ภาณุ : เปิดจุดอ่อนโรงเรียนถูกเผา พลิกวิกฤติสู่ "ทุ่งยางแดงโมเดล"
พลันที่ฝ่ายความมั่นคงประกาศให้ "ทุ่งยางแดงโมเดล" เป็นแนวทางป้องกันการก่อเหตุเผาโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการติดสัญญาณเตือนภัยและกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (ซีซีทีวี) ทุกโรงเรียน พร้อมบูรณาการทุกภาคส่วน ทั้งทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง กองกำลังประจำถิ่น และภาคประชาชน ให้ช่วยกันดูแลรักษาความปลอดภัย จนมีกระแสตอบรับจากสื่อมวลชนหลายแขนงนั้น
ปรากฏว่าเมื่อข่าวแพร่กระจายออกไป ก็เริ่มมีเสียงวิจารณ์จากบางฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า "ทุ่งยางแดงโมเดล" ไม่ใช่มาตรการใหม่หรือแนวคิดใหม่ตามที่หลายคนเข้าใจ และอาจแก้ไขปัญหาไม่ได้จริง เพราะบางเรื่องก็เคยดำเนินการมาแล้ว เช่น ติดตั้งสัญญาณเตือนภัย แต่ก็ล้มเหลว ทั้งนี้เป็นไปตามรายงานพิเศษที่ "ทีมข่าวอิศรา" นำเสนอไปก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ดี ล่าสุดมีข่าวจากฝ่ายปกครองและหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการพัฒนาอย่าง ศอ.บต. หรือศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกมาให้ข้อมูลอีกด้านเกี่ยวกับ "ทุ่งยางแดงโมเดล"
เบื้องต้นต้องย้อนกลับไปในวันเกิดเหตุเผาโรงเรียน 6 แห่ง ใน อ.ทุ่งยางแดง 5 แห่ง และ อ.มายอ 1 แห่ง จากการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกพบข้อเท็จจริงดังนี้
O โรงเรียนบ้านกระเสาะ หมู่ 3 ต.กระเสาะ อ.มายอ อาคารที่ถูกเผาเป็นอาคาร 2 ชั้น 8 ห้องเรียน เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ ถูกเพลิงไหม้วอดทั้งหมด ขณะเกิดเหตุไม่มีชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัย
O โรงเรียนบ้านน้ำดำ หมู่ 1 ต.น้ำดำ อ.ทุ่งยางแดง อาคารที่ถูกเผาเป็นอาคารคอนกรีต 2 ชั้น เสียหายทั้งหมด ขณะเกิดเหตุไม่มี ชรบ.ปฏิบัติหน้าที่เช่นกัน
O โรงเรียนบ้านปากู หมู่ 5 ต.ปากู อ.ทุ่งยางแดง อาคารที่ถูกเผาเป็นอาคาร 3 ชั้น เสียหายทั้งหมด ขณะเกิดเหตุมีผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 ต.ปากู และ ชรบ.อีก 2 คนทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยโรงเรียน แต่คนร้ายมี 5 คน อาวุธครบมือ เมื่อขับรถกระบะไปถึงก็ใช้อาวุธปืนขู่บังคับให้ผู้ใหญ่บ้านอยู่นิ่งๆ ห้ามขัดขวาง แล้วไล่ ชรบ.ให้หนีไป ก่อนจะวางเพลิง
O โรงเรียนบ้านมะนังยง หมู่ 4 ต.ปากู อ.ทุ่งยางแดง อาคารที่ถูกเผาเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว และอาคารเรียนคอนกรีตชั้นเดียว เสียหายทั้งหมด 2 หลัง ขณะเกิดเหตุมี ชรบ. 3 คนปฏิบัติหน้าที่อยู่ แต่คนร้ายมากัน 10-15 คน พร้อมอาวุธปืน และจี้บังคับมัดมือ ชรบ.ไว้ในโรงครัว ก่อนจุดไฟเผาอาคาร
O โรงเรียนบ้านเขาดิน หมู่ 3 ต.ปากู อ.ทุ่งยางแดง อาคารที่ถูกเผาเป็นอาคารคอนกรีตชั้นเดียว เสียหายทั้งหลัง ขณะเกิดเหตุไม่มี ชรบ.ปฏิบัติหน้าที่
O โรงเรียนบ้านตือเบาะ หมู่ 7 ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง อาคารที่ถูกเผาเป็นโรงอาหาร ได้รับความเสียหายเล็กน้อย ขณะเกิดเหตุไม่มี ชรบ.รักษาความปลอดภัยโรงเรียน
จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์เผาโรงเรียน 6 โรงใน 2 อำเภอของ จ.ปัตตานี มีถึง 4 โรงที่ขณะเกิดเหตุไม่มี ชรบ. หรือกองกำลังประชาชนปฏิบัติหน้าที่อยู่เลย
นอกจากนั้น จากข้อมูลของ ศอ.บต. หลังการลงพื้นที่ของ นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต. และ นายเศวต เพชรนุ้ย นายอำเภอทุ่งยางแดง พบว่าคนร้ายมีความพยายามอยู่ 2 วันเพื่อสร้างสถานการณ์ โดยมีเป้าหมายเป็นโรงเรียน 14 แห่ง แต่สามารถดำเนินการได้เพียง 6 แห่ง เนื่องจากอีก 8 แห่ง ซึ่งอยู่ในพื้นที่ อ.ทุ่งยางแดง 5 แห่ง และ อ.มายอ อีก 3 แห่งนั้น มี ชรบ.จัดเวรยามเฝ้าระวังอย่างเข้มแข็ง
งานนี้ เลขาฯภาณุ จึงมอบเงินรางวัลเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับ ชรบ.กลุ่มดังกล่าว ชุดละ 5,000 บาทด้วย
นายภาณุ กล่าวว่า ก่อนเกิดเหตุได้ทราบถึงความเคลื่อนไหวผิดปกติในพื้นที่ จึงได้แจ้งเตือนไปทั้ง 37 อำเภอ (ทุกอำเภอในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา) ปรากฏว่ามีโรงเรียนถูกเผาไป 6 โรงเรียน ส่วนที่เหลือมีการเคลื่อนไหวจริง แต่เพราะความเข้มแข็งของ ชรบ. คนร้ายจึงก่อเหตุไม่ได้ ถือเป็นตัวอย่างให้กับ ชรบ.พื้นที่อื่นในนาทีวิกฤติ
นอกจากนั้น ได้มีการสำรวจตรวจสอบว่าโรงเรียน 6 แห่งที่ถูกเผามีปัญหาอะไร พบว่าอุปกรณ์การแจ้งเหตุยังขาดแคลน ดังนั้น ศอ.บต.และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) จึงได้ร่วมกันสนับสนุนอุปกรณ์ดังกล่าว และต่อยอดเป็นหนึ่งใน "ทุ่งยางแดงโมเดล" เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแจ้งเหตุและเฝ้าระวัง และเป็นการขยายผลการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ (ศปก.อ.) ให้มีการแจ้งเตือนไปยังลูกข่าย "ศูนย์รวมเฝ้าระวัง" ด้วย
"โรงเรียนที่เกิดเหตุ อาจจะเกิดจากการทำงานไม่เต็มที่ของผู้รับผิดชอบ เช่น กลับก่อนเวลา หรือบางพื้นที่คนน้อยเกินไป หรือมาตรการในการเฝ้าระวังยังบกพร่องอยู่ จึงถือเป็นบทเรียนให้นำมาแก้ไขและวิเคราะห์สถานการณ์ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ"
เลขาธิการ ศอ.บต.บอกอีกว่า จากบทเรียนที่เกิดขึ้น จึงต้องมีมาตรการในการเฝ้าระวังให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ชรบ.เข้มแข็งมากขึ้น เพื่อให้ประกอบกำลังกับฝ่ายต่างๆ ในแผนเผชิญเหตุได้ นั่นคือ "ทุ่งยางแดงโมเดล" ซึ่งก็คือการสนธิกำลัง ทำให้รู้ว่าเมื่อเกิดเหตุเราจะต้องทำอะไร อย่างน้อยที่สุดจากเหตุที่เกิดขึ้น ทำให้รัฐรู้ว่าปฏิกิริยาไม่เหมือนเดิม
"สิ่งหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลง คือ ความร่วมมือของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนในพื้นที่ ผมคิดว่าเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหา เพราะหลังจากมีการเผา ในช่วงเกิดเหตุชาวบ้านก็ช่วยกันดับไฟ และมีการเรี่ยไร่เงินใน 5 หมู่บ้านมาช่วยเหลือโรงเรียนที่ถูกเผา เป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่าชาวบ้านไม่เห็นด้วยกับการกระทำนี้ และทำให้คนในหมู่บ้านต้องเดือดร้อนด้วยซ้ำไป" เลขาฯภาณุ กล่าวและว่า การมี "ทุ่งยางแดงโมเดล" เป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
ถือเป็นข้อมูลอีกด้านของ "ทุ่งยางแดงโมเดล" และการพลิกวิกฤติเป็นโอกาสย่อมเป็นทางออกที่ดีที่สุดหลังจากเกิดวิกฤติไปแล้ว!
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต. (ซ้าย) ขณะมอบรางวัลให้กับ ชรบ.ของโรงเรียนที่ไม่ถูกเผาใน อ.ทุ่งยางแดง
ขอบคุณ : ภาพจากฝ่ายประชาสัมพันธ์ ศอ.บต.
อ่านประกอบ : "ทุ่งยางแดงโมเดล" ของเก่า-นวัตกรรมใหม่ หรือไฟไหม้ฟาง?"ทุ่งยางแดงโมเดล" ของเก่า-นวัตกรรมใหม่ หรือไฟไหม้ฟาง?