"ทุ่งยางแดงโมเดล" ของเก่า-นวัตกรรมใหม่ หรือไฟไหม้ฟาง?
หลังเกิดเหตุการณ์เผาโรงเรียน 6 แห่งใน อ.ทุ่งยางแดง และ อ.มายอ จ.ปัตตานี เมื่อเวลาตี 2 ของวันอาทิตย์ที่ 12 ต.ค.57 ที่ผ่านมา คำว่า "ทุ่งยางแดงโมเดล" ได้ผุดขึ้นมาจากฝ่ายความมั่นคง
จากนั้นสื่อมวลชนได้ช่วยกันกระจายข่าวอย่างกว้างขวางจนกลายเป็นความหวังว่า "ทุ่งยางแดงโมเดล" จะเป็นยาวิเศษที่สามารถป้องกันเหตุการณ์เผาโรงเรียนไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีกได้ในอนาคต
แต่ตลอดหลายวันที่ผ่านมาก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า "ทุ่งยางแดงโมเดล" คืออะไรกันแน่
เรื่องดังกล่าวพอจะสรุปที่มาที่ไปได้ดังนี้...
13 ต.ค. หลังเกิดเหตุเผาโรงเรียน 1 วัน พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผบ.ทบ.เรียกประชุมทางไกลผ่านจอภาพ สั่งการให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินมาตรการทางทหาร 6 มาตรการ คือ 1.เพิ่มปฏิบัติการในตอนกลางคืนมากขึ้น โดยจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว ชุดเฝ้าตรวจ ชุดสกัด และใช้อุปกรณ์พิเศษที่กองทัพจัดหาให้ 2.จัดให้มีศูนย์สื่อสารระดับตำบลเพื่อรายงานสถานการณ์ตลอดเวลา
3.ให้ทบทวน ซักซ้อม การรักษาความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง 4.ทบทวนว่าพื้นที่ใดล่อแหลมและส่งมอบให้กำลังประชาชนรับผิดชอบไปแล้ว หากมีความจำเป็นให้ส่ง ตชด.และทหารเข้าไปช่วยเสริม 5.การตรวจค้นต้องไม่เหวี่ยงแห แต่ทำไปตามพยานหลักฐาน 6.ต้องไม่เกิดเหตุซ้ำรอยอีก
ในการประชุมเดียวกัน พล.ท.ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 บรรยายสรุปสถานการณ์ว่า จากการลงพื้นที่ อ.ทุ่งยางแดง ร่วมกับ นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต.เพื่อรับฟังปัญหา ได้ข้อสรุปว่าจะดำเนินการจัดทำ "ทุ่งยางแดงโมเดล" โดยจะติดตั้งระบบแจ้งสัญญาณเตือนภัยแบบรีโมทคอนโทรลทุกโรงเรียนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมด้วยกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (ซีซีทีวี) และจัดตั้งชุดอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ขึ้นมาดูแล ส่วนชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ให้ทำหน้าที่ดูแลโรงเรียน และมอบหมายให้ชุดคุ้มครองตำบล (ชคบ.) ทำหน้าที่ดูแลเส้นทางหมู่บ้าน
14 ต.ค. พล.ท.ปราการ อธิบายเพิ่มเติมว่า นอกจากมาตรการทางทหารแล้ว ยังมีมาตรการด้านการเมืองตามแผนงานและโครงการที่มีอยู่ ก็จะลงไปปฏิบัติงานพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นชุมชนเข้มแข็งต่อสู้ยาเสพติด ชุมชนกำปงตักวา (ชุมชนศรัทธา) การทำเวทีชาวบ้าน การพัฒนาของ ศอ.บต. โดยจะลงไปดำเนินการพร้อมๆ กันในหลายชุมชน ให้กลายเป็นอำเภอเข้มแข็ง ชาวบ้านสามารถดูแลพื้นที่ของตัวเองได้
สำหรับพื้นที่อื่นๆ ก็จะมีการปฏิบัติคล้ายๆ กัน แต่จะเน้นหนักที่ "ทุ่งยางแดง" ก่อน...ทั้งหมดนี้คือที่มาของโครงการ สรุปสั้นๆ ง่ายๆ ก็คือ การบูรณาการคน หน่วยงาน และเครื่องมือเข้าด้วยกัน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เผาโรงเรียนซ้ำรอยทุ่งยางแดง
อย่างไรก็ดี เมื่อสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติ ทั้งในหน่วยงานพัฒนา ฝ่ายปกครอง หรือแม้แต่หน่วยกำลังเอง ทุกหน่วยพูดตรงกันว่ายังไม่ทราบรายละเอียด บ้างก็ว่ารายละเอียดเยอะ ยังประชุมกันอยู่เลย ฯลฯ
จึงกลายเป็นคำถามว่าตกลง "ทุ่งยางแดงโมเดล" คือโครงการใหม่ หรือโครงการที่มีอยู่แล้ว กำลังจะทำ เมื่อเกิดเหตุเผาโรงเรียนจึงได้จังหวะพลิกวิกฤติเป็นโอกาสด้วยการ "ทำทันที" หรือว่าแท้ที่จริงเป็น "เรื่องเก่า" แล้วเอามาปัดฝุ่นใหม่
หรือหนักไปกว่านั้น เป็นแค่โครงการ "ไฟไหม้ฟาง" ที่คิดขึ้นในช่วงสถานการณ์วิกฤติ เข้าทำนองขายผ้าเอาหน้ารอดหรือไม่?
เจ้าหน้าที่ที่ดูแลงบประมาณของหน่วยงานด้านการพัฒนาชายแดนใต้ ให้ข้อมูลว่า เรื่องกล้องวงจรปิด หรือสัญญาณเตือนภัย เป็นเรื่องที่พูดกันมานานแล้ว สมัยที่มีเหตุยิงครูและเผาโรงเรียนถี่ๆ เมื่อราวปี 2550 แต่หลังจากนั้นก็เงียบหายไป ไม่เคยพูดถึงอีกเลย เพิ่งมาได้ยินอีกครั้งก็ในช่วงนี้
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงทุ่งยางแดงโมเดลว่า เป็นมาตรการเดิม ไม่มีอะไรมากกว่าที่ผ่านมา แต่เน้นกวดขันการป้องกันเฝ้าระวัง และบูรณาการกันระหว่างพลเรือน ทหาร กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงฝ่ายบ้านเมืองจะพัฒนาอย่างไร ซึ่งขณะนี้ได้สั่งการให้ทุกกระทรวงเร่งนำงบประมาณลงไปในภาคใต้ให้เกิดผลโดยเร็วที่สุด
แกนนำครูระดับจังหวัดรายหนึ่ง บอกว่า ทุกเรื่องเป็นเรื่องเก่า เพียงแต่ใช้ถ้อยคำใหม่ว่า "ทุ่งยางแดงโมเดล" แต่ทุกเรื่องที่เจ้าหน้าที่พูด รวมถึงมาตรการ 6 ข้อของ ผบ.ทบ. ล้วนเคยทำมาแล้วทั้งสิ้น และล้มเหลวเกือบทั้งหมด
เริ่มจากการติดสัญญาณเตือนภัย ก็เคยติดมาแล้วตลอดหลายปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เกิดกรณี "ครูจูงหลิง ปงกันมูล" (เหตุการณ์กรุ้มรุมทำร้ายครูจูหลิงที่บ้านกูจิงรือปะ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อ 19 พ.ค.49) แต่พอติดจริงก็มีปัญหา
เช่น เสียงเตือนไม่ดังพอ บางแห่งดังเหมือนเป่านกหวีด ที่สำคัญคือใครจะกล้ากดสัญญาณ เพราะคนร้ายมาแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว ใครกดคนร้ายก็ยิงตาย หรือถ้าได้กด เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจะเดินทางมาหรือไม่ เพราะทุกวันนี้ก็แทบไม่มีเจ้าหน้าที่ออกปฏิบัติหน้าที่เวลากลางคืนอยู่แล้ว เนื่องจากเกรงเป็นแผนซุ่มโจมตี
ยิ่งไปกว่านั้น จำนวนโรงเรียนในพื้นที่ เฉพาะระดับประถมศึกษามีถึง 1,300 กว่าโรง ถามว่าต้องใช้งบประมาณเท่าไร และต้องใช้เวลาอีกเท่าไรจึงจะติดครบหมดทุกโรงเรียน
ส่วนเรื่องกล้องซีซีทีวี เคยมีนโยบายมาตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ปี 2550 ทั้งการติดกล้องวงจรปิดล็อตใหญ่ทั่วชายแดนใต้ และติดกล้องบริเวณโรงเรียนทุกแห่ง รวมทั้งสร้างรั้วโรงเรียนสำหรับโรงเรียนที่ไม่มีรั้ว แต่จนป่านนี้ก็ยังไม่เสร็จเรียบร้อย เมื่อไม่มีเดือนที่ผ่านมาปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพิ่งเร่งรัดเรื่องนี้ คือจะติดกล้องให้ครบทุกโรงเรียนในพื้นที่ จำนวนกว่า 1 พันกล้อง นั่นย่อมแสดงว่าที่ผ่านมายังทำไม่เสร็จ
เรื่องการตั้งศูนย์ปฏิบัติการตำบล การใช้กองกำลังประชาชน ถามว่ามีประสิทธิภาพแค่ไหน เพราะต้องใช้คนเยอะมาก ประกอบกับคนร้ายทำงานอย่างมีระบบ ก่อนก่อเหตุมีการส่งคนไปสังเกตการณ์ตามโรงเรียนต่างๆ ว่าเข้าเวรกันอย่างไร อยู่กันกี่คน มีปืนหรือไม่ เมื่อได้ข้อมูลครบ จึงเริ่มปฏิบัติการในโรงเรียนที่เป็นจุดอ่อนหรือมีระบบป้องกันรักษาความปลอดภัยอ่อนที่สุดเท่านั้น
"จากสภาพจริงในพื้นที่ ต้องบอกว่าเขาทำได้มากกว่านี้ เผาได้มากกว่านี้ แต่ทำไมถึงเลือกแค่ 6 โรงเรียนนี้ ผู้เกี่ยวข้องต้องไปตรวจสอบดู" แกนนำครูรายนี้ทิ้งประเด็นไว้เป็นปริศนา
พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ไม่ทราบว่าทำไมการเผาโรงเรียนรอบนี้ถึงกลายเป็นข่าวใหญ่โต เรียกว่าเป็นข่าวใหญ่เสียยิ่งกว่าตอนครูถูกฆ่าเสียอีก คาดว่าอาจเป็นเพราะสื่อและสังคมมองว่าเป็นการท้าทายนายกรัฐมนตรีและฝ่ายความมั่นคงหรือไม่ เพราะมีการประกาศก่อนหน้านี้ว่าจะทำให้ปัญหาใต้จบภายใน 1 ปี
แต่ถึงกระนั้น แกนนำครูผู้นี้ก็เห็นว่า การหยิบเรื่อง "ทุ่งยางแดงโมเดล" ขึ้นมา ก็ถือเป็นเรื่องดี แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็จะได้เป็นโอกาสของการสานต่อโครงการเดิมและแผนงานเดิมที่เคยคิดทำกันให้สำเร็จลุล่วงเสียที
ทว่าสิ่งที่จะเป็นเกราะป้องกันโรงเรียนได้ดีที่สุด ไม่ใช่สัญญาณเตือนภัย หรือ ชรบ.เฝ้าโรงเรียน แต่เป็นความรู้สึกรักโรงเรียน หวงแหนโรงเรียนของผู้คนในชุมชน
แต่คำถามจากแกนนำครูที่อยู่ในพื้นที่มาตลอดก็คือ ทุกวันนี้กระทรวงศึกษาธิการพัฒนาหลักสูตรตลอดจนระบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมของพื้นที่ และเป็นที่พึ่งหวังของคนสามจังหวัดได้จริงๆ หรือยัง?
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ซากอาคารเรียนหนึ่งในหลายแห่งหลังถูกวางเพลิงเผา
ขอบคุณ : เจ้าหน้าที่ชุดตรวจที่เกิดเหตุ เอื้อเฟื้อภาพประกอบ