สื่อ-นักสิทธิมนุษยชนตั้งวงถกบทบาทสื่อและการสอบสวนในคดีเกาะเต่า
เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการจัดเสวนาหัวข้อ “บทบาทสื่อมวลชนกับกระบวนการยุติธรรม: บทเรียนจากเชอรี่แอน-เกาะเต่า” โดยกลุ่มมีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ ร่วมกับ คณะ ICT สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ทั้งนี้ ผู้ร่วมเสวนาได้หยิบยกประเด็นการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจในคดีฆาตกรรมนักท่องเที่ยวที่เกาะเต่า สื่อที่มีประสบการณ์ทำรายการประเภทสืบสวนสอบสวนตั้งข้อสังเกตว่าผู้ต้องหาที่เป็นผู้ด้อยโอกาส มีสิทธิ์ถูกดำเนินคดีสูง ด้านทนายความสิทธิ์ชี้ผู้ให้ข่าวควรมีความระมัดระวัง ด้านตัวแทนสื่อทีวียอมรับมีแรงกดดันให้ต้องเค้นหาข่าว
นายวัชระ ประชันกลาง โปรดิวเซอร์รายการ “คุยกับแพะ” ทางสถานีไทยพีบีเอส ตั้งข้อสังเกตว่า คดีเกาะเต่าเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของสังคม แรงกระเพื่อมของสื่อและแรงกระเพื่อมของสังคมอาจจะมีบทบาทหรือไม่ในการทำงานของตำรวจในการที่จะทำหน้าที่
“จากประสบการณ์การทำคุยกับแพะเอง พบเจอคนที่ตกเป็นแพะในกระบวนการยุติธรรมเกือบจะ 50-60 ราย มันน่าแปลกใจที่คนที่เข้าสู่การเป็นแพะในกระบวนการยุติธรรมนี่ มันคือขั้นตอนแรกของกระบวนการยุติธรรม ขั้นตอนการสอบสวน คือ ถ้าจำเลยหรือผู้ต้องหาเป็นผู้ด้อยโอกาส ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิได้ ไม่สามารถหาหลักฐานมาปลดเปลื้องตัวเองตั้งแต่ขั้นตอนแรกนี่ โอกาสที่เขาจะเข้าสู่กระบวนการถูกดำเนินคดีนี่สูงมาก”
สำหรับคดีเกาะเต่าได้เข้าสู่ชั้นศาลแล้ว สื่อมวลชนจะเข้าไปทำอะไรได้ไม่เยอะ แต่ถ้าจะให้คลี่คลายความสงสัยของสื่อมวลชน สังคมว่าคดีนี้เป็นแพะหนือไม่แพะ คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรชี้แจงให้สื่อมวลชน ให้สังคมได้รู้ว่าว่าขั้นตอนต่างๆเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ทุกข้อสงสัยให้นำเสนอให้ตรงไปตรงมา และให้โปร่งใส โดยเฉพาะขั้นตอนการสอบสวน
น.ส.ปรีดา ทองชุมนุม ทนายความ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เล่าว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ฆาตกรรมนักท่องเที่ยวที่เกาะเต่า ทางมูลนิธิฯได้รับเรื่องร้องขอมาจากแรงงานในเกาะว่ามีการบังคับแรงงานข้ามชาติตรวจดีเอ็นเอ และเมื่อลงพื้นที่ไปคุยกับแรงงาน พบว่าบางคนถูกขู่และถูกบังคับให้รับสารภาพ ซึ่งบางคนก็ไม่ยอมรับ จึงทำเรื่องไปถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม) เพื่อให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
น.ส.ปรีดากล่าวถึงการทำงานของสื่อมวลชนในกรณีนี้ด้วยว่า ตนไม่แน่ใจว่าทางสื่อมวลชนได้มีการประเมินการนำเสนอข่าวหรือไม่ว่าเหมาะสมแค่ไหน ในส่วนจรรยาบรรณของคนให้ข่าวก็เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณา เช่นล่ามที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสอบสวน รวมทั้งองค์กรอิสระ คือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้วย
“อาจเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ไม่ใช่ทั้งหมด แต่เมื่อลงไปทำหน้าที่แล้ว ลงมาให้ข้อมูลในลักษณะที่เป็นความเสียหายต่อผู้ต้องหา หรือเป็นกรณีของนักจิตวิทยาที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อ แต่กระบวนการที่จะพิสูจน์ได้นี่ ว่าจริงหรือไม่จริง มันไม่ใช่มาจากคำพูดของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของพยานหลักฐานที่นำไปพิสูจน์กัน”
พิณผกา งามสม บรรณาธิการข่าวประชาไท กล่าวว่า การทำงานของสื่อนั้น ในด้านหนึ่งก็พยายามค้นหาความจริงว่าผู้ต้องหาทำผิดจริงหรือไม่ ในขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งก็มีบางอย่างที่เราต้องตระหนักว่าเรากำลังละเมิดสิทธิเขาอยู่หรือเปล่า
“เคสเกาะเต่าน่าสนใจมากว่า มันก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่สะท้อนว่าสื่อไทยรับมือกับการทำข่าวนี้ได้แตกต่างหลากหลายมาก ว่าเราจะจัดการอย่างไรกับตัวผู้ต้องหา ชื่อจะเปิดเผยไหม หน้าตาจะเปิดเผยไหม แต่เท่าที่เห็นเราก็เปิดหมดแล้ว โดยส่วนตัว ถ้าเป็นประชาไท ตัวผู้ต้องสงสัย เราจะปิดนามสกุล โดยเฉพาะคดีอุกฉกรรจ์ที่เรียกว่ามักจะมีการตัดสินไปล่วงหน้าด้วยทัศนคติทางสังคม”
น.ส.ทัดดาว ทองอิ่ม ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ TNN 24 กล่าวถึงการลงพื้นที่ทำคดีนี้ที่เกาะเต่าว่า เนื่องจากเป็นคดีดัง ทุกๆวันทีมข่าวในพื้นที่จะถูกกดดันจาก บก.ข้างใน ตามความคืบหน้า เมื่อถูกกดดัน ทีมข่าวก็จะไปกดดันตำรวจ ไปถามความคืบหน้า ซึ่งบางทีตำรวจมีข้อมูลไม่ตรงกัน ทำให้ทีมข่าวต้องออกไปถามชาวบ้านแถวนั้น ถามแรงงานพม่า ไปขุดคุยข้อมูล โดยเฉพาะกล้องวงจรปิด ทุกสำนักข่าวไปขอ ไปทำตัวเป็นตำรวจ ซึ่งตำรวจเองเห็นว่าสร้างความลำบากให้เจ้าหน้าที่
ทีมา: บีบีซีไทย