ส่องความเป็นไป ใครเต็ง 36 อรหันต์ร่างรธน. "บวรศักดิ์" จ่อคุมแม่น้ำสายที่ 5
นับจากวันประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)นัดแรก อังคารที่ 21 ตุลาคมไป ไม่เกิน 15 วัน คือไม่เกิน 4 พ.ย. ก็จะได้เห็นโฉมหน้า "36 อรหันต์กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ" กันแล้ว อันเป็นไปตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมาตรา32 ที่บัญญัติว่า การแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน สิบห้าวันนับแต่วันที่มีการเรียกประชุมสปช.นัดแรก
ทุกฝ่ายจึงจับตามองกันมากว่า "36 อรหันต์กมธ.ยกร่างรธน.ฉบับถาวร" จะมีชื่อใครบ้างที่จะมาร่างกฎหมายสูงสุดของประเทศ ที่เป็นกติกาประเทศในทุกด้าน
เบื้องต้นสปช.ที่มีโควต้ากมธ.มากสุดคือ 20 คน พบว่าสปช.ส่วนใหญ่เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ที่ประชุมใหญ่สปช.ควรจะได้ข้อสรุปรายชื่อกมธ.ยกร่างรธน.ในการประชุมสปช.สัปดาห์หน้า คือประมาณช่วงวันที่ 28 - 29 ต.ค.นี้ หรือหากไม่สามารถประชุมได้เพราะเหตุขัดข้องจริงๆ ยังไงก็ต้องไม่เกิน 4 พ.ย. นี้ แต่สปช.ส่วนใหญ่เชื่อว่าช้าสุดคงไม่เกิน 1 พ.ย.นี้ ขณะที่ฝ่ายสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ขีดเส้นไว้แล้วว่าจะเคาะรายชื่อออกมาได้ในวันที่ 30 ต.ค.
สปช.นั่งยกร่างมา 3 กลุ่มหลัก การเมือง-กม.-บริหารราชการแผ่นดิน
กระแสข่าวความเคลื่อนไหวของเรื่องนี้ ในซีกสปช.พบว่า มีสปช.หลายคนสนใจจะเสนอตัวเป็นกมธ.ยกร่างรธน.กันมากพอสมควร โดยข่าวหลายกระแสในสปช.ให้ข้อมูลสอดคล้องกันวันว่า สปช.ที่จะเสนอตัวเป็นกมธ.ยกร่างรธน. หรือได้รับแรงสนับสนุนให้เป็นกมธ.ยกร่างรธน. ส่วนใหญ่จะเป็นสปช.ที่มาจาก 3 กลุ่มหลักคือ
"สปช.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม-ด้านการเมือง-ด้านการบริหาราชการแผ่นดิน"
แต่ก็มีสปช.บางกลุ่มอาจเสนอตัวแทรกเข้ามาเช่นด้านการปกครองท้องถิ่น และมีข่าวว่าอาจมีสปช.จังหวัดสนใจเสนอตัวด้วยเช่นกัน โดยเป็นสปช.ที่ไม่ได้มาจากนักการเมืองท้องถิ่นหรือต้องการลงเล่นการเมือง ท้องถิ่นหลังเสร็จภารกิจกมธ.ยกร่างรธน.เพราะหากไปเป็นกมธ.ยกร่างรธน.ก็จะติด ล็อกที่รธน.ชั่วคราวเขียนไว้ว่า ห้ามมิให้กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญดำรงตำแหน่งทางการเมืองภายในสองปีนับแต่วัน ที่พ้นจากตำแหน่งกมธ.จึงทำให้ที่ผ่านมาสปช.จังหวัดตลอดจนสปช.สายสรรหาเองก็ตาม ก็มีจำนวนมาก ไม่ค่อยให้ความสนใจจะเป็นกมธ.ยกร่างรธน.กันมากเพราะหลายคนต้องการเล่นการ เมืองท้องถิ่นหรือระดับชาติต่อไปเมื่อหมดภารกิจในสภาปฏิรูปฯ
แหล่งข่าวที่เป็น "สปช.ด้านการเมือง" คนหนึ่งบอกกับ "ทีมข่าว" ว่า ประเมินแล้วคาดว่า จะมีสปช.เสนอตัวขอได้รับการเสนอชื่อเป็นกมธ.ยกร่างรธน.กันเกิน 20 คนแน่นอน และเท่าที่คุยกันในกลุ่มสปช.หลายวง ต่างเห็นสอดคล้องกันว่า กมธ.ยกร่างรธน.ในโควต้าสปช.ควรต้องเป็นคนในคือเป็นสปช.ทั้งหมดไม่ควรเสนอชื่อคนนอก แม้อาจจะมีสปช.บางคนเริ่มคุยกันภายในว่าอยากเสนอชื่อคนนอกที่เห็นว่าควรเข้าไปเป็นกมธ.ยกร่างรธน.
แหล่งข่าวสปช.ด้านการเมืองกล่าวต่อว่าอย่างชื่อคนนอก ที่เห็นว่าควรที่สปช.จะเสนอให้มาเป็นกมธ.ยกร่างรธน.ก็เช่น ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีนิติศาสตร์ นิด้าฯ ที่ทางนิด้าเสนอชื่อเข้ามาเป็นสปช.แต่ไม่ได้รับการคัดเลือกเพราะสปช.บางส่วน เห็นว่าเป็นคนมีความรู้เรื่องระบบการเลือกตั้งที่ดีมากคนหนึ่งโดยเฉพาะระบบ การเลือกตั้งแบบที่เยอรมันใช้ ซึ่งน่าจะนำมาประยุกต์ใช้กับระบบการเลือกตั้งของไทยได้ แต่เรื่องการเสนอคนนอกนั้น พบว่าสปช.หลายส่วน ก็ไม่เห็นด้วย และเห็นว่าควรต้องเป็นคนของสปช.ทั้งหมด แต่สุดท้ายหากเกิดกรณีเช่น ถ้าคณะรัฐมนตรีหรือคสช.ไม่เสนอชื่อดร.บรรเจิดหรือคนนอกที่ไม่ได้เป็นกมธ.ยก ร่างรธน.แต่สปช.เห็นว่าควรดึงมาช่วยกมธ.ยกร่างรธน. ก็จะใช้วิธีไปผลักดันให้ตั้งมาเป็นคณะทำงานในกรรมาธิการหรืออนุกรรมาธิการ ชุดต่างๆในภายหลัง
"เวลานี้สปช.หลายคนยังคุยกันอยู่ว่าจะใช้การเลือกแบบไหน สปช.บางคนก็เสนอว่า ควรใช้รูปแบบคือ ให้มีวิปสปช. แล้วก็ให้วิปเป็นคนกลางไปดำเนินการเช่น สปช.คนไหนสนใจจะเป็นกมธ.ก็ให้มาแจ้งกับวิป แล้ววิปก็ไปรวบรวมรายชื่อและวางกรอบการเลือกกันขึ้นมา"
เช่นหากมีคนเสนอตัวมากกว่า 20 คนจะทำอย่างไร จะใช้วิธีโหวตเลือกให้เหลือ 20 คนด้วยวิธีการอย่งไร หรือหาก สปช.เสนอตัวไม่ถึง 20 คนขึ้นมา จะทำอย่างไร หากเป็นแบบนี้ก็ต้องทาบทามคนนอกมาเป็นโควต้าสปช. ที่ก็ต้องไปดูว่าจะทาบทามใครบ้าง แต่ดูแล้วชื่อน่าจะเกิน20 คนแน่นอน ทั้งหมดน่าจะมีความชัดเจนกันภายในสัปดาห์นี้”แหล่งข่าวสปช.ด้านการเมืองระบุ
สปช.ฮาร์ดคอร์ ชงสเปกยกร่าง ห้ามนั่งควบ กมธ.สามัญ
ด้าน "ไพบูลย์ นิติตะวัน" สปช.ด้านการเมือง – อดีตแกนนำกลุ่ม 40 สว.สมัย ที่แล้ว ที่เปิดตัวไว้ก่อนหน้านี้ว่าสนใจจะเข้าไปทำหน้าที่เป็นกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้ความเห็นในเรื่องกมธ.ยกร่างรธน.ในสัดส่วนสปช.ว่า จะเสนอต่อที่ประชุมสปช.ว่า สปช.ที่จะไปเป็นกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญไม่สมควรจะมาเป็นกรรมาธิการสามัญคณะใด คณะหนึ่งที่สภาปฏิรูปแห่งชาติจะตั้งขึ้นมา เพื่อให้สปช.คนดังกล่าวไปทำงานในกมธ.ร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างเต็มที่ไปเลย
"สปช.ที่จะไปเป็นกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต้องสามารถเข้าไปยกร่างรัฐธรรมนูญออกมาได้ ไม่ใช่แค่ไปแสดงความคิดเห็นอย่างเดียว เพราะการยกร่างรธน.ไม่ใช่เรื่องการแสดงความเห็น ต้องเข้าไปแล้วทำงานได้ เบื้องต้นดูแล้วน่าจะเป็นคนภายในสปช. แต่หากไม่ครบก็คงต้องเป็นคนนอก คาดว่าน่าจะพิจารณาเลือกกันได้ในวันที่ 28 ต.ค.หรือ 29 ต.ค.เพราะสปช.ต้องส่งคนไปมากถึง 20 รายชื่อ ก็ควรให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว" นายไพบูลย์กล่าว
"เสรี สุวรรณภานนท์" อดีตประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ที่ก่อนหน้านี้มีชื่อว่าอาจสมัครเป็นกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวกับเราเช่นกันว่า ไม่สามารถเป็นกมธ.ยกร่างรธน.ได้เนื่องจากติดขัดคุณสมบัติเพราะรธน.ชั่วคราวมาตรา 33 บัญญัติว่ากมธ.ยกร่างรธน. ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามคือ "เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกหรือดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองภายในระยะเวลาสามปีก่อนวันที่ได้รับการแต่งตั้ง" เพราะก่อนหน้านี้เคยไปทำกิจกรรมกับพรรคการเมืองพรรคหนึ่งมาก่อนและยังไม่พ้นระยะเวลาสามปี อย่างไรก็ตาม จากรายชื่อสปช.ทั้งหมดก็เห็นว่า หลายคนสามารถเป็นกมธ.ยกร่างรธน.ได้อยู่แล้ว แต่เชื่อว่าหลายคนก็ต้องดูองค์ประกอบหลายอย่างด้วยเช่น การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติว่ากมธ.ยกร่างรธน.ต้องเว้นวรรคการเมืองสองปีซึ่งรวมถึงการเมืองท้องถิ่นด้วย หลังหมดจากหน้าที่กมธ.ยกร่างรธน.ก็อาจทำให้สปช.ต้องดูเรื่องเหล่านี้ในการตัดสินใจด้วย
คาดโผตัวเต็งยกร่างรธน.
ทั้งนี้เมื่อประมวลและสังเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งข่าวที่เป็นสปช.บางส่วนที่ให้ข้อมูลกับเรา โดยได้วิเคราะห์ตัวเต็งคนที่คาดว่าจะเสนอตัวเองหรือได้รับการสนับสนุนให้เข้าไปเป็นกมธ.ยกร่างรธน. ในสัดส่วนของสปช.ผสมกับโผตัวเต็งกมธ.ยกร่างรธน. ในโควต้าสปช. ที่สื่อเคยเสนอไว้ก่อนหน้านี้ พบว่าชื่อตัวเต็งหลักๆ ที่สปช.บางคนวิเคราะห์ไว้ มีอาทิเช่นกลุ่มที่เป็นอดีตกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญปี 50 รวมถึงพวกที่เคยเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 50 มาก่อน ก็มีอาทิเช่น มานิจ สุขสมจิตร สปช.ด้านสื่อมวลชน ที่น่าจะเข้าไปยกร่างรธน.ในหมวดว่าด้วยเรื่องสื่อมวลชน –ไพโรจน์ พรหมสาส์น อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย –พิศิษฐ์ ลี้อาธรรม อดีตรมช.คลัง
นอกจากนี้ยังมีชื่อ นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ อดีตรองประธานกมธ.ยกร่างรธน.ปี 50 ที่น่าจะติดโผกมธ.ยกร่างรธน.ค่อนข้างแน่นอน และอาจมีชื่อ วุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ส่วน เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง แม้จะมีสปช.สายไม่เอาระบอบทักษิณหลายคนหนุนแต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าดร.เจิมศักดิ์ คนรู้ทันระบอบทักษิณสนใจจะเข้าไปเป็นกมธ.ยกร่างรธน.ด้วยหรือไม่ ซึ่งหากมีชื่อ ดร.เจิมศักดิ์ คาดว่าฝายเพื่อไทย คนบ่นกันพรึม
นอกจากนี้ยังมีการเก็งชื่อสปช.คนอื่นๆ อีกเช่น คำนูณ สิทธิสมาน -ไพบูลย์ นิติตะวัน -ดร.ถวิลวดี บุรีกูล ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า - พลเอกจีระ โกมุทพงศ์ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ หนึ่งในคณะทำงานฝายกฎหมายของคสช. ในช่วงก่อนเกษียณอายุ ที่ได้แรงเชียร์จากสปช.หลายคน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา พลเอกจีระ ได้ลงสมัครคัดเลือกเป็นองค์กรอิสระหลายแห่ง เช่น กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน-ผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่ไม่ได้รับเลือก คนเลยมองว่าพลเอกจีระ อาจไม่ขอเป็นกมธ.ยกร่างรธน.เพราะอาจต้องการไปสมัครเป็นองค์กรอิสระหลังจาก หมดหน้าที่สปช.จะได้ไม่ติดล็อกข้อห้ามตามรธน. –นันทวัฒน์ บรมานันท์ คณบดีนิติศาสตร์ จุฬาฯ รวมถึงการเปิดเผยของสปช.บางคนผ่านสื่อว่า นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ นักวิชาการจากม.รังสิตและอดีตคณบดีรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ก็สนใจจะเป็นกมธ.ยกร่างรธน.ด้วยเช่นกัน
และยังมีการเก็ง พวกสปช.ที่มาจากสายงานกระบวนการยุติธรรมอีกหลายคน ซึ่งตอนนี้พ้นจากตำแหน่งแล้วทำให้เป็นกมธ.ยกร่างรธน.ได้ไม่ขัดคุณสมบัติ เช่น ธีระยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ อดีตตุลาการศาลปกครองสูงสุด ซึ่งหากเป็นกมธ.ยกร่างรธน.ก็คงจะเข้าไปดูในเรื่องหมวดศาลเป็นหลัก หรือ อาจเป็น เข็มชัย ชุติวงศ์ จากสำนักงานอัยการสูงสุดที่อาจมีชื่ออยู่ด้วยก็ได้ เป็นต้น แม้ที่ผ่านมาจะไม่มีข่าวว่าสองคนนี้สนใจจะเสนอตัวเป็นกมธ.ยกร่างรธน.ก็ตาม
สนช.จ่อเคาะ 30 ต.ค. พท.-แดง มีอึ้ง "สมเจตน์" ติดโผ
ส่วนตัวเต็งกมธ.ยกร่างรธน.ในส่วนของที่จะมาจาก "สนช." พบว่า จะได้ข้อสรุปในวันที่ 30 ต.ค. แต่คาดว่าวิปสนช.น่าจะหารือกันถึงรายชื่อออกมาก่อนหน้านั้น โดยมีกระแสข่าวว่าบางรายชื่อน่าจะลงตัวแล้วเหลือแค่รอเคาะกันอีกรอบ เพราะพบว่าไม่ค่อยมีสนช.อยากเป็นกมธ.ยกร่างรธน.กันมากเท่าไหร่ อย่างที่เสนอตัวมาเลยและน่าจะได้แรงหนุนจากสนช.ด้วยกันเองเลยตอนนี้ก็มีเช่น "พลเอกสมเจตน์ บุญถนอม" แกนนำสนช.สายทหาร ซึ่งพอมีข่าวพลเอกสมเจตน์เสนอตัวและมีเสียงหนุนจากสนช.จำนวนไม่น้อย ก็ทำเอาพวกฝ่ายตรงข้ามพรรคเพื่อไทย คาดเดาไปแล้วว่า มีหวัง รธน.ฉบับถาวร ได้เห็น”ยาแรง”ในการถอนรากถอนโคลนเครือข่ายเพื่อไทย-เสื้อแดงแน่นอน กับสไตล์ดุดัน ของพลเอกสมเจตน์ ที่ชัดเจนว่าไม่เผาผีกับฝ่ายเพื่อไทยมาตลอดหลายปี
กระแสข่าวอ้างอีกว่า ส่วนชื่ออื่นๆ ก็อาจมีเช่น "ชูเกียรติ รัตนชัยชาญ" อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา-กาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ อดีตกมธ.ยกร่างรธน.ปี 50 ส่วนสายนักวิชาการ ตอนนี้คนกำลังรอดูอยู่ว่า จะมีชื่อ ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน ที่เป็น1 ใน 28 สนช.ที่ร่วมกับพลเอกนพดล อินทปัญญา ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งไม่ให้สนช.ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินหนี้สินมาเป็นกมธ.ยกร่างรธน.ด้วยหรือไม่ หลังมีข่าวบางกระแสว่า ดร.ทวีศักดิ์ ที่เป็นนักวิชาการที่เคยขึ้นเวทีกปปส.ก็สนใจจะขอเป็นกมธ.ยกร่างรธน.ด้วย ส่วนชื่ออื่นๆ ก็มีอีกเช่น "ดิสทัต โหตระกิตย์" รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา -วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีม.รามคำแหง เป็นต้น
ส่วนอีก 10 รายชื่อที่จะมาจากโควต้าคณะรัฐมนตรีและคสช.ฝ่ายละ5 รายชื่อ ข่าวบอกว่า ตอนนี้รายชื่อที่คสช.ไปทาบทามบางรายชื่อน่าจะนิ่งหมดแล้ว และบางชื่อน่าจะตรงกับที่สื่อคาดการเช่น ดร. สุรพล นิติไกรพจน์ –ดร. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ แต่จะจริงหรือไม่ ยังต้องรอรายชื่ออย่างเป็นทางการ
"บวรศักดิ์" จ่อคุมแม่น้ำสายสุดท้าย
แต่ที่แน่นอนแล้วก็คือ "ประธานกมธ.ยกร่างรธน." ที่จะต้องให้คสช.เป็นคนเสนอชื่อ พบว่าแนวโน้มไม่มีพลิกไปจาก "บวรศักดิ์ อุวรรณโณ" สปช.ด้านการเมือง ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงานยกร่างรธน.ฉบับชั่วคราวปี 57 ซึ่งอยู่ในทีมเดียวกับวิษณุ เครืองาม-พรเพชร วิชิตชลชัย-พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา ดังนั้น บวรศักดิ์ จึงเป็นคนหนึ่งที่ร่วมทำคลอดโรดแม็ฟ คสช. ที่ให้มี "แม่น้ำ 5 สาย" คือ คสช.-รัฐบาล-สนช.-สปช.และกมธ.ยกร่างรธน. มาตลอดตั้งแต่แรก
จึงไม่แปลกที่คสช.จะให้ "บวรศักดิ์" มาคุม แม่น้ำสายที่ 5 กมธ.ยกร่างรธน. ที่เป็นแม่น้ำสายสุดท้าย เพื่อคอยคัดท้ายรธน.ฉบับถาวร ให้เป็นไปอย่างที่คสช.รับได้ เมื่อร่างกันเสร็จออกมาทั้งฉบับ
แต่สุดท้ายรายชื่อ ประธาน-กมธ.ยกร่างรธน.ทั้ง 36 คนจะเป็นใครบ้าง ว่ากันตามจริงทุกอย่างมันมีโอกาสพลิกผันได้ รายชื่อตัวเต็งที่ว่าชัวร์ๆ ก็อาจพลิก หลุดไปได้ หรือเจ้าตัวเปลี่ยนใจไม่ขอเป็น ของอย่างนี้จึงต้องรอประกาศอย่างเป็นทางการ ไม่เกินต้นเดือนหน้า