'หมอยงยุทธ'ปัดไม่รู้เรื่องบริษัทได้งานธงฟ้า
เมื่อเวลา 09.30น. ร้อยเอกนายแพทย์ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทยอินไซด์ไทยแลนด์ ทางช่องสปริงนิวส์และเอฟเอ็ม97.0 MHz ถึงกรณีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้ทำสัญญาว่าจ้าง บริษัท ดี.เอ็ม.อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ซึ่งมีร้อยเอกน.พ.ยงยุทธ เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นและได้งานประชาสัมพันธ์การจัดงานธงฟ้าคืนความสุข ลดค่าใช้จ่ายประชาชน วงเงิน 4,280,000 บาท จากคสช.ว่า ยอมรับว่าในอดีตบริษัทดังกล่าวเป็นของตนจริงตั้งแต่ปี 2536 ที่ต่อมาได้ขายกิจการไปแล้ว เพราะรู้สึกเหนื่อยกับบริษัทนี้ เนื่องจากมีผลประกอบการขาดททุนสะสม ทั้งจากกรณีน้ำท่วมเมื่อปี 2554 และเหตุการณ์ทางการเมือง จึงตกลงกับภรรยาว่าจะขายบริษัท เพราะเรามีเครื่องมือและพนักงานที่มีความพร้อม จึงมีผู้ที่สนใจเรื่องนี้ที่เป็นเจ้าของธุรกิจผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าขนาดใหญ่สนใจและพร้อมที่จะมาลงทุนต่อ ก็มีการเจรจาพูดคุยกันมาระยะหนึ่ง
"จนกระทั่งตกลงกันด้วยวาจาว่าจะขายหุ้นในราคาที่ขาดทุน จาก100บาท ผมขายในราคา80บาท ก็ตกลงกันช่วงก่อนมีการปฏิวัตินะครับและในช่วงหลังผมและภรรยาก็ไม่ค่อยได้ไปทำอะไรที่บริษัทเท่าไร พอมาตกลงอะไรเรียบร้อยแต่ในส่วนของการทำนิติกรรมยังตกเป็นของฝั่งผมอยู่ ภรรยาก็ไปช่วยไปลงนาม เพราะช่วงนั้นเจ้าของใหม่เขายังดูในเรื่องของทรัพย์สินว่าจะต้องมีการถ่ายโอนกันยังไง ก็อยู่ระหว่างกระบวนการถ่ายโอน แต่ทางทีมงานเขาก็ทำงานกันตามปกติ ซึ่งผมไม่ได้เกี่ยวข้องอะไร ผมก็ทำงานในส่วนของคสช. ที่มีหน้าที่เข้าประชุมแล้วก็นำมาชี้แจงผลประชุมทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ หน้าที่ก็มีเท่านั้น อย่างอื่นไม่มีนะครับ ไม่สามารถไปชี้เป็นชี้ตายใครได้ ผมก็ไม่ได้ไปยุ่งอะไรกับงาน"โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวอีกว่า ทีมงานบริษัทเขาก็ไปได้งานจากกระทรวงพาณิชย์ ภรรยาตนก็เป็นผู้ลงนามเพราะเขายังมีอำนาจในการทำสัญญา หลังจากนั้นก็ทำขั้นตอนของการขายบริษัทเรียบร้อยจึงมีการขายหุ้นในวันที่ 30ก.ค.2557 ส่วนเรื่องงราคาหุ้นมีการตกลงกันก่อนหน้านั้นแล้ว
เมื่อถามว่ามีแนวคิดขายบริษัทตั้งแต่ช่วงต้นปี2557 แล้วใช่หรือไม่ ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า จริงๆคิดมานานแล้วเพราะทำเท่าไรก็ไม่ได้กำไรมาก งานของเราก็มีขนาดเล็กทั้งนั้นไม่ได้ใหญ่โตมูลค่าร้อยล้านบาทอย่างที่เป็นข่าว เราทำก็ค่อนข้างเหนื่อยเพราะทำเกี่ยวกับสารคดี เชิงวิชาการ ไม่ใช่เอ็นเตอร์เทนเม้นที่ขายงานได้ง่ายกว่า
เมื่อถามย้ำว่าคิดจะขายในช่วงต้นปี 2557 นี้ใช่หรือไม่ ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ก็มีการพูดคุยกับหลายรายมาเรื่อยปละปลาย แต่มาคุยกันจริงๆจังๆช่วงต้นปี57 เมื่อถามว่ามีการเจรจาขายหุ้นบริษัทก่อนการรัฐประหารนานแค่ไหน ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า คุยกันมาเป็นระยะๆ 4-5รอบ เขาก็ต่อรองราคามาเรื่อยๆ
ต่อข้อถามที่ว่าถ้าคิดจะขายกิจการทิ้งทำไมวันที่ 30เม.ย.2557 ถึงมีการเพิ่มทุนบริษัทจาก 2 ล้านบาทเป็น 15 ล้านบาท ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ข้อมูลนี้ผิด เพราะบริษัทเริ่มจดทะเบียนด้วยทุน 1ล้านบาท ต่อมาเป็น 2 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 15 ล้าน นับย้อนหลังไปเป็น 10 ปีแล้วซึ่งตนจำวันที่ไม่ได้ แต่ยืนยันว่าไม่ใช่มาเพิ่มในปีนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่าดังนั้นช่วงที่เริ่มคิดและเจรจาที่จะขายกิจการบริษัทมีทุนจดทะเบียน 15 ล้านบาท อยู่แล้วใช่หรือไม่ ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า "ถูกต้อง ใช่ครับ"
ถามว่ามีการบรรลุข้อตกลงขายบริษัทกับผู้ที่จะมาซื้อคือคุณศิริวรรณ พาณิชย์ตระกูล เกิดขึ้นช่วงก่อนหรือหลังการรัฐประหาร ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า มีการตกลงกันก่อน 22 พ.ค.2557 แต่โอนหุ้นสำเร็จในวันที่ 30ก.ค. 2557
ผู้สื่อข่าวถามว่าแสดงว่าช่วงหลังรัฐประหารและก่อนถึงวันที่ 3 ก.ค. กรรมการที่ยังมีชื่อของคุณหมอและภรรยายังมีอำนาจลงนามใช่หรือไม่ ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า "ใช่ครับ" เพราะยังมีชื่อเป็นกรรมการ ส่วนการได้งานธงฟ้านั้นเป็นการดำเนินการของทีมงานที่มีการเซ็ตระบบไว้ อาจจะไปเสนองานกับหน่วยงานก็เป็นเรื่องของฝ่ายการตลาด เขาก็ว่าของเขาไปในกระบวนการ เพราะช่วงหลังตนและภรรยาไม่ค่อยได้เข้าไปยุ่งกับทีมงาน
ถามว่าภรรยามาบอกก่อนลงนามหรือไม่เพราะว่ามีความน่าหวาดเสียวอยู่เหมือนกัน ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า เขาก็บอก แต่ตอนนั้นเราไม่ได้มีตำแหน่งหน้าที่อะไรในคสช. "ผมไปแค่เป็นทีมงานโฆษกในแง่ของการแถลงข่าวเฉย ๆ เขาไม่ได้แต่งตั้งผมเป็นโฆษกนะครับ ผมเป็นแค่ทีมงานช่วยในแง่ของเข้าประชุมและแถลงผลการประชุมครับ"
เมื่อถามว่าโฆษกคสช.เป็นพ.อ.วินธัย สุวารีใช่หรือไม่ ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ท่านวินธัยเป็นรองโฆษกองทัพบก เราก็เป็นทีมงานโฆษคสช.ทั้งหมด
เมื่อถามว่าคุณศิริวรรณ พาณิชย์ตระกูล เป็นใคร ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ท่านเป็นเจ้าของบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ ซึ่งตนต้องขออนุญาตไม่อยากให้ท่านเข้ามาเกี่ยวข้องบอกได้แค่ว่าเป็นบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ ซึ่งบริษัทของท่านมีงานที่ต้องจ้างประชาสัมพันธ์อยู่แล้ว คงเล็งเห็นว่าเป็นโอกาสพอดีที่จะมีบริษัทดำเนินการในแง่นี้ เพราะทีมงานและอุปกรณ์ของเรามีอยู่แล้ว
เมื่อถามย้ำอีกว่าชื่อของคุณศิริวรรณบอกไม่ได้ใช่หรือไม่ว่าทำธุกิจเครื่องใช้ไฟฟ้ายี่ห้ออะไร ร.อ.นพ.ยงยุทธหัวเราะเบาๆแล้วกล่าวว่า ไม่อยากให้ท่านต้องมาเกี่ยวข้องด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่าพลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีได้สอบถามเรื่องนี้หรือไม่เห็นมีข่าวนายกฯสั่งให้มีการตรวจสอบ ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องให้ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีชี้แจง รู้สึกจะชี้แจงผ่านทางเครือเนชั่นไปแล้ว ซึ่งตนชี้แจงเองคงจะไม่เหมาะสม
"แต่ผมได้เล่าเรื่องราวต่างๆนี้ให้ท่านนายกฯ และเลขาธิการนายกฯฟังแล้ว ท่านก็รับฟังที่ผมอธิบาย ก็เรียบร้อยดีครับไม่ได้ถามไถ่อะไรมากมายครับ"ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าว
ต่อข้อถามว่าที่เขานินทากันเยอะคือพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ เป็นอดีตผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 และคุณหมอก็มีบทบาทในช่อง 5 ระดับหนึ่ง มันจะต่อจิ๊กซอกันได้หรือไม่ เพราะบริษัทดีเอ็มฯของคุณหมอไม่ได้งานของกระทรวงพาณิชย์มานานแล้ว หรือจะเป็นช่อง 5 คอนเน็คชั่น ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวปฏิเสธว่าไม่ใช่ครับ เพราะพลเอกฉัตรชัยไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยและช่วงที่ทำงานคสช.ก็แทบจะไม่ได้คุยกับท่านเลย เพราะตนมีหน้าที่เข้าประชุมอย่างเดียว พลเอกฉัตรชัยไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้แน่นอน อย่างไรก็ตามงานประชาสัมพันธ์บริษัทดีเอ็มฯก็ได้งานของกรมอื่น ๆ ปละปลาย ในอดีตงานของกรมการค้าภายในเราก็เคยได้ แต่นานมากแล้วประมาณ 10 ปี
"เราก็อยู่ในแวดวงกระทรวงต่างๆ กระทรวงพาณิชย์เรามีงานอยู่นะครับ เด็กที่ไปประสานเรื่องงานเขาก็ไปทุกหน่วยงานนะครับ ไปแนะนำตัวอะไรต่างๆ แต่ผมไม่ทราบรายละเอียดว่าเขาไปที่ไหนบ้าง เขาก็ทำงานของเขาไป"ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าว
เมื่อถามว่าเห็นมีข่าวว่าคุณหมอยังทำงานที่โรงพยาบาลอยู่ ตกลงคุณหมอทำธุรกิจอะไรกันแน่ ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ที่โรงพยาบาลพญาไท 2 ตนทำงานเป็นแพทย์อยู่ที่นั่นและไปทำช่วงนอกเวลาราชการ ซึ่งตนดูแลในส่วนของคนไข้ต่างประเทศเป็นหลักในเชิงของเซอร์วิสทั้งในมิติของการรักษาและการบริหาร เพราะมีหน้าที่ต้องสื่อสารกับญาติและผู้ป่วยชาวต่างประเทศที่มารักษาแพื่อสร้างความเข้าใจ
เมื่อถามว่าโรงพยาบาลพญาไท 2 ก็กำลังบุกตลาดต่างประเทศพอสมควร ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า หลายโรงพยาบาลของไทยก็ดำเนินธุรกิจในแนวนี้อยู่
ส่วนในช่วงที่เป็นโฆษกรัฐบาลช่วงรัฐประหารปี 2549 บริษัทดีเอ็มฯก็รับงานของรัฐบาลไปจำนวนมาก มีข้อมูลระบุว่าตั้งแต่ 10ตุลาคม2549 ถึง 3ตุลาคม 2550 ได้งานไป12โครงการ 9หน่วยงาน 20ล้านบาท ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า คืออย่างนี้ รัฐธรรมนูญชั่วคราวในช่วงนั้นไม่ได้ห้ามในส่วนของการทำธุรกิจ ตนก็ปรึกษากับผู้หลักผู้ใหญ่ในตอนนั้น เพราะท่านนายกฯขณะนั้นก็เรียกให้มาทำงาน ตนก็เป็นห่วงในประเด็นนี้อยู่เหมือนกัน แต่ก็พบว่าไม่ได้มีข้อห้ามไว้ ซึ่งตนก็เป็นเจ้าของบริษัทอยู่ในขณะนั้น เมื่อตนเข้ามาเป็นโฆษกรัฐบาลสักระยะตนก็ลาออกจากกรรมการแต่ยังถือหุ้นอยู่ ซึ่งพี่สะใภ้ตนเป็นผู้บริหาร แต่เรียนว่าตนก็ไม่ได้ไปยุ่งอะไรเลย ส่วนจำนวนงานและจำนวนเงินเท่าไรตนก็จำไม่ได้ แต่ยืนยันเป็นการดำเนินงานตามปกติของบริษัทตนไม่ได้ไปยุ่ง
"ไม่ใช่ว่าไปได้งานในช่วงที่เป็นโฆษกรัฐบาล และตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ร่างออกมาแล้วก็จะมีประเด็นเรื่องที่รัฐมนตรีไม่ควรจะถือหุ้นในสื่อ แม้ว่าผมจะไม่ได้นั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีและรัฐธรรมนูญบอกว่าให้ทำได้มันก็อาจจะไม่เหมาะสมจึงลาออกการเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีครับ"ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวและว่า ประเด็นที่บอกว่าบริษัทตนได้งบจากราชการร้อยล้านบาทนั้นเรียนว่าเป็นวงเงินรวมหลายปีตั้งแต่ปี 2543 ถึง 2557 ประมาณ 64งาน ถ้าบอกว่าได้เงินร้อยล้านบาทคนก็จะแตกตื่น แต่เป็นร้อยล้านที่ได้รับจาก64งาน ตั้งแต่ปี2543 ถึง 2557 รวม14ปี