หนึ่งทศวรรษตากใบ..."อังคณา"จี้รื้อคดีขึ้นพิจารณาใหม่
ผ่านมาแล้ว 10 ปีเต็มสำหรับเหตุการณ์โศกนาฏกรรมตากใบ ซึ่งกลายเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของความอยุติธรรมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และก่อความสูญเสียชีวิต เลือดเนื้อในคราวเดียวมากที่สุดเหตุการณ์หนึ่งตลอดกว่า 10 ปีที่ไฟใต้ลุกโชน
เหตุการณ์ตากใบเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เกิดขึ้นในเดือนรอมฎอน ตรงกับวันที่ 25 ต.ค.2547 เรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดต่อเนื่องมาคือการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐจนทำให้มีประชาชนเสียชีวิตมากถึง 85 ราย แม้จะไม่ผิด แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงเพียงท่อนเดียวของเรื่องราวทั้งหมดเท่านั้น
เรื่องจริงที่ตากใบ...
เหตุการณ์ตากใบเริ่มจากมีกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งชาย หญิง และเด็กจำนวนไม่มากนักไปรวมตัวกันที่หน้า สภ.ตากใบ อำเภอชายแดนของ จ.นราธิวาส เพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) บ้านโคกกูแว หมู่ 5 ต.พร่อน จำนวน 6 คน ที่ถูกควบคุมตัวในคดียักยอกทรัพย์และแจ้งความเท็จ หลังจากปืนลูกซองยาวของทางราชการที่อยู่ในความรับผิดชอบดูแลสูญหายไป
ช่วงนั้นมีเหตุคนร้ายบุกปล้นอาวุธปืนตามบ้านผู้นำท้องถิ่นและ ชรบ.อย่างต่อเนื่อง ได้ปืนไปหลายสิบกระบอก โดยทำกันง่ายๆ แค่สวมหมวกไอ้โม่งบุกเข้าไปตอนกลางคืนก็ได้ปืนไปทุกครั้ง ทำให้บางฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการ "สมรู้ร่วมคิด" หรือ "สมยอม" กันระหว่าง "ผู้ปล้น" กับ "ผู้ถูกปล้น" หรือไม่ จนกระทรวงมหาดไทยต้องคาดโทษว่า หากผู้นำท้องถิ่นหรือ ชรบ.คนใดถูกปล้นปืนไปอีกโดยไม่สมควรแก่เหตุ จักต้องถูกดำเนินคดีในข้อหา "ยักยอกทรัพย์ของทางราชการ" เพราะถือว่ารู้เห็นกับกลุ่มโจร
และ ชรบ. 6 คนที่ตากใบก็ถูกจับกุมด้วยเหตุนี้ แต่ชาวบ้านบางส่วนในพื้นที่ไม่เห็นด้วย จึงจัดชุมนุมขึ้นมา
วันนั้นจากเช้าจนถึงบ่าย มีจำนวนผู้ชุมนุมเพิ่มขึ้นจากหลักร้อยเป็นหลักพันและหลายพันคน ผู้ที่ไปร่วมชุมนุมไม่ได้มีแค่ชาว อ.ตากใบ แต่ยังมีคนจากอำเภออื่นๆ เดินทางไปร่วมเป็นจำนวนมากด้วยการบอกแบบปากต่อปาก ช่วงแรกฝ่ายรัฐพยายามเจรจาต่อรองเพื่อให้สลายการชุมนุม มีการเดินเรื่องประกันตัว ชรบ.ทั้ง 6 คนออกมา และให้ผู้นำท้องถิ่นขึ้นพูดทำความเข้าใจกับผู้ชุมนุม แต่การชุมนุมกลับไม่จบลง แถมยังส่อเค้ารุนแรงยิ่งขึ้น ทำให้ฝ่ายรัฐมองอย่างไม่ไว้ใจว่าน่าจะเป็นการชุมนุมที่เกิดจากการ "จัดตั้ง" และหวังให้เกิดสถานการณ์ที่คาดไม่ถึงตามมา
ฝ่ายรัฐประเมินว่าแกนนำที่ปลุกปั่นการชุมนุมมีประมาณ 100 คน จึงคิดจับกุมเพื่อแยกแกนนำออกจากผู้ชุมนุม เพื่อให้ผู้ร่วมชุมนุมส่วนใหญ่ซึ่งไม่ได้ต้องการให้เกิดความรุนแรงหรือแค่มาดู ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ได้แยกย้ายกันกลับบ้าน
ทว่าแกนนำได้กระจายตัวอยู่ในหมู่ผู้ชุมนุม ทำให้ยากต่อการแยกแยะ สถานการณ์ตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ จนมีเสียงคล้ายปืนดังขึ้น 1 ครั้ง จากนั้นจึงมีการใช้อาวุธ แก๊สน้ำตา ฉีดน้ำ และเจ้าหน้าที่ได้ระดมกำลังทหารตำรวจเข้าปิดล้อมกวาดจับผู้ชุมนุมผู้ชายได้จำนวนมาก เบื้องต้นมีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุจากการใช้อาวุธ 6 ราย และไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลอีก 1 ราย
ต่อมามีการสั่งให้ผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุม ถอดเสื้อ นอนคว่ำหน้า แล้วนำเสื้อไปมัดมือไพล่หลัง และลำเลียงขึ้นรถยีเอ็มซีโดยการนำไปเรียงซ้อนกัน 2-4 ชั้น เพื่อนำไปสอบปากคำและคัดแยกที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ห่างจาก อ.ตากใบ จุดเกิดเหตุกว่า 150 กิโลเมตร
การเดินทางที่ใช้เวลานานกว่า 5 ชั่วโมง ประกอบกับความอ่อนเพลียเนื่องจากอยู่ในช่วงถือศีลอด ทำให้มีผู้เสียชีวิตระหว่างการถูกควบคุมตัวบนรถยีเอ็มซีถึง 78 ราย ส่วนที่รอดชีวิตมาได้จำนวนไม่น้อยก็พิการ แขนขาไม่มีแรง
วาทกรรม "ขาดอากาศหายใจ"
สาเหตุที่เหตุการณ์ตากใบถูกมองว่าไม่มีความเป็นธรรมและละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง มิได้เกิดจากเฉพาะปฏิบัติการอันค่อนข้างรุนแรงเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ในวันนั้น (ทั้งการกวาดจับ สั่งถอดเสื้อมัดมือไพล่หลัง แล้วนำไปเรียงทับกันบนรถยีเอ็มซี) แต่ยังรวมไปถึงคดีความที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น โดยเฉพาะในส่วนของคดีอาญาที่ยัง "ไม่ถึงที่สุด" และมิได้ถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลอย่างแท้จริง
คดีที่ถูกพูดถึงมาตลอด 10 ปี คือ การเสียชีวิตของผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมจำนวน 78 ราย ระหว่างเคลื่อนย้ายด้วยการถอดเสื้อมัดมือไพล่หลัง นอนเรียงซ้อนทับกันบนรถบรรทุกของทหาร เพื่อนำตัวไปสอบปากคำยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี คดีนี้ศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งในสำนวนชันสูตรพลิกศพ (หรือไต่สวนการตาย) เมื่อ 29 พ.ค.2552 ว่าตายเพราะ "ขาดอากาศหายใจ" ซึ่งแม้มีข่าวอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องคดีไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้ตัดสิทธิผู้เสียหายยื่นฟ้องคดีเอง
ทว่าตลอดมากลับไม่มีการยื่นฟ้องเอง แต่กลับมีการยื่นคำร้องต่อศาลอาญาให้เพิกถอนคำสั่งไต่สวนการตายดังกล่าว และสู้กันจนถึงชั้นฎีกา สุดท้ายศาลฎีกามีคำสั่งเมื่อ 1 ส.ค.2556 ว่าศาลอาญาไม่มีอำนาจรับคำร้องในเรื่องนี้ เพราะผู้เสียหายต้องไปยื่นต่อศาลชั้นต้นที่พิจารณาคดีนี้ (ซึ่งน่าจะพ้นเวลาที่กฎหมายเปิดช่องให้ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งไต่สวนการตายไปนานแล้ว)
รัฐจ่ายเยียวยากว่า 700 ล้าน
ส่วนคดีแพ่งที่ครอบครัวผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บยื่นฟ้องหน่วยงานของรัฐเพื่อเรียกค่าเสียหาย กับคดีอาญาที่รัฐเป็นโจทก์ยื่นฟ้องแกนนำผู้ชุมนุมจำนวน 58 คนในข้อหาปลุกปั่นยั่วยุให้เกิดความวุ่นวายนั้น ต้องถือว่าจบไปแล้ว เนื่องจากรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีนโยบายให้อัยการถอนฟ้องคดี ขณะที่กองทัพบกก็ยินยอมจ่ายค่าเสียหายทางแพ่งจำนวน 42 ล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขว่าญาติผู้เสียหายต้องถอนฟ้อง และไม่สามารถรื้อฟื้นคดีขึ้นมาได้อีก (เฉพาะคดีแพ่ง)
ต่อมารัฐบาลพรรคเพื่อไทย โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ยุคที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นเลขาธิการ ได้ปรับเกณฑ์การจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งผู้ได้รับผลกระทบกรณีตากใบก็ได้รับเงินเยียวยาในอัตราใหม่ด้วย โดยได้จ่ายไปทั้งสิ้น 641,451,200 บาท เฉพาะผู้เสียชีวิต 85 ราย เป็นเงิน 561,101,000 บาท
นอกจากนั้นยังมีกลุ่มผู้ได้รับบาดเจ็บ 51 ราย, ทุพพลภาพ 1 ราย, ผู้ที่ถูกรัฐดำเนินคดีแล้วอัยการถอนฟ้อง 58 ราย และผู้ที่ถูกควบคุมตัวแต่ไม่ถูกดำเนินคดี 1,280 ราย
จากยอดรวมของเงินเยียวยา 641,451,200 บาท ซึ่งยังจ่ายไม่ครบเสียทีเดียว หากนำไปรวมกับค่าเสียหายทางแพ่งที่กองทัพบกจ่ายไปแล้ว 42 ล้านบาทเมื่อราวปี 2550 และเงินเยียวยาเบื้องต้นหลังเกิดเหตุอีกจำนวนหนึ่ง เท่ากับว่าเหตุการณ์ตากใบเพียงเหตุการณ์เดียว รัฐต้องจ่ายค่าเสียหายเป็นตัวเงินไปแล้วทั้งสิ้นราว 700 ล้านบาท!
ทั้งนี้ ไม่นับมูลค่าความสูญเสียทางจิตใจของครอบครัวผู้เสียชีวิต ทุพพลภาพ และได้รับบาดเจ็บซึ่งประเมินค่ามิได้ ทั้งยังไม่รวมถึงความสูญเสียด้านภาพลักษณ์ของประเทศ และการสูญสิ้นศรัทธาที่มีต่อรัฐไทยของประชาชนกลุ่มใหญ่ กระทั่งถูกกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนนำไปใช้เป็นเงื่อนไขขยายมวลชนและก่อความรุนแรงต่อเนื่องมา จนกลายเป็นความเสียหายที่ยังไม่หยุดยั้งและยังไม่จบสิ้น
จี้รื้อคดีใหม่-กังขาสั่งไม่ฟ้อง
อังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ซึ่งทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาตลอดทศวรรษ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทุกคนเห็นตรงกันว่ารากเหง้าเกิดจากความไม่เป็นธรรม ไม่มีความยุติธรรม หรือการเลือกปฏิบัติ หลายกรณีถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่เราไม่อาจไปรื้อฟื้นคดีเพื่อให้ความยุติธรรมกับเหยื่อได้ จึงเกิดคำถามว่าเราจะดูแลคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมได้อย่างไร
"จากคดีตากใบ มีชาวบ้านออกมาบอกว่า ระหว่างขนคนไปค่ายอิงคยุทธฯ เจ้าหน้าที่ให้นอนทับกันจนหายใจไม่ออก ทั้งที่มีการเสียงร้อง แต่เจ้าหน้าที่ที่คุมอยู่บนรถกลับใช้อาวุธตีเพื่อไม่ให้ร้อง อีกทั้งศาลยังได้อ่านคำสั่งไต่สวนการตาย ระบุว่าผู้เสียชีวิตทั้ง 78 คนตายจากการขาดอากาศหายใจ ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่ โดยไม่ได้ระบุว่าใครทำให้ตาย"
"จากนั้นพนักงานสอบสวนก็ได้ทำสำนวนเพื่อส่งอัยการและส่งฟ้องศาลดำเนินคดีต่อไป โดยสำนวนระบุถึงเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ควบคุมตัวผู้ที่ถูกจับกุมและเสียชีวิตบนรถ เป็นผู้ต้องหา และส่งให้อัยการฟ้องร้องต่อศาลเพื่อให้ดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้ แต่ปรากฏว่าอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง โดยให้เหตุผลว่าไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีได้"
"ตรงนี้เราก็ตั้้งข้อสงสัยมาโดยตลอดว่า เพราะอะไรอัยการถึงบอกว่าไม่มีพยานหลักฐาน ทั้งๆ ที่เรามีประจักษ์พยานเป็นพันคน และคนที่อยู่บนรถแต่ละคันนั้นย่อมเป็นพยานได้อย่างดีว่าคนที่ตาย เขาตายอย่างไร หากพบว่าคนหายใจไม่ออก ก็ควรมีการปรับเปลี่ยนท่านอน อาจจับให้นั่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถป้องกันได้ แก้ไขได้ แต่จากความเห็นสั่งไม่ฟ้องของอัยการ ทำให้คดีนี้จบลง โดยอัยการให้เหตุผลว่าเห็นควรงดสอบสวน เพราะไม่ปรากฎพยานหลักฐานเพียงพอที่จะเอาผิดกับผู้กระทำ"
"พออัยการสั่งไม่ฟ้อง ตัวผู้เสียหายก็ไม่กล้าฟ้องเอง เพราะกลัวความไม่ปลอดภัย จนกระทั่งถึงสมัย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นเลขาธิการ ศอ.บต. ก็มีความคิดที่จะเยียวยาด้วยเงินกับกรณีนี้ โดยตั้งสมมติฐานว่าการชีวิตเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ (เพราะเสียชีวิตระหว่างถูกคุมตัวโดยเจ้าพนักงาน) หลังจากได้เงินเยียวยา ญาติได้มาร้องคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อให้ฟ้องร้องแทน แต่การฟ้องร้องก็ต้องมีพยาน หรือมีคนที่เห็นเหตุการณ์มาเป็นพยาน จุดนี้กลายเป็นปัญหา เพราะทุกคนก็กลัว อีกทั้้งเมื่อได้เงินเยียวยามาแล้วก็ไม่อยากมีเรื่อง"
อังคณา กล่าวอีกว่า เมื่อเปรียบเทียบคดีตากใบ กับคดีการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมทางการเมือง เมื่อเดือน พ.ค.2553 ซึ่งรับผิดชอบโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ปรากฏว่าดีเอสไอทำคดีปี 53 อย่างเต็มที่ เพื่อจะฟ้องร้อง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นให้ได้
"จริงๆ แล้วคดีการเสียชีวิตจากการชุมนุมเมื่อปี 53 ยังหาพยานยากกว่าคดีตากใบเสียอีก เพราะตากใบเป็นพื้นที่ปิด มีคนและนักข่าวอยู่เต็มไปหมด รู้ว่าใครเป็นผู้สั่ง ผู้ควบคุมตัว รู้ว่ารถแต่ละคันมีใครเป็นคนขับและยืนประจำรถ แต่ปรากฎว่าอัยการกลับสั่งไม่ฟ้องในคดีตากใบ จึงกลายเป็นคำถามว่า เหตุการณ์ตากใบปี 47 อัยการสั่งไม่ฟ้อง แล้วทำไมเหตุการณ์สลายม็อบปี 53 กลับมีความเห็นสั่งฟ้อง"
ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวด้วยว่า ทุกวันนี้มีแรงกดดันจากต่างประเทศอย่างมาก โดยเฉพาะองค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) ที่ยังคงยืนยันมาตั้งแต่ปี 2007 (พ.ศ.2550) ถึงความไม่เป็นธรรมในกรณีตากใบ และยังคงทวงถามตลอด และเวทีสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศทุกเวทีก็เห็นว่ากรณีตากใบ คือการทรมานในการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการเสียชีวิตระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่
"ดิฉันมองว่าคดีตากใบนี้ อัยการต้องรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ และนำคดีขึ้นสู่ศาล รวมทั้งให้ผู้เสียหายทั้งหมดสามารถเข้ามาเป็นส่วนร่วม หรือเป็นโจทก์ร่วมในคดีได้ เพื่อที่จะบอกว่าสุดท้ายมีใครต้องรับผิดชอบบ้างจากการปฏิบัติที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก หลังจากคดีจบแล้วอาจจะมีการรอลงอาญาหรืออะไรก็แล้ว แต่อย่างน้อยที่สุดการพิจารณาในศาลจะเป็นรูปแบบหนึ่งของการเปิดเผยความจริง ญาติผู้เสียชีวิตแต่ละคนจะรู้เลยว่าพ่อหรือสามีของตนเสียชีวิตอย่างไร จึงอยากเรียกร้องอัยการให้นำคดีมาทบทวน"
"ส่วนที่อัยการบอกว่าไม่มีพยานหลักฐานนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะขณะนี้ยังมีผู้ที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์และมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบันเป็นจำนวนมาก คนเหล่านั้นพร้อมเป็นพยานในศาล รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐหลายคนก็ยังมีชีวิตอยู่เช่นกัน เช่น คุณศิวะ แสงมณี อดีตอธิบดีกรมการปกครอง หรือ คุณประชา เตรัตน์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้วย"
อังคณา กล่าวทิ้งท้ายว่า คดีตากใบ ไม่อยากให้รัฐบาลมองเป็นเรื่องบุคคล เพราะจริงๆ เป็นเรื่องความยุติธรรมของชุมชนและสังคม การให้ความสำคัญกับเรื่องตากใบ จะสามารถที่จะคลี่คลายปมความรู้สึกไม่เป็นธรรมของคนในพื้นที่ได้
"ทุกวันนี้ไทยได้รับความร่วมมือจากนานาชาติค่อนข้างน้อยเพราะมีปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน แม้สถานการณ์ปัจจุบันจะดีขึ้น แต่ภาพลักษณ์และปัญหาในอดีตยังคงอยู่ ล่าสุดไทยก็ไม่ได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมุนษยชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชอาร์ซี) วาระปี 2558-2560 ตามที่ไทยเสนอตัว"
"ฉะนั้นรัฐต้องหยุดละเมิดสิทธิ หยุดซ้อมทรมาน เคารพเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด คดีตากใบหากรื้อได้ก็ควรรื้อและฟ้องคดีเข้าสู่ศาล ถ้าทำได้จะได้รับความร่วมมือจากนานาชาติมากขึ้น"
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : อังคณา นีละไพจิตร
ขอบคุณ : ภาพจากศูนย์ภาพเนชั่น
อ่านประกอบ :
1 องค์กรสิทธิ ตปท.ชี้ตากใบ "อยุติธรรม" - ญาติ4ศพหนองจิกสู้ต่อเอาผิด จนท.