว. หรือไม่?
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 24 ต.ค.57 ที่ผ่านมา ราชกิจจานเบกษา ได้เผยแพร่ระเบียบสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่าด้วยการลงชื่อมาประชุมและการลาประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติพ.ศ. 2557
ระบุว่า "..โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ มาตรา ๙ (๕) บัญญัติให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติสิ้นสุดลงเมื่อไม่แสดงตนเพื่อลงมติในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเกินจำนวนที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุม ซึ่งข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๗ ข้อ ๘๒ กำหนดให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ไม่แสดงตนเพื่อลงมติในที่ประชุมสภาเกินกว่าหนึ่งในสามของจำนวนครั้งที่มีการแสดงตนเพื่อลงมติทั้งหมดในรอบระยะเวลาเก้าสิบวัน ให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติสิ้นสุดลง
ดังนั้น เพื่อให้การลงชื่อมาประชุมและการลาประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงสมควรให้มีระเบียบสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่าด้วยการลงชื่อมาประชุมและการลาประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติอาศัยอำนาจตามความในข้อ ๔ และข้อ ๘๒ แห่งข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๗ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงวางระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่าด้วยการลงชื่อมาประชุมและการลาประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๗”
ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๗ เป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในระเบียบนี้
“ประธานสภา” หมายความว่า ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
“สภา” หมายความว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
“สมาชิก” หมายความว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
“เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ข้อ ๔ การลงชื่อมาประชุมสภาให้สมาชิกปฏิบัติ ดังนี้
(๑) ก่อนเข้าประชุมสภาทุกครั้งให้สมาชิกผู้มาประชุมลงชื่อในสมุดที่จัดไว้บริเวณหน้าห้องประชุมสภา และ
(๒) ใช้บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐของตนบันทึกลงในเครื่องอ่านบัตรเพื่อแสดงตนมาประชุมสภาในกรณีที่เครื่องอ่านบัตรตาม (๒) ขัดข้อง ให้สมาชิกปฏิบัติเฉพาะตาม (๑)
ข้อ ๕ สมาชิกที่มาประชุมสภาแต่มิได้ปฏิบัติตามข้อ ๔ (๑) ในวันที่มาประชุมสภานั้นหากประสงค์จะลงชื่อมาประชุมสภา ให้ทำเป็นหนังสือแจ้งต่อประธานสภาเพื่อขออนุญาตลงชื่อมาประชุมสภาภายหลังได้ แต่ต้องไม่เกินเจ็ดวันนับแต่วันที่มีการประชุมสภา ทั้งนี้ ต้องมีสมาชิกจำนวนสองคนรับรองว่าสมาชิกผู้นั้นมาประชุมสภา
ข้อ ๖ สมาชิกผู้ใดมีความจำเป็นไม่อาจมาประชุมสภา หรือมาประชุมสภาแต่ไม่อาจอยู่แสดงตนเพื่อลงมติได้ ให้แจ้งลาการประชุมโดยทำเป็นหนังสือหรือใบลาการประชุมสภา ตามแบบที่สำนักงานกำหนดยื่นต่อประธานสภาเพื่อขออนุญาตลาการประชุมสภาเป็นการล่วงหน้าสมาชิกผู้ใดมีเหตุจำเป็นที่ไม่อาจแจ้งลาการประชุมสภาล่วงหน้าได้ตามวรรคหนึ่ง ให้แจ้งลาการประชุมสภาโดยทำเป็นหนังสือหรือใบลาการประชุมสภายื่นต่อประธานสภาเพื่อขออนุญาตภายหลังได้แต่ต้องไม่เกินเจ็ดวันนับแต่วันประชุมสภาวันที่มีการประชุมสภาดังกล่าวให้หมายถึงกำหนดวันประชุมสภาตามที่สภามีมติกำหนดไว้และวันเรียกประชุมสภาเป็นพิเศษตามที่ประธานสภาจะได้กำหนดเมื่อเห็นสมควร
ข้อ ๗ การลาประชุมสภาของสมาชิก ประธานสภาจะพิจารณาอนุญาตตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) การลาป่วยเพื่อรักษาตัวให้แจ้งเป็นหนังสือหรือใบลาตามแบบที่สำนักงานกำหนดต่อประธานสภาก่อนหรือในวันลา เว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ให้แจ้งเป็นหนังสือหรือใบลาในวันแรกที่มาปฏิบัติหน้าที่ก็ได้การลาป่วยติดต่อกันตั้งแต่สองวันขึ้นไป ต้องมีใบรับรองแพทย์ซึ่งเป็นผู้ที่ได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมแนบไปกับใบลาด้วย
(๒) การลากิจส่วนตัวให้แจ้งเป็นหนังสือหรือใบลาตามแบบที่สำนักงานกำหนดพร้อมทั้งเหตุผลประกอบต่อประธานสภาเพื่อขออนุญาตเป็นการล่วงหน้าก่อนถึงวันประชุม และจะอนุญาตเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เท่านั้น
(๓) การลาไปศึกษา อบรม สัมมนา ดูงาน หรือเป็นวิทยากรในประเทศหรือต่างประเทศให้แจ้งเป็นหนังสือหรือใบลาไปศึกษา อบรม สัมมนา ดูงานหรือเป็นวิทยากรตามแบบที่สำนักงานกำหนดต่อประธานสภาเพื่อพิจารณาอนุญาตเป็นการล่วงหน้า ในการนี้ประธานสภาอาจพิจารณาไม่อนุญาตหากเป็นกรณีที่ไม่เกี่ยวข้องกับภารกิจของสภาหรือของทางราชการหรือมีระยะเวลาการลาที่นานเกินสมควรการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้ประธานสภาพิจารณาภายในสามวันนับแต่วันที่ประธานสภาได้รับหนังสือหรือใบลาการประชุมสภาของสมาชิก
การลาของประธานสภาให้แจ้งให้เลขาธิการทราบ และให้นำหลักเกณฑ์การลาของสมาชิกมาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ ๘ การไปปฏิบัติราชการหรือปฏิบัติงานไม่ว่าจะเป็นของส่วนราชการต้นสังกัดหรือของสภาให้สมาชิกแจ้งเป็นหนังสือพร้อมทั้งเหตุผลประกอบต่อประธานสภาเพื่อทราบเป็นการล่วงหน้าก่อนถึงวันประชุม เว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ข้อ ๙ ในกรณีที่สมาชิกผู้ใดไม่แสดงตนเพื่อลงมติ เนื่องจากได้ลาการประชุมสภาโดยได้รับอนุญาตจากประธานสภา มิให้ถือว่าสมาชิกผู้นั้นไม่แสดงตนเพื่อลงมติและมิให้นับจำนวนครั้งที่มีการแสดงตนเพื่อลงมติที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สมาชิกได้รับอนุญาตให้ลาการประชุมสภารวมเป็นจำนวนครั้งที่สมาชิกผู้นั้นไม่ได้แสดงตนเพื่อลงมติ
ข้อ ๑๐ สมาชิกผู้ใดไม่มาประชุม โดยมิได้แจ้งลาการประชุมสภาต่อประธานสภาหรือแจ้งลาการประชุมสภาแต่ไม่ได้รับอนุญาตจากประธานสภา หรือมิได้แจ้งตามข้อ ๘ ให้ถือว่าขาดประชุมสภาและให้เลขาธิการแจ้งให้สมาชิกผู้นั้นทราบโดยทันที
ข้อ ๑๑ ให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติรักษาการตามระเบียบนี้
ประกาศ ณ วันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๗
ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย
ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ.."
-----------
ทั้งหมด นี่คือ เนื้อหาในระเบียบสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่าด้วยการลงชื่อมาประชุมและการลาประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติพ.ศ. 2557 ล่าสุดที่ถูกเผยแพร่ออกมา
เพื่อเป็นเครื่องมือ ในการควบคุมดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของ "สนช." ผู้ทรงเกียรติ ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เข้ามาทำหน้าที่สำคัญในการปฏิรูปประเทศครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทย เพื่อให้หลุดพ้นจากวิกฤตความขัดแย้งรุนแรงในสังคม
ส่วนจะมี "สนช." รายใด "ใจกล้า" ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบฉบับนี้ หรือไม่
สังคมไทยคงต้องช่วยกันจับตาดูแบบใกล้ชิดต่อไป
เพื่อให้รู้ว่าแท้จริงแล้ว "มาตรฐาน" ของ สนช.ชุดนี้ โดยเฉพาะเรื่องความรับผิดชอบต่อหน้าที่ แตกต่างจาก "นักการเมือง" ที่เข้ามาทำหน้าที่ เป็น ส.ส. , ส.ว.ในอดีต จริงหรือไม่?