เมิน"ภาษีมรดก"ดันเงินไหลออก
"ธปท." ไม่หวั่นแนวโน้มเงินทุนไหลออก แม้เริ่มเห็นสัญญาณคนรวย จ่อขนเงินลงทุนนอกหลังภาษีมรดกมีผลบังคับใช้
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังเดินหน้าผลักดันแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายในเฟสที่ 2 อย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาได้หารือร่วมกับทางกระทรวงการคลังเป็นระยะ และในเร็วๆ นี้น่าจะเสนอเรื่องอย่างเป็นทางการไปให้ นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณาอนุมัติอย่างเป็นทางการได้
นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยอมรับว่า มีหลายปัจจัยที่เป็นตัวเร่งให้เงินทุนเคลื่อนย้ายในระยะข้างหน้า อาจไหลออกได้เร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษีมรดกที่รัฐบาลกำลังผลักดันในขณะนี้ รวมไปถึงเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติที่ได้เข้ามาลงทุนในช่วงก่อนหน้านี้ อาจไหลกลับออกไปได้บ้าง เพียง ธปท. เชื่อมั่นว่าจะสามารถบริหารจัดการในเรื่องดังกล่าวได้
“เราดูแล้วน่าจะรับมือได้ จึงยังเดินหน้าต่อ โดยตัวดันให้เงินไหลออกก็มีหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษีมรดก ซึ่งอาจทำให้ Speed ของคนที่อยากออกไปลงทุนมีมากขึ้น ตอนนี้ก็เริ่มเห็นคนที่มีสินทรัพย์มากๆ มาปรึกษานักกฎหมาย หรือปรึกษานายแบงก์ เพื่อดูช่องทางของการออกไปลงทุนในต่างประเทศบ้างแล้ว” นางผ่องเพ็ญกล่าว
สาเหตุที่ ธปท. ต้องการผลักดันแผนแม่บทดังกล่าวต่อเนื่อง เพราะนอกจากจะช่วยสร้างความสมดุลในเรื่องของเงินทุนเคลื่อนย้ายแล้ว ยังช่วยให้ผู้ลงทุนไทยมีทางเลือกในการลงทุนที่มากขึ้น ไม่ใช่มีแต่ช่องทางลงทุนในประเทศไทย เพียงแต่การเปิดให้คนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศ จำเป็นต้องให้เวลาเขาในการเตรียมความพร้อมบ้าง
“ช่วงที่เราเริ่มเปิดน่าจะเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกน่าจะเริ่มฟื้นตัว ดังนั้นการไปลงทุนในหุ้น พันธบัตรต่างประเทศ ก็น่าจะมีแนวโน้มที่ดี ขณะนี้เรายังเชื่อว่าไปได้ หากเราคิดว่ามีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพียงพอ ก็น่าจะเปิดให้คนไทยมีพอร์ตการลงทุนที่สามารถกระจายความเสี่ยงได้เพิ่มขึ้น” นางผ่องเพ็ญกล่าว
สำหรับแผนแม่บทในเฟส 2 ที่ ธปท. จะผ่อนคลายเพิ่มเติมนั้น เป็นการเปิดโอกาสให้คนไทย ไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้โดยตรง โดยไม่ผ่านตัวกลางอย่างบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หรือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)
นางผ่องเพ็ญ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธปท. ได้หารือกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล่านี้บ้างแล้ว ซึ่งผู้ประกอบการบางรายเองก็ต้องการเวลาในการปรับตัว เพื่อรับมือกับการแข่งขันจากต่างประเทศที่อาจจะเข้ามาแย่งลูกค้าในประเทศได้
“เราจะเปิดให้นักลงทุนทั่วไป สามารถออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศได้ จากก่อนหน้าที่เราเปิดให้เฉพาะนักลงทุนรายใหญ่ออกไปลงทุนได้” นางผ่องเพ็ญ กล่าว
นอกจากนี้ ตามแผนยังมีการผ่อนคลายเพิ่มเติมในส่วนของการอนุญาตให้นิติบุคคล ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน สามารถขอจดทะเบียนเป็นผู้รับแลกเปลี่ยนเงิน (Money Changer) ได้ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามบริเวณชายแดน ที่เริ่มมีการค้าขายมากขึ้น
นางผ่องเพ็ญ กล่าวด้วยว่า ธปท.ยังมีแผนผ่อนคลายเพิ่มเติมในส่วนของ การขยายวงเงินในการให้บริการ Money Transfer Agent หรือ สถาบันการเงิน หรือนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตในการรับแลกเปลี่ยนเงิน และโอนเงินไปยังต่างประเทศ ให้กับลูกค้าที่ต้องการไปลงทุน หรือส่งเงินกลับประเทศ ซึ่งเดิมมีการกำหนดการแลกเปลี่ยนและโอนเงินในแต่ละครั้งได้ไม่เกิน 20,000 ดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากแผนแม่บทเฟส 2 ที่ธปท.อยู่ระหว่างผ่อนคลายเพิ่มเติมแล้ว ในด้านการชำระเงินธุรกรรมต่างๆ ธปท.ก็มีการหารือกับธนาคารกลางพม่า เพื่อขอให้สกุลเงินบาท เป็นอีกสกุลที่ได้รับอนุญาตในการใช้ชำระค่าสินค้า และชำระธุรกรรมต่างๆ ได้ เดิม พม่าอนุญาตให้เพียง 3 สกุลหลักเท่านั้นที่ใช้ชำระธุรกรรม คือ สกุลเงินดอลลาร์ ยูโร และดอลลาร์สิงคโปร์ เพราะขณะนี้ มีธุรกิจของไทย ที่เกี่ยวข้องกับพม่าเยอะมาก
นอกจากนี้ จะมีการทำข้อตกลง แบบทวิภาคีในการแลกเปลี่ยนเงินตรา (BSA) Bilateral swap agreement เพื่อยืมเงินตราระหว่างกันได้ แต่เรื่องนี้เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศ หากได้ก็จะเป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย แต่ธปท.ก็ไม่กดดันธนาคารกลางพม่ามาก ก็ต้องรอให้เขาพร้อม
ขอบคุณข่าวจาก