เสียงจากชุมชน เขตศก.ทวาย กับการละเมิดสิทธิฯ ข้ามพรมแดนของทุนไทย
การดำเนินโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (Dawei Special Economic Zone) ประเทศเมียนมาร์ ได้กลายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดนไปเสียแล้ว เมื่อผู้ร่วมลงทุนฝ่ายไทย ‘บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)’ เข้าไปดำเนินโครงการจนส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่
แม้ปัจจุบันโครงการฯ ทวาย ได้หยุดชะงักลงชั่วคราว เนื่องจากประสบปัญหาด้านเงินทุน และกรรมสิทธิ์ก็ถูกเปลี่ยนมือจากบริษัท อิตาเลียนไทยฯ มาอยู่ภายใต้บริษัทนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle:SPV) ซึ่งร่วมลงทุนระหว่างรัฐบาลไทยและเมียนมาร์ สัดส่วน 50:50 แทน แต่การแสวงหาผู้ร่วมลงทุนยังไม่ประสบความสำเร็จนัก
ทำให้การเข้ามารับตำแหน่งผู้นำรัฐบาลไทยของ ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ในยุคเก็บกวาดใต้พรม ดำรงความโปร่งใส ถูกตั้งคำถามถึงแนวคิดเร่งเร้าให้รื้อฟื้นโครงการฯ ทวาย จะเดินหน้าไปในทิศทางใด ท่ามกลางปัญหาในอดีตที่กองโตเท่าภูเขา ชาวบ้านไม่ได้รับการเยียวยาผลกระทบอย่างเป็นธรรม
ด้วยเหตุนี้เครือข่ายภาคประชาสังคม นำโดยสมาคมพัฒนาทวาย พร้อมชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ จึงเข้าพบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ของไทย เพื่อชี้ให้เห็นข้อกังวลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนจากโครงการฯ ทวาย ผ่านรายงานฉบับสมบูรณ์ เรื่อง ‘เสียงจากชุมชน:ข้อกังวลเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและโครงการที่เกี่ยวข้อง’
Naw Pe The Law แกนนำภาคประชาสังคมจากชุมชนกะเหรี่ยง ระบุถึงข้อค้นพบด้านวิถีการดำรงชีพของชาวบ้านทวายมีอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักร้อยละ 71 ไม่ว่าจะเป็นการทำสวน ทำนาข้าว และการปศุสัตว์ ฉะนั้นพื้นที่เกษตรกรรมจึงมีความสำคัญมาก หากต้องสูญเสียที่ดินทำกินไปจะส่งผลให้การดำรงชีวิตถูกลดทอนลง
การสูญเสียที่ดินที่ว่านั้น เธอขยายความว่า เกิดจากการสร้างถนนตัดผ่าน ทำให้มีดินถล่มลงมาทับพื้นที่ทำกิน อีกทั้งบริษัท อิตาเลียนไทยฯ ผู้ดำเนินงานยังห้ามชาวบ้านปลูกพืชผลในที่ดินของตนเอง เพราะคาดว่าจะใช้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ ทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตปกติได้ เพราะต้องสูญเสียรายได้จากการเกษตรกรรม
“นักธุรกิจบางคนมักรู้ว่าพื้นที่ใดจะได้รับการพัฒนา และนำมาสู่การล่อลวงซื้อที่ดินจากชาวบ้านในราคาถูกเพื่อหวังเก็งกำไรหรือรับค่าชดเชยในราคาสูง”
Naw Pe The Law กล่าวอีกว่า ในแง่การเปิดรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านนั้น มีการจัดประชุมในชุมชนที่เกี่ยวข้องกับโครงการขึ้นทุกหมู่บ้าน โดยมีเพียงร้อยละ 27 ที่ให้ข้อมูลว่าเข้าร่วมการประชุม ส่วนอีกร้อยละ 73 ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม และการได้รับข้อมูลจากโครงการฯ ทวายนั้นมักมีเพียงด้านบวก
“การเข้าร่วมประชุมนั้นไม่ได้รับโอกาสในการอภิปรายหรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ สูงถึงร้อยละ 82” เธอ กล่าว และระบุถึงกรณีมีชาวบ้านตัดสินใจอพยพไปอยู่ที่แห่งใหม่มีเพียงร้อยละ 4 ส่วนอีกร้อยละ 79 ไม่ต้องการอพยพ
สำหรับกระบวนการชดเชยและสิทธิโดยชอบธรรมอันพึงมีนั้น Naw Pe The Law กล่าวว่า มีการคำนวณค่าชดเชยให้ชาวบ้านแตกต่างกัน บนพื้นฐานความไม่โปร่งใสและเป็นธรรม
ที่สำคัญ ทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าชดเชยไม่ปรากฏหลักฐานอย่างเป็นทางการ ดังเช่น การไถที่ดินเพื่อตัดผ่านถนน ที่ไม่มีการจ่ายค่าชดเชยแต่อย่างใด จนชาวบ้านต้องรวมตัวประท้วงกดดัน หากการยอมจ่ายของบริษัทฯ กลับนับเพียงการสูญเสียต้นไม้ มิได้รวมในส่วนที่ดิน และความเสียหายจากการก่อสร้าง
“มีชาวบ้านจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับค่าชดเชย ร้อยละ 72 มีเพียงร้อยละ 12 ที่ได้รับบางส่วน และค่าชดเชยที่ได้รับก็ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตในอนาคตสูงถึงร้อยละ 91 เพราะพื้นที่เกษตรกรรมที่สูญเสียไปนั้น ถือเป็นอาชีพหลักของพวกเขา ทว่า จะนำเงินที่ได้รับไปซื้อที่ดินใหม่ก็ยากลำบาก เพราะตั้งแต่เกิดการรุกคืบเข้ามาของเขตเศรษฐกิจพิเศษทำให้ราคาที่ดินพุ่งสูงเพิ่มมากขึ้น” เธอทิ้งท้าย
ข้อมูลสังเขปข้างต้นที่ถูกนำเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิฯ ถือเป็นข้อเท็จจริงที่ได้รับจากการลงพื้นที่สอบถามชาวบ้าน ขณะที่ความเคลื่อนไหวล่าสุด นอกจากพวกเขาจะเรียกร้องค่าชดเชยเยียวยาจากความเสียหายในอดีตแล้ว ยังยืนกรานคัดค้านโครงการฯ ทวายระลอกใหม่ด้วย จนกว่าจะแก้ไขปัญหาเดิมให้เสร็จสิ้น
โดย Saw Kho ชาวบ้านทวาย ตั้งข้อสังเกตว่า การหยุดชะงักของโครงการฯ ทวายเมื่อพฤศจิกายน 2556 ของบริษัท อิตาเลียนไทยฯ แต่เหตุใดยังเห็นเครื่องจักรของบริษัททำงานอยู่ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง จึงหวั่นว่าโครงการจะมีการรื้อฟื้นขึ้นอีกครั้ง ทั้งที่ผ่านมายังไม่มีการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ชาวบ้าน มีการตัดต้นไม้จำนวนมาก และสัญญาจะจ่ายให้ภายใน 2 อาทิตย์ แต่ก็ไม่เคยได้รับ จนพวกเราเริ่มรู้แล้วว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในพื้นที่
“บริษัท อิตาเลียนไทยฯ เข้ามาสร้างถนนโดยไม่บอกกล่าวกับชาวบ้านเลย เขาพยายามทำทุกสิ่งทุกอย่างที่ต้องการ แม้จะมีการเรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูล แต่ในที่สุดก็ไม่มีการเปิดเผย” เขากล่าว และว่าการก่อสร้างได้ทำลายสวนของพวกเรา และแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค กระทั่งบัดนี้ก็ไม่มีการสร้างระบบน้ำที่ดีให้ ยกเว้น ปั๊มน้ำ
ด้าน Ye Lin Myint สมาคมพัฒนาทวาย กล่าวถึงค่าชดเชยความเสียหายว่า จะสามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลการจ่ายค่าชดเชยได้อย่างไร และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบระหว่างรัฐบาลเมียนมาร์กับไทย ทั้งนี้ เขายังกังวลที่สุดในการรื้อฟื้นโครงการฯ ทวายขึ้นมาอีกครั้ง อาจส่งผลกระทบต่อความเสียหายกับชาวบ้านในอนาคตได้
ความเดือดร้อนของชาวบ้านทวายข้างต้นสอดคล้องกับผลการศึกษาของสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย‘ดร.กัลยา สุนทรวงศ์สกุล’ ในฐานะนักวิจัย ระบุถึงการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment:EIA) จากการสร้างถนนเชื่อมต่อไทยกับโครงการฯ ทวายว่า การดำเนินงานก่อสร้างถนนไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของธนาคารโลก
“การตัดถนนบนเขา ทำให้ดินถล่มลงมาทับพืชผลทางการเกษตรที่ชาวบ้านปลูกไว้ด้านล่าง ซึ่งกรณีเหล่านี้ไม่มีการจ่ายค่าชดเชย ถึงขนาดบางทีมีดินหล่นมาทับถมทางไหลของน้ำใช้เพื่ออุปโภคบริโภค แต่ผลกระทบเหล่านี้กลับถูกมองข้าม”
นักวิจัย ระบุต่อว่า เป้าประสงค์การสร้างถนนเพื่อนำความเจริญเข้าสู่ท้องถิ่น แต่หากถนนเส้นนั้น คือ มอเตอร์เวย์ ชาวบ้านสองข้างทางคงไม่มีโอกาสได้ใช้ อีกทั้ง ยังทำให้เส้นทางสายเก่าที่ชาวบ้านใช้สัญจร ยกตัวอย่าง ทางเกวียน อาจถูกขวางทางได้ แม้จะสร้างเส้นทางเบี่ยงให้ใหม่ หากก็เป็นการเพิ่มระยะทางจนสร้างความลำบากมากขึ้น
นอกจากนี้ในด้านการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ดร.กัลยา ได้ค้นพบทางเดินของช้างป่าช่วงชายเเดนจ.กาญจนบุรี-ทวาย แต่ปรากฏว่าการสร้างถนนได้กั้นเส้นทางดังกล่าว ฉะนั้นหากยังดำเนินงานต่อไป คงต้องศึกษาระยะยาว โดยบริษัท อิตาเลียนไทยฯ เสนอให้สร้างทางข้ามสัตว์ป่า
นักวิจัย ยังเปิดเผยถึงข้อกังวลประการสำคัญ คือ การใช้ชีวิตที่ผูกพันกับธรรมชาติ ดังนั้นการสร้างถนนจึงย่อมมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตของชาวบ้านได้ แต่หากลงลึกในบริบทสังคมเมืองอาจมองไม่เห็นประเด็นนี้
“นักวิจัยให้ความสำคัญเกี่ยวกับความปลอดภัยของคนในพื้นที่ เพราะชาวบ้านไม่รู้จักการใช้ถนนมาก่อน อีกอย่าง คนแปลกถิ่นอาจนำพาโรคติดต่ออย่างเอชไอวีเข้าไปได้ ฉะนั้นทำอย่างไรให้การสร้างถนนเกิดข้อดีมากกว่าเสีย และให้ความสำคัญกับชีวิตคนมากขึ้น แม้สุดท้ายผลกระทบจะมีราคาไม่แพง แต่ก็นับว่าเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตประจำวัน” ดร.กัลยา กล่าว
‘นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ’ กรรมการสิทธิฯ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน กล่าวว่า ความทุกข์ของชาวบ้านทวายถือเป็นหน้าที่ของกรรมการสิทธิฯ โดยจะดำเนินการตามหลักปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Human Rights Declaration:AHRD) และขับเคลื่อนผ่านกลไกคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights :AICHR) ดูแลคนทั้งภูมิภาค
“ประชาคมอาเซียนต้องไม่มองการพัฒนาเฉพาะด้านเศรษฐกิจ แต่ต้องมองด้านสังคมควบคู่ไปด้วย บนพื้นฐานที่มั่นคงและยั่งยืน โดยไม่ทำร้ายคนในอาเซียน มิฉะนั้นจะถือเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่สนับสนุนกลุ่มทุนฝ่ายเดียว”
นพ.นิรันดร์ กล่าวด้วยว่า การดำเนินธุรกิจต้องยึดหลักสิทธิมนุษยชน สำคัญที่สุด หากเกิดปัญหาจำเป็นต้องจ่ายค่าชดเชยเยียวยา แม้จะเข้าไปทีหลังก็ต้องหาวิธีร่วมกับรับผิดชอบ อนึ่ง การพัฒนาลักษณะนี้ แม้จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น แต่ก็ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมเช่นกัน ฉะนั้นจำเป็นต้องทบทวนแนวทางการพัฒนาภาพรวมใหม่
ทั้งหมดคือความเดือดร้อนของชาวเมียนมาร์ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ ทวาย โดยไร้วี่แววผู้รับผิดชอบในปัญหาที่คั่งค้าง และกำลังกลายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดนที่ไทยไม่อาจปฏิเสธการดูเเลได้ .
อ่านประกอบ:กสม.จ่อยื่นหนังสือ 'ประยุทธ์' เร่งเยียวยาชาวเมียนมาร์จากโครงการศก.ทวาย
เผยอิตาเลี่ยนไทยเล็งดึงชินคอร์ปร่วมทุน ดันท่าเรือทวายหลังล่าช้า-พม่าไม่พอใจ