ข้อเสนอว่าด้วยการปฏิรูปการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน
ข้อเสนอว่าด้วยการปฏิรูปการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน
โดยสถาบันต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เนื่องจากปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่ร้ายแรง หยั่งรากลึกและก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง การปฏิรูปให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง การปลูกจิตสำนึก การสร้างคุณธรรม รวมถึงการมีมาตรการและข้อกฎหมายที่เข้มแข็งเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งยวด ดังนั้นสถาบันต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงขอสนับสนุนข้อเสนอและแนวทางแก้ไขปัญหาขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และขอเสนอมาตรการในการปฏิรูปการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เป็นการหนุนเสริมเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้
1. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันมากยิ่งขึ้น ดังนี้
1.1. กำหนดให้มีศาลชำนาญพิเศษเพื่อดำเนินคดีเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน โดยให้มีกระบวนวิธีพิจารณาคดีเป็นระบบไต่สวน เปิดเผย และไม่ล่าช้า สำหรับข้าราชการ นักการเมือง รวมถึงเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดให้คู่ความสามารถอุทธรณ์ไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้
1.2. กำหนดให้กรณีที่ผู้เสียหายได้ยื่นคำร้องต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เนื่องจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไม่รับดำเนินการไต่สวน ดำเนินการล่าช้าเกินสมควร หรือดำเนินการไต่สวนแล้วเห็นว่าไม่มีมูลความผิดตามข้อกล่าวหา หรือได้ยื่นคำร้องต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาแล้ว อย่างใดอย่างหนึ่ง และที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาไม่รับดำเนินการไต่สวน ดำเนินการล่าช้าเกินสมควร หรือดำเนินการไต่สวนแล้วเห็นว่าไม่มีมูลความผิดตามข้อกล่าวหา ให้ประชาชนซึ่งเป็นผู้เสียหายดังกล่าวเป็นผู้มีสิทธิยื่นคำฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้เองโดยตรง
1.3. กำหนดให้คดีเกี่ยวกับการทุจริตซึ่งมีโทษไม่ต่ำกว่า 5 ปีไม่มีอายุความ
1.4. กำหนดให้ไม่นับอายุความระหว่างการหลบหนีคดีเกี่ยวกับการทุจริตภายหลังจากมีการตัดสินวินิจฉัยคดีแล้ว
1.5. กำหนดห้ามมิให้อัยการหรือเจ้าหน้าที่ในองค์กรกำกับดูแลเป็นกรรมการหรืออนุกรรมการในรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นใด
2. ปฏิรูปหน่วยงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น ดังนี้
2.1. กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบกรณีการทุจริตโดยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับ 10 ขึ้นไป
2.2. กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เป็นหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ
2.3. ยกเลิกสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด (ป.ป.จ.) รวมถึงกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด และจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติในระดับภาคแทน เพื่อแก้ปัญหาในด้านทรัพยากรบุคคล และป้องกันการถูกครอบงำโดยฝ่ายการเมืองและข้าราชการระดับสูงในพื้นที่
2.4. บูรณาการและประสานการทำงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ อย่างเป็นเอกภาพ มีการร่วมมือป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอจากภาครัฐในการดำเนินการ
3. ปฏิรูปกระบวนการเลือกตั้งให้ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชัน และป้องกันมิให้ผู้ทุจริตคอร์รัปชันได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนประชาชน ดังต่อไปนี้
3.1. กำหนดโทษสำหรับการทุจริตการเลือกตั้งให้รุนแรง และเด็ดขาดมากยิ่งขึ้น
3.2. กำหนดให้ผู้สนับสนุนการทุจริตการเลือกตั้งมีความผิดเทียบเท่าผู้กระทำความผิด และเป็นโทษร้ายแรง
3.3. กำหนดห้ามผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดทุจริตคอร์รัปชันลงสมัครรับเลือกตั้งหรือดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิต
4. ปฏิรูปให้มีการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน รวมถึงภาษีอากรของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับสูงเมื่อเข้าสู่ตำแหน่ง ขณะดำรงตำแหน่ง รวมถึงภายหลังจากดำรงตำแหน่งเป็นระยะเวลา 2 ปี และมีการวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวประจำปีอย่างต่อเนื่อง
5. ปฏิรูปการให้ข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานรัฐ และป้องกันการใช้งบประมาณรัฐในการประชาสัมพันธ์ส่วนตัว ดังนี้
5.1. ให้มีกฎหมายควบคุมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อป้องกันการทุจริต และการใช้งบประมาณของรัฐในการประชาสัมพันธ์ตัวบุคคล โดยกำหนดมาตรฐานที่ดีในการใช้งบประมาณเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์หน่วยงานรัฐ
5.2. ปรับปรุงพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 เพื่อให้มีการเปิดเผยข้อมูลเป็นหลัก ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น และมีส่วนร่วมในการตรวจสอบอย่างจริงจัง
6. ให้กรมบัญชีกลางมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ อาทิเช่น ราคากลาง งบประมาณ และบุคคลผู้เกี่ยวข้องในจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึงเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบโดยวิธีการที่สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย และสามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา
7. ปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันให้มีความเข้มงวดจริงจังมากยิ่งขึ้น เช่น การส่งผู้ร้ายข้ามแดนในกรณีคดีความผิดเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน ตามพ.ร.บ. ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. 2535 การป้องกันมิให้เกิดการผูกขาดหรือการขัดกันแห่งผลประโยชน์ในการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการก่อสร้างหรือจัดทำโครงการของหน่วยงานรัฐ เป็นต้น
8. ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการติดสินบน หรือ Convention on Combating Bribery of Foreign Public Officials in International Business Transactions (OECD Anti-Bribery Convention) เพื่อผูกมัดให้ภาครัฐต้องดำเนินการและให้ความร่วมมือในการลดปัญหาการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐในการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ
9. ยกเลิกรางวัลนำจับและสินบนนำจับเฉพาะกรณี โดยในกรณีที่มิอาจยกเลิกได้เนื่องจากเหตุผลสำคัญให้นำเข้ากองทุนสวัสดิการของหน่วยงานนั้น ๆ แทน