หยิบหนังสือ “เจ้าชีวิต”- “รักแรกของรัชกาลที่ 5” อ่าน... น้อมรำลึกวันปิยมหาราช
เหตุการณ์ “ลูกเสีย เมียเสีย” ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงเสียพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง ถึงขนาดทรงเล่าไว้ในพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี ตอนหนึ่งว่า "มีความโทมนัสเสียใจยิ่งแทบจะถึงชีวิต"
วันที่ 23 ตุลาคม พุทธศักราช 2453 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราชของคนไทย เสด็จสวรรคต
รวมเวลาถึงวันนี้ 104 ปี พระองค์ยังทรงเป็นที่รักและเคารพสักการะของคนไทยอยู่เสมอ ตลอดรัชกาลทรงครองสิริราชสมบัติ นานถึง 42 ปี ที่มีแต่ความร่มเย็นสำหรับประชาราษฎร์ ทรงเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงประเทศ วางรากฐานความเจริญในด้านต่างๆ นับแต่วาระที่พระองค์ได้ราชสมบัติมาจนถึงวันสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ
สำนักข่าวอิศรา หยิบหนังสือประวัติศาสตร์ ที่คนไทยน่าจะได้อ่าน เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และแสดงความจงรักภักดี เราได้คัดเพียงบางช่วงบางตอนมานำเสนอ
เล่มแรก พระนิพนธ์เรื่อง “เจ้าชีวิต” ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ที่ให้ภาพเกี่ยวกับพระมหากษัตริไทย มีเลือดเนื้อ มีชีวิตจิตใจ รวมถึงมีการยกพระราชดำรัสของกษัตริย์ประกอบ และ “รักแรกของรัชกาลที่ 5” ผลงานของ ลาวัณย์ โชตามระ
31 พฤษภาคม "วันถือ" ของรัชกาลที่ 5
ในหนังสือ “รักแรกของรัชกาลที่ 5” ลาวัณย์ โชตามระ ระบุว่า มีบางช่วงที่องค์พระปิยมหาราชทรงเผชิญกับวิปโยคทุกข์แสนสาหัส โดยทรงประสบภาวะที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “ลูกเสียเมียเสีย” มามากมายหลายครั้ง ในบางครั้งก็ทรงสูญเสียพร้อมกันทั้ง “ลูก” และ “เมีย”
โอกาสที่พระองค์จะทรงเผชิญกับความทุกสาหัสเช่นนี้ มักจะตกอยู่ในวันหนึ่งเป็นพิเศษในปีหนึ่ง วันนั้นคือ วันที่ 31 พฤษภาคม
พระองค์เจ้าชายอิศรวงศ์วรราชกุมาร พระราชโอรสพระองค์แรก ที่ประสูตรใน "เศวตฉัตร" ในเจ้าจอมมารดาแสง เพียง 2 พรรษา ก็สิ้นพระชนม์ในวันที่ 31 พฤษภาคม ปีวอก พ.ศ.2415
8 ปี ต่อมา ในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2423 ได้มีเหตุการณ์สำคัญทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถือเอาวันที่ 31 พฤษภาคม เป็นวันเคราะห์ร้ายอย่างยิ่งของพระองค์ นั่นคือ
เมื่อเรือโสรวาร อันเป็นเรือพระประเทียบล่มที่ตำบลบางพูด สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ซึ่งกำลังทรงพระครรภ์อยู่สิ้นพระชนม์ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ พระชันษาได้สองปี ก็สิ้นพระชนม์ด้วย
เหตุการณ์ที่ภาษาชาวบ้านเรียกกว่า “ลูกเสีย เมียเสีย” ครั้งนี้ ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงเสียพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง ถึงขนาดทรงเล่าไว้ในพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) ตอนหนึ่งว่า "มีความโทมนัสเสียใจยิ่งแทบจะถึงชีวิต"
นับแต่นั้นมา ก็ปรากฎว่า พระราชโอรสและพระราชธิดาพระองค์สิ้นพระชนม์ในวันที่ 31 พฤษภาคม อีกหลายพระองค์
สมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ พระราชโอรสองค์ที่ 5 ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ก็สิ้นพระชนม์ในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2430
และยังทรงเสียสมเด็จเจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณพระราชธิดา ซึ่งประสูติแด่สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระบรมราชเทวี ก่อนหน้า "วันถือ" ของพระองค์เพียง 3 วัน
นอกจากเหตุการณ์ประเภท "ลูกเสียเมียเสีย" ในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2426 ยังได้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นแก่พระองค์อีก เนื่องจากกรณีพิพาทเรื่องเขตแดนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส หรือเหตุการณ์ ร.ศ.112 ถึงขนาดที่ฝรั่งเศสจะเอาไทยเป็นเมืองขึ้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสียพระราชหฤทัยจนทรงประชวรหนัก และเลิกเสวยพระโอสถ
เรื่องวันที่ 31 พฤษภาคม อันเป็น “วันถือ” ของรัชกาลที่ 5 ในหนังสือเล่มนี้ ระบุว่า เป็นที่รู้กันอยู่ในบรรดาพระราชวงศ์และผู้ใกล้ชิดพระองค์ เท่านั้น เมื่อใดที่ไม่ได้เสด็จอยู่ในพระนคร เมื่อนั้นก็หมายความว่า ทรงระแวงถึงเหตุร้ายอันจะพึงบังเกิดแก่พระองค์ในวันนั้น จึงทรงแปรพระราชฐานไปประทับยังที่อื่น เป็นการสะเดาะเคราะห์โดยปริยาย
และถ้าในวันที่ 31 พฤษภาคมใด ผ่านไปโดยไม่ได้มีเหตุการณ์อันใดเกิดขึ้นแก่พระองค์ ก็จะมีการถวายพระพรชัยแด่พระองค์
ฝรั่งลือมีพระมเหสี-เจ้าจอมรวมสามพัน
ขณะที่ในพระนิพนธ์เรื่อง เจ้าชีวิต ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ มีตอนหนึ่งซึ่งเล่าถึงนักเขียนการ์ตูนชาวอเมริกัน เขียนประกอบเรื่องแปลกๆ ต่างๆของโลก ชื่อ ริปลีย์ (Ripley) เขียนเรื่อง "เชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม" (Believe It or Not)
ครั้งหนึ่งเขาแถลงว่า พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระมเหสีและเจ้าจอมรวมหมดด้วยกันเป็นจำนวนถึงสามพัน มีพระโอรสธิดา 370 พระองค์
การที่ฝรั่งเอาไปลือว่าตามกัน และแถลงจำนวนนั้นๆซ้ำกัน และสูงกว่าความเป็นจริงนั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ระบุว่า
“ แต่ก่อนนี้เป็นเรื่องยากที่จะทราบได้แน่ว่า ทรงมีกี่องค์ กี่คนจริงๆ เพราะไม่มีรายนามเป็นทางราชการ เราอาจทราบได้แต่พระนามและนามของพระมเหสี และเจ้าจอม ซึ่งมีพระโอรสธิดาเท่านั้น
ผู้เขียนได้ไปอ้อนวอนคุณจอมรัชกาลที่ 5 ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ ให้ท่านช่วยกันจดจำรายนามทั้งหมดให้ได้ แต่แรกท่านก็ไม่เต็มใจ ครั้นอ้อนวอนว่า เป็นการทำประโยชน์แก่ความจริง และให้คนทราบว่า มีจริงๆ กี่คน ดีกว่าจะไปมัวเชื่อเรื่องเหลวแหละเช่นของริปลีย์ ท่านจึงยอม"
ขณะนี้มีรายนามแล้ว รวมทรงมี 92 พระราชโอรสธิดานั้น ทรงมี 77 พระองค์ คือ พระราชโอรส 32 และพระราชธิดา 44 กับพระองค์หนึ่งซึ่งไม่ทันจะประสูติ คือสิ้นพระชนม์ในพระครรภ์ของสมเด็จเรือล่ม
ขณะที่พระมเหสีและเจ้าจอมที่มีลูกนั้น รวมจำนวน 36
“อนึ่ง เป็นธรรมเนียมในรัชกาลนั้น และรัชกาลก่อนๆ ในทางรัฐประศาสโนยายที่จะทรงรับบุตรี ซึ่งบุคคลสำคัญๆ นำมาถวาย บรรดาเจ้าจอมทุกๆ ท่านได้รับเกียรติและการเลี้ยงดูอย่างดี” พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ บันทึกไว้ในพระนิพนธ์เรื่อง เจ้าชีวิต
สอดคล้องกับในหนังสือ “รักแรกของรัชกาลที่ 5” ลาวัณย์ โชตามระ เล่าถึงตอนที่ พระองค์เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก ปี พ.ศ.2440 เรื่องที่พระองค์ทรงมีพระมเหสีและพระสนมนางเป็นจำนวนมาก เป็นเรื่องที่พวกฝรั่งเห็นแปลก จึงมีการ "กระชิบ" ห้ามวงการราชสำนักต่างๆ ในยุโรป มิให้ผู้หนึ่งผู้ใดกราบทูลถามเรื่องนี้่เป็นอันขาด ด้วยเกรงว่า จะเป็นที่ระคายเคืองพระยุคลบาท
แต่ก็ยังมีผู้กล้ากราบบังคมทูลถามเรื่องนี้จนได้ คือ ปรินเซสส์มารี ชายาของปรินซ์วัลดิมาร์ แห่งประเทศเดนมาร์ค ซึ่งได้กราบทูลถามว่า
"ทำไมท่านจึงมีภรรยามากนัก"
พระราชดำรัสตอบอันแยบยลคมคาย สมเชิงชายที่ขึ้นชื่อว่า "มีเมียมาก" และทำให้ปรินเซสส์มารี ต้องอายม้วนไปนั้น ก็คือว่า
"เพราะว่าฉันไม่ได้พบเธอมาก่อนนั่นเอง"…
สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงมีพระมเหสีและพระสนมนางมากๆ นั้น เป็นเพราะพระราชประสงค์ในทางโลกียสุขประการเดียวเช่นนั้นหรือ
พึงสังเกตุไว้ด้วยก็คือ นอกจากพระมเหสีเทวีแล้ว บรรดาพระสนมนางล้วนแต่เป็นธิดาอำมาตย์ผู้ใหญ่ หรือไม่ก็ธิดาผู้ประกอบไปด้วยธนสารสมบัติ หรือไม่ก็ธิดาผู้ที่จงรักภักดีในพระราชวงศ์เท่านั้น
ส่วนรูปโฉมนั้นเป็นคุณสมบัติประการรองลงมา
ผู้หญิงแบบที่รัชกาลที่ 5 โปรด
ขณะที่ผู้หญิงแบบที่รัชกาลที่ 5 โปรด ซึ่ง “โปรด” นี้ไม่ได้หมายความว่า รักชอบพอใจในฐานะชู้เมีย แต่หมายถึงว่า “พอใจ ยกย่อง และสรรเสริญ” ลาวัณย์ โชตามระ ได้สรุปไว้ในหนังสือเล่มนี้ ว่า ต้องมีความเก่ง คือ เก่งการงาน
สมเด็จพระอัครมเหสีของพระองค์ คือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ นอกจากปรีชาสามารถในด้านการบริหารบ้านเมือง ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จนสมเด็จพระปิยมหาราชทรงยกย่องแล้ว ยังทรงมีคุณสมบัติอีกประการหนึ่ง คือ การร้อยดอกไม้ เป็นเครื่องตกแต่งต่างๆ เช่น เครื่องแขวนเพดาน เครื่องประดับพระบัญชร
โดยเฉพาะพวงมาลัยโซ่ ซึ่งทำเป็นห่วงคล้องต่อๆ กันเป็นลูกโซ่นั้น ก็เป็นสิ่งที่ทรงคิดประดิษฐ์ขึ้น และใช้สวมคอม้าพระที่นั่งพระบรมรูปพระปิยมหาราชานุสรณ์ เป็นพวงแรกในวันเปิดอนุสาวรีย์
ที่มาภาพ:http://th.wikipedia.org
ท้าวราชกิจวรภัตร (แพ บุนนาค) หัวหน้าห้องเครื่องต้นในสมัยต้นๆ รัชกาลนั้น ถึงกับทรงมีพระราชบันทึกไว้ในพระราชนิพนธ์ เสด็จประพาสจันทบุรี เมื่อ พ.ศ.2419 ว่า
"อนึ่งคุณแพนั้น ถึงเป็นผู้หญิงก็จรืง แต่แข็งแรงยิ่งกว่าผู้ชายอีก ไปถึงไหนๆ ก็เอาข้าวไปให้กินทันทีทุกแห่ง ไม่ขาดเลย ไปเรือก็ถือท้ายเองไปบกก็เดินจนสุดหาด 2 เที่ยว 3 เที่ยวด้วยกันไม่ถอยเลย เราได้คนทำครัวดังนี้ เป็นดีจริง ถ้าเป็นคนอื่นทำ เห็นจะได้ความลำบากแก่ตัวเรา ไม่เหมือนคุณแพทำเป็นแน่"
เจ้าจอมเอี่ยม (บุนนาค) เป็นธิดามหาอำมาตย์ในตระกูลใหญ่ ก็เป็นผู้หญิงอีกแบบหนึ่งที่สมเด็จพระปิยมหาราชโปรดนักหนา ไม่ใช่ฐานะที่เป็นเจ้าจอม หากในฐานะที่ท่านผู้นี้ถวายอยู่ "งานนวด" ได้ถูกพระทัย
ในคราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่สองในปี พ.ศ.2450 ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ (พระยศในขณะนั้น) ว่า ไม่ทรงสบายเพราะไม่มีคนถวายอยู่งานนวดได้ถูกพระทัย
ในพระราชหัตถเลขา ฉบับ 30 มีนาคมว่า
"คิดถึงนางเอี่ยม กับนางเหมเต็มที เรี่ยวแรงถ้าจะเทียบเท่าผู้ชายชนิดนี้ 8 คน เท่าแแรงหมอนวดแท้ 16 คน"
เจ้าจอมเอี่ยม เป็นคนโปรดของพระเจ้าอยู่หัว มาตั้งแต่งานโสกันต์ในปี พ.ศ.2428 และนับแต่นั้นมา จนเวลาล่วงเลยไปถึง 22 ปี จนเสด็จประพาสยุโรปครั้งหลัง ความโปรดปรานนั้นก็ยังไม่เสื่อมคลาย...