สานเสวนาชุมชนคืบ เครือข่ายฯ เตรียมรุกลงพื้นที่ 5 จังหวัด
“สน” แจงผลคืบสานเสวนาในชุมชน หลังจ่ายงบดำเนินการจังหวัดละ 5 หมื่น คาดทำครบทุกจังหวัดสิ้น พ.ย.นี้ เผยมติการประชุมครั้งแรกผุดคณะกรรมการสันติธรรมรวมข้อมูล สมาชิกสภาฯสตูลเปรย จัดแล้วที่แรกผลตอบรับดี ประชาชนอยากเห็นสันติ ด้านเครือข่ายสานเสวนาเตรียมรุกลงพื้นที่ 5 จังหวัด
เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ที่โรงแรมมิราเคิลแกรด์ หลักสี่ กรุงเทพฯ นายสน รูปสูง รองประธานสภาพัฒนาการเมือง กล่าวถึงความคืบหน้าของแนวคิดการระดมจัดเสวนาในแต่ละจังหวัดเพื่อลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม ภายหลังมติที่ประชุมสภาฯครั้งแรกได้มอบให้สมาชิกฯ ที่มีกระบวนการสรรหาตามมาตรา 7 (1) พระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเมือง พ.ศ. 2551 ร่วมมือกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และผู้เกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่ จัดการเสวนารณรงค์ในจังหวัดของตัวเอง ว่า หลังจากได้จัดสรรงบประมาณเพื่อให้ไปดำเนินการจัดเสวนา พื้นที่จังหวัดละ 50,000 บาทแล้ว ขณะนี้ได้มีการดำเนินการตามมติดังกล่าวไปแล้ว 1 จังหวัด ได้แก่ จ.สูตล ซึ่งได้จัดไปเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ส่วนจังหวัดที่เหลือกำลังอยู่ในระหว่างเตรียมการประสานงานเครือข่ายในจังหวัด คาดว่าจะดำเนินการทั้งหมดแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน
นายสน กล่าวต่อว่า มติที่ได้จากการประชุมครั้งแรกนั้น ได้เห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการสันติธรรม ซึ่งมีคณะกรรมการที่มาจากสมาชิกฯ ร่วมดำเนินการทั้งหมด 17 คนโดยมีตนเป็นประธานฯ ทั้งนี้คณะกรรมการชุดดังกล่าว มีหน้าที่รวบรวมข้อมูลของการจัดเสวนาในทุกจังหวัด เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมของสภาฯ เพื่อหาทางแก้ปัญหาต่อไป
“คาดว่าแนวทางการจัดเสวนาในแต่ละจังหวัด น่าจะทำให้เกิดความเข้าใจ มีการพูดคุยกันอย่างมีเหตุมีผลมากขึ้น ผมได้สอบถามกับจังหวัดที่จัดไปแล้ว ก็ได้รับคำตอบว่ามีผลตอบรับที่ดีจากประชาชนในพื้นที่ มันบ่งบอกได้ว่าชาวบ้านเอง ก็ต้องการที่จะเห็นการพูดคุยกันอย่างสันติ ปราศจากความรุนแรง” รองประธานฯสภากล่าว
สมาชิกฯสตูล เผยผลเสวนา-รณรงค์ มีแนวโน้มดี
นายสายันห์ ศรีน้อย สมาชิกสภาพัฒนาการเมือง มาตรา 7 (1) จ.สตูล ซึ่งมีการจัดเสวนาลดความขัดแย้งไปแล้วนั้น กล่าวว่า ได้ดำเนินการตามมติที่ประชุมไปแล้วเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยภายในกิจกรรมมีการเดินรณรงค์ เพื่อลดความขัดแย้งจากศาลาว่าการจังหวัดจนถึงวิทยาลัยเทคนิคสตูล จากนั้นจึงเชิญผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย อาทิ ประชาชนที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด นักวิชาการ สื่อมวลชน แกนนำชุมชน ฯลฯ ได้ร่วมพูดคุยกัน ซึ่งผลของการหารือในวันนั้นก็มีข้อสรุปถึงแสดงถึงแนวโน้มของปัญหาที่ดี กล่าวคือทุกฝ่ายต่างไม่เห็นด้วยที่จะใช้ความรุนแรงเป็นทางออกของปัญหาแม้จะเห็นต่างกัน นอกจากนี้เครือข่ายชุมชนยังได้เผยแพร่แนวคิดที่ได้จากการเสวนาในวันนั้น ประชาสัมพันธ์ตามสื่อต่างๆในจังหวัดอีกด้วย อาทิ วิทยุ อสมท. ของจังหวัด และวิทยุชุมชน
สำหรับสถานการณ์ความขัดแย้งใน จ.สตูล นายสายันห์ กล่าวว่า ไม่มีความรุนแรงใดๆภายในจังหวัด เนื่องจากทั้งฝ่ายพันธมิตรและนปช. ต่างก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อร่วมชุมนุมใหญ่เกือบทั้งหมด อย่างไรก็ตามตนขอยืนยันได้ว่าจากการพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ ต่างอยากจะเห็นการพูดคุยกันอย่างสติ เพื่อปัญหาความขัดแย้งหมดไป
เครือข่ายสานเสวนา เตรียมลงพื้นที่ 5 จังหวัดใหญ่ แนวโน้มขัดแย้งสูง
ด้านนายเถียรชัย ณ นคร รองเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเมือง ในฐานะคณะทำงานเครือข่ายสานเสวนาเพื่อสันติธรรม อันประกอบไปด้วยองค์กรที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาพัฒนาการเมือง สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สถาบันพระปกเกล้า ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ฯลฯ กล่าวถึง แนวทางกิจกรรมรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงของเครือข่ายว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างการหารือถึงแนวปฏิบัติ สำหรับการจัดการเสวนาเพื่อยุติความรุนแรงใน 5 จังหวัด ที่มีแนวโน้มของปัญหาความขัดแย้งสูง ประกอบไปด้วย จ.เชียงใหม่ จ. อุดรธานี จ.สงขลา จ. ชลบุรี และ จ.มหาสารคาม บริเวณมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ขอเสนอให้ใช้พื้นที่ ซึ่งเครือข่ายจะประสานกับสมาชิกสภาพัฒนาฯ ในฐานะบุคลากรในจังหวัด ให้มีร่วมประสานผู้เกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่ให้ร่วมณรงค์ครั้งนี้ด้วย สำหรับกรอบระยะเวลาและรายละเอียดอื่นๆ ของกิจกรรมดังกล่าวน่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆนี้
นายเถียรชัย กล่าวต่อว่า นอกจากแนวคิดการจัดเสวนารณรงค์ในต่างจังหวัดแล้ว เครือข่ายฯ ยังได้เริ่มดำเนินการตามแนวทาง ในพื้นที่กรุงเทพฯ ไปบ้างแล้ว โดยมีกลุ่มนักศึกษาเข้าร่วมทำกิจกรรมแจกแผ่นพับรณรงค์ตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้จัดไปแล้วเมื่อ 26 ตุลาคม ที่กรมประชาสัมพันธ์ ส่วนจากนี้ไปจะจัดขึ้นอีกในรูปแบบเดียวกันในวันศุกร์ ที่ 7 พฤศจิกายนนี้ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในวันที่12 ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง รวมถึงเตรียมกระจายไปในมหาวิทยาลัยอื่นๆ อีก ที่สนใจ อาทิ มหาวิทยาธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี