( ถ้า) ปฏิรูปรอบนี้ไม่ประสบความสำเร็จ บ้านเมืองไปไม่รอด!?
"...โจทย์ที่ท้าทายคือ ทำอย่างไรไม่ให้เขาเกี๊ยเซียะกัน และไม่ให้เป็นสมบัติผลัดกันชม นั้นคือทำอย่างไรที่จะปฏิรูปแล้ว ผลประโยชน์ตกอยู่กับประชาชนจริงๆ"
สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) กำลังเดินหน้าเข้าสู่การปฏิรูปประเทศไทยครั้งใหญ่ โดยมีกำหนดประชุมนัดแรกตามโปรแกรมวันที่ 21 ตุลาคมนี้ เพื่อเลือกประธานและรองประธาน
หลังจากนั้นจะต้องทำหน้าที่ตั้ง 36 กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อกำหนดกรอบ กติกา และอนาคตประเทศ?
ล่าสุด “สำนักข่าวอิศรา” เดินสายเปิดวงสนทนาเล็กๆกับ สปช. โดยเฉพาะวิธีคิดและการทำงาน รวมถึงบทวิเคราะห์การเมืองยุคปฏิรูป อย่างตรงไปตรงมา!
ประมนต์ สุธีวงศ์ สมาชิกสปช. ประธานองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น(ประเทศไทย) สะท้อนว่า ผมคิดว่าการปฏิรูปรอบนี้เป็นความหวัง เพราะที่ผ่านมาเราไม่เคยพูดเรื่องปฏิรูปจริงจัง
ในอดีตเวลามีปฏิวัติ หรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็พูดเรื่องปฏิรูป แต่ไม่เคยมีกระบวนการที่เกิดขึ้นจริงจังเหมือนครั้งนี้ ฉะนั้น การที่มีสภาปฏิรูป อย่างน้อยเป็นการกระทำที่สามารถนำไปสู่ผลที่ต้องการได้
“ผมคุยกับสมาชิกสปช.หลายคนเห็นตรงกันว่า ถ้าครั้งนี้ไม่สามารถทำอะไรที่ออกมาเป็นมรรคผลได้ โอกาสที่จะเห็นความสำเร็จในเรื่องปฏิรูปในโอกาสอื่นๆคงยาก”
ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม(ธ.พ.ส.ส.) สมาชิกเครือเดินหน้าปฏิรูป บอกว่า เท่าที่คุยกับสมาชิกที่เคยทำงานร่วมกันแล้วไปอยู่ในสปช. ก็เห็นไปในทิศทางคล้ายกันว่า ถ้าพูดถึงวาระการปฏิรูป มันหมายถึงการเปลี่ยนแปลงหรือตอบโจทย์กับสังคมในเวลานี้ ถ้าไม่เปลี่ยนเรื่องเหล่านี้ก็ไม่เรียกว่าการปฏิรูป
“ นี่เป็นวาระและภาระที่เรียกร้องให้ทั้งสปช.และกลไกปฏิรูปภาคประชาชนมาร่วมกันออกแรงนำเสนอ ผมไม่สามารถตอบแบบฟันธงได้ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น แต่ที่ผมตอบได้คือ สิ่งที่พูดมาคือที่มาของวาระการปฏิรูป ถ้าไม่ทำก็เป็นเป็นความล้มเหลวที่อธิบายไม่ได้ว่าทำไมไม่ทำให้เกิดขึ้น”
อย่างไรก็ สปช.คงทำหน้าที่เป็นไปตามกรอบหน้าที่ ตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดบทบาทไว้ ซึ่งในแง่การทำงานน่าจะมี 2 ประเด็นคือ เนื้อหากับวิธีทำงาน
สำหรับวิธีทำงาน ผมพูดกับเครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานอยู่ด้วยกันว่า สปช.ไม่น่าจะเป็นคนที่รับเหมาการปฏิรูป ไม่ใช่คน 250 คน คิดหรือตัดสินใจแทนประชาชนทั้งประเทศ
สปช.น่าจะเป็นแค่หนึ่งกลไกของการปฏิรูปและทำหน้าที่เปิดหรือขยายพื้นที่การมีส่วนร่วมให้มีความตื่นตัว ซึ่งปัจจุบันมีบุคคล องค์กร เครือข่ายที่ทำเรื่องปฏิรูปและรู้กันอยู่ว่าใครทำอะไรที่ไหน เพื่อสร้างความเป็นเจ้าของร่วมกันในวาระการปฏิรูป
ที่สำคัญจะเป็นหลักประกันว่า เมื่อมีผลสรุปหรือข้อเสนอที่ออกมาจากสปช.ในอนาคต จะได้เป็นความมั่นคงของข้อเสนอหรือข้อสรุปเหล่านั้นว่าไม่ได้เกิดจากคน 250 คน คิดกันเอง เขียนกันเอง แต่มาจากการมีส่วนร่วมของสังคมที่ตัดสินใจร่วมกัน เมื่อมีรัฐบาลใหม่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะพรรคใด ก็จะได้ไม่มาฉีกสิ่งที่ออกแรงร่วมทำกันมา
“ในทางกลับกันหากเป็นเรื่องของ250 คน ขีดเขียนขึ้นมาเอง ไม่ยากเลยที่รัฐบาลใหม่จะโยนทิ้ง ดังนั้น สปช.ต้องไม่ใช่ผู้รับเหมาการปฏิรูป แต่จะเป็นกลไกลที่ช่วยขยายพื้นที่ทางการเมือง พื้นที่การมีส่วนร่วม ดึงพลังทางสังคมมาเสริมให้การปฏิรูปครั้งนี้ก้าวหน้า ไม่ซ้ำรอบหรือเสียของเหมือนที่ผ่านมา”
ขณะที่ ผู้สมัครเป็นสมาชิกสปช.รายหนึ่ง วิเคราะห์ในฐานะนักสังเกตการณ์การเมืองว่า ถ้าปฏิรูปรอบนี้ไม่ประสบความสำเร็จ บ้านเมืองไปไม่รอด เพราะ1.เรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนคนรวย ขณะนี้มีความเหลื่อมล้ำสูงมาก ดังนั้นผมหวังว่ากฎหมายภาษีที่ดินและภาษีมรดก ต้องออกมาให้ได้ ถ้าออกมาได้ อย่างน้อยจะช่วยลดเรื่องความเหลื่อมล้ำ
2. คือเรื่องแนวคิดการเมือง สมัยก่อน 14 ตุลา 2516 ภาคประชาชนคิดเห็นเรื่องประชาธิปไตยตรงกัน แต่วันนี้คิดเห็นไม่ตรงกัน คนละเวอร์ชั่น
ฝ่ายหนึ่งก็อาจจะมีความรู้สึกว่าการเลือกตั้ง นายกฯมาจากการเลือกตั้ง ระบบพรรคการเมืองเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เลวน้อยที่สุด ถ้าไม่ดีก็เลือกตั้งใหม่ ให้ระบบได้ทำงานและดำเนินไป
แต่อีกฝ่ายหนึ่งมองไม่ตรงกันว่า เห็นได้จากการออกมาประท้วงของม็อบกปปส. ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ สมัยก่อนทุนจ่ายเงินผ่านพรรคการเมือง เห็นได้จากการเงินบริจาคพรรค สมัยเผด็จการทหารยุคก่อน ทุนก็จ่ายผ่านทหาร
สมัยแรกๆที่ทุนจ่ายผ่านนักการเมือง ก็มีการแทงกั๊ก จ่ายทุกพรรค สุดท้ายมีผลประโยชน์ร่วมกันกัน ออกฎหมายเอื้อคนที่มีอำนาจ เอื้อทุน ก็ไม่ค่อยมีใครลุกขึ้นทำอะไรให้กระทบกับนายทุน
แต่วันนี้ นายทุนกระโดดลงมาเล่นเองในสนามการเมือง เขาคิดการเมืองเรื่องกำไรขาดทุน ใช้งบเท่าไหร่ กำไรเท่าไหร่ ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งกันสูงมาก คนนี้กินรวบไม่แบ่งฝ่ายโน้น ทุนกันเองก็ขัดแย้งกันทั้งทุนเก่า ทุนใหม่ ทุนคนละฝ่าย
ที่สำคัญประชาชนก็ขัดแย้ง รวมทั้งเห็นการทุจริต ประชาชนก็เสียหาย ส่งผลให้เศรษฐกิจมีปัญหาตามไปด้วย ฉะนั้น ถ้ารอบนี้การปฏิรูปไม่สำเร็จ เชื่อว่าวิกฤตการเมืองจะตามมา แล้วก็จะหนักหน่วง
เขาวิเคราะห์ต่อว่า ก่อนหน้านี้มีความห่วงใยกันว่าอาจจะมีเลือดตกยางออกทาการเมือง ซึ่งไม่ใช่เรื่องของชนชั้น เรื่องเสื้อแดง หรือเรื่องอำมาตย์ แต่เป็นเรื่องของฝ่ายหนึ่งได้รับการซับพอร์ตจากคนรากหญ้า แต่อีกฝ่ายหนึ่งยังครองใจคนมีการศึกษาและคนในเมืองมากกว่า กระทั่งพลังประชาชนออกมาครั้งใหญ่ จนนำมาสู่ รัฐประหาร 22 พฤษภาคม แต่กระนั้น หลังจากนี้หากมีข้อมูลว่ารัฐบาลทหารไม่โปร่งใส ก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน
“สมัยคุณสุจินดา (คราประยูร) แข็งแรงมาก กุมกองทัพทั้งหมด แต่กลับอยู่ได้ไม่นาน เที่ยวนี้ หากคุณไม่จริงใจกับประชาชนจริงๆท้ายสุดก็จะอยู่ไม่ได้ พรรคการเมืองใหม่ที่เข้ามา ก็จะเป็นเช่นกัน”
แต่โจทย์ที่ท้าทายคือ ทำอย่างไรไม่ให้เขาเกี๊ยเซี้ยกัน และไม่ให้เป็นสมบัติผลัดกันชม นั้นคือทำอย่างไรที่จะปฏิรูปแล้ว ผลประโยชน์ตกอยู่กับประชาชนจริงๆ
ขอบคุณภาพจาก
คลังภาพ ศูนย์สื่อทำเนียบ