จ่อปรับเล็กโครงสร้าง"ดับไฟใต้" จับตามาเลย์ยื้อพูดคุยสันติสุข
รัฐบาลเตรียม "ปรับเล็ก" โครงสร้างการบริหารเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบใน จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และบางส่วนของ จ.สงขลา
ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างดังกล่าว เป็นการปรับหลังจากโครงสร้างที่ใช้อยู่ตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าควบคุมอำนาจการปกครอง คือ โครงสร้างที่มีคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ คปต. เป็นแกนหลักในการแปรนโยบายไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่นั้น ไม่สอดคล้องกับการบริหารราชการในช่วงที่มีรัฐบาลและคณะรัฐมนตรี (ครม.)
คสช.ได้ออกคำสั่งฉบับที่ 96/2557 เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตัวย่อว่า "คปต." เมื่อวันที่ 21 ก.ค.57 กำหนดให้มีกรรมการ 20 คน ทั้งหมดเป็นหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และมีประธาน คือ รองผู้บัญชาการทหารบก (รองผบ.ทบ.) ซึ่งขณะนั้นคือ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร
ทั้งนี้ คปต.เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างใหญ่ อยู่ตรงกลางระหว่างระดับนโยบายที่มีหัวหน้า คสช.เป็นประธาน กับระดับพื้นที่ที่มีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เป็นแกนหลัก มีแม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (ผอ.รมน.ภาค 4 สน.) เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด
โครงสร้างนี้เน้นความเป็นเอกภาพ ให้กองทัพบก (ทบ.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นผู้รับผิดชอบหลักเพียงหน่วยเดียว (ทบ.เป็นกำลังหลักใน กอ.รมน.) โดยลดบทบาทศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.ให้เป็นส่วนงานที่ขึ้นตรงกับ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ขณะที่เลขาธิการ ศอ.บต.อยู่ในโครงสร้าง คปต. ทำหน้าที่ประสานงานในส่วนกลาง ไม่ใช่เป็นหน่วยนำด้านการพัฒนาในพื้นที่คู่กับ กอ.รมน.ภาค 4 สน.เหมือนในอดีตที่ผ่านมา
โครงสร้างดังกล่าวตั้งขึ้นเฉพาะหน้าเป็นการชั่วคราว เพราะเป็นช่วงที่ไม่มีรัฐบาล จึงไม่มีฝ่ายการเมือง เป็นโครงสร้างที่ประกอบขึ้นด้วยข้าราชการประจำล้วนๆ และเพื่อให้รองรับการทำงานที่มี พล.อ.อุดมเดช เป็นผู้รับผิดชอบสูงสุด
อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน พล.อ.อุดมเดช ได้ขยับขึ้นเป็น ผบ.ทบ. และเป็นรอง ผอ.รมน.โดยตำแหน่ง (ผอ.รมน.คือนายกรัฐมนตรี) ขณะที่ รองผบ.ทบ.คนใหม่ คือ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ซึ่งควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ด้วยนั้น งานในหมวกรัฐมนตรีแทบไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบกับขณะนี้มี ครม.แล้ว และมีรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง รัฐบาลจึงตัดสินใจยกเลิกโครงสร้างเดิม และกลับไปใช้โครงสร้างเหมือนรัฐบาลพรรคเพื่อไทยแทน
"ประวิตร"คุมภาพใหญ่
สำหรับโครงสร้างใหม่ดับไฟใต้ จะเป็นโครงสร้างที่มีฝ่ายการเมืองเป็นประธาน คล้ายๆ ช่วงก่อน คสช.เข้าควบคุมอำนาจการปกครอง คือ มีรองนายกรัฐมนตรีรับผิดชอบในภาพรวม มีคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กปต.
ทำหน้าที่บูรณาการ 17 กระทรวง 66 หน่วยงาน
ทั้งนี้ ในรัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้เพิ่มโครงสร้าง "ศูนย์ปฏิบัติการ กปต." (ศปก.กปต.) เข้าไปอีกชั้นหนึ่ง เพื่อผลักดันนโยบายให้เกิดผลในทางปฏิบัติเร็วขึ้น เพราะองค์ประกอบใน กปต.ส่วนใหญ่เป็นระดับนโยบาย ซึ่งโครงสร้างนี้ใช้มาตั้งแต่ปี 2555
สำหรับในรัฐบาลชุดปัจจุบัน โครงสร้างใหม่ดับไฟใต้จะมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นประธาน และจะเรียกประชุมทุกหน่วยอย่างเป็นทางการครั้งแรกตามโครงสร้างใหม่ ในวันที่ 31 ต.ค.นี้ ที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)
อย่างไรก็ดี ความต่างระหว่างโครงสร้างของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย กับรัฐบาลชุดปัจจุบัน คือ หน่วยปฏิบัติในพื้นที่จะยังคงมี กอ.รมน.ภาค 4 สน. เป็นหน่วยบัญชาการสูงสุดเหมือนเดิม และลดบทบาท ศอ.บต.ลง
ขณะที่โครงสร้างเก่าของรัฐบาลชุดที่แล้ว และรัฐบาลประชาธิปัตย์ก่อนหน้านั้น ใช้วิธีการบริหารในลักษณะ "เดิน 2 ขา" ให้ กอ.รมน.ภาค 4 สน. กับ ศอ.บต. เดินคู่กัน โดย กอ.รมน.ภาค 4 สน.รับผิดชอบงานด้านความมั่นคง ขณะที่ ศอ.บต.รับผิดชอบงานด้านการพัฒนาและอำนวยความเป็นธรรม โครงสร้างดังกล่าวนี้ในยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่มี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ศอ.บต. ได้รับการตอบรับจากประชาชนในพื้นที่สูงมาก
"พูดคุยสันติสุข"ส่อยื้อ
อีกเรื่องหนึ่งที่หลายฝ่ายกำลังจับตา คือ การเลื่อนกำหนดการเดินทางเยือนมาเลเซียของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. อันจะส่งผลต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นการพูดคุยกับผู้เห็นต่างจากรัฐรอบใหม่ และมีรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกอย่างไม่ต้องสงสัย
เพราะเมื่อการพบปะกันของผู้นำ 2 ประเทศยังเกิดขึ้นไม่ได้ กระบวนการพูดคุยก็จะยังไม่เริ่มนับหนึ่ง!
เมื่อวันจันทร์ที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา พ.อ.วีรชน สุคนธปฏิภาค ทีมโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงยอมรับว่า กำหนดการเยือนประเทศมาเลเซียของนายกรัฐมนตรีต้องเลื่อนออกไปก่อน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการแถลงอย่างเป็นทางการ หลังมีข่าวลือมานาน โดย พ.อ.วีรชน ให้เหตุผลว่าเป็นเพราะผู้นำทั้งสองติดภารกิจ โดยการเลื่อนนัดหมายเป็นความเห็นร่วมกันของสองประเทศ อย่างไรก็ตาม ผู้นำทั้งคู่ต้องพบกันในการประชุมผู้นำเอเปคที่สาธารณรัฐประชาชนจีน และการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในเดือน พ.ย.อยู่แล้ว
อย่างไรก็ดี มีรายงานว่าไม่ใช่กำหนดการเยือนมาเลเซียเท่านั้นที่ถูกเลื่อนออกไป แต่ระหว่างการประชุมเอเชีย-ยุโรป หรือ อาเซม ที่ประเทศอิตาลี เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นายนาจิบ ราซัค นายกฯมาเลเซีย ก็ไม่ได้พบปะพูดคุยอย่างเป็นทางการแบบทวิภาคีกับนายกฯประยุทธ์ ทั้งๆ ที่คณะทำงานของทั้งสองประเทศนัดหมายกันไว้แล้ว
จากความเคลื่อนไหวดังกล่าว ทำให้มีการวิเคราะห์กันว่ามาเลเซียอาจไม่ค่อยสบายใจท่าทีของไทย กรณีตั้ง พล.อ.อักษรา เกิดผล ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายไทย ตามที่มีข่าวออกมา แม้ภายหลังรัฐบาลจะออกมาปฏิเสธว่ายังไม่มีการแต่งตั้งก็ตาม แต่ข่าววงในของฝ่ายความมั่นคงค่อนข้างระบุชัดเจนว่า พล.อ.อักษรา ได้รับมอบหมายให้เข้าไปคุมกระบวนการพูดคุย โดยมี กอ.รมน.เป็นหน่วยที่มีบทบาทหลัก
แนวทางดังกล่าวแตกต่างจากที่เคยกำหนดไว้เดิม ซึ่งได้วางบทบาท สมช.เป็นหน่วยงานหลัก ในฐานะหน่วยงานพลเรือนที่ดูแลงานด้านความมั่นคงคล้ายๆ กับโครงสร้างการบริหารของมาเลเซีย
คาดว่าในการประชุมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาชายแดนใต้ วันที่ 31 ต.ค.ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร เป็นประธาน จะมีการหยิบยกปัญหานี้ขึ้นหารือด้วย!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
ขอบคุณ : ภาพจากศูนย์ภาพเนชั่น