ไขคำตอบ"ประกาศ-คำสั่งคสช."มีสถานะเป็นกฎหมายทั้งหมดหรือไม่
"..จากการตรวจสอบประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา นับแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ จนถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๗ พบว่า ปัจจุบันมีประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่มิใช่เป็นเรื่องภายในของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นการเฉพาะ และยังคงมีผลใช้บังคับอยู่และมีการกำหนดเกี่ยวกับองค์ประกอบหรืออำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ จำนวน ๔๘ ฉบับ.."
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เผยแพร่ความเห็นทางกฎหมาย เรื่อง สถานะของประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติบางฉบับ ตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร ๐๔๐๑.๖/๓๓๕๕ ลงวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๕๗ ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
สรุปความได้ว่า ตามที่ได้มีประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติบางฉบับกำหนดมิให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับองค์ประกอบหรืออำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตามกฎหมายและตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีมาใช้บังคับ เช่น ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐๕/๒๕๕๗ เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๙๐/๒๕๕๗ เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแหงชาติ ลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๗ นั้น
รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ได้มีคำสั่งให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกลาวมีสถานะเป็นกฎหมายหรือไม่ และหากจะมีการแก้ไของค์ประกอบ รายชื่อ หรืออำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตามประกาศหรือคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกลาวเพื่อกลับไปสู่หลักการตามกฎหมายเดิมจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ อย่างไร
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑) ได้พิจารณาข้อหารือของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยมีผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี) เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่า มาตรา ๔๗๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช ๒๕๕๗ บัญญัติให้ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ได้ประกาศหรือสั่งในระหว่างวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ จนถึงวันที่คณะรัฐมนตรีเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว ไม่ว่าประกาศหรือสั่งให้มีผลบังคับในทางรัฐธรรมนูญ ในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และยังมีผลใช้บังคับอยู่ ในวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะมีกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี หรือคำสั่ง แล้วแต่กรณี แก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิก ซึ่งจากบทบัญญัติดังกลาว แสดงให้เห็นว่าประกาศหรือคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีทั้งที่มีฐานะเป็นกฎหมาย (ซึ่งรวมถึงรัฐธรรมนูญด้วย) และที่มีฐานะเป็นกฎ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี หรือคำสั่ง การจะทราบว่าประกาศหรือคำสั่งใดมีฐานะอยางใด จำเป็นต้องตรวจสอบสาระสำคัญของประกาศหรือคำสั่ง แต่ละฉบับ เป็นกรณี ๆ ไป
จากการตรวจสอบประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา นับแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ จนถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๗ พบว่า ปัจจุบันมีประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่มิใช่เป็นเรื่องภายในของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นการเฉพาะ และยังคงมีผลใช้บังคับอยู่และมีการกำหนดเกี่ยวกับองค์ประกอบหรืออำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ จำนวน ๔๘ ฉบับ โดยสามารถแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท ดังนี้
๑. ประเภทที่เป็นกฎหมาย สามารถแบ่งได้เป็น ๓ กรณี ดังนี้
๑.๑ กรณีที่เป็นประกาศหรือคำสั่งที่เป็นกฎหมายใหม่ มีจำนวน ๓ ฉบับ (ดูรายละเอียดท้ายข่าว)
๑.๒ กรณีที่เป็นประกาศหรือคำสั่งที่แก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมาย ที่มีอยูเดิม มีจำนวน ๕ ฉบับ (ดูรายละเอียดท้ายข่าว)
๑.๓ กรณีที่เป็นประกาศหรือคำสั่งที่ไม่ได้แก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายที่มีอยูในปัจจุบัน แต่มีผลเป็นการยกเว้น เปลี่ยนแปลง หรือระงับใช้กฎหมาย หรือเป็นการสร้างกลไกขึ้นมาคู่ขนานกับกลไกที่มีอยู่แล้วตามกฎหมาย ซึ่งบางกรณีประสงค์จะใช้เป็นการชั่วคราว มีจำนวน ๙ ฉบับ (ดูรายละเอียดท้ายข่าว)
๒. ประเภทที่เป็นประกาศหรือคำสั่งทางบริหาร มีจำนวน ๓๑ ฉบับ (ดูรายละเอียดท้ายข่าว)
ในการแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกประกาศหรือคำสั่งดังกล่าว หากประกาศหรือคำสั่งใด มีฐานะเป็นกฎหมาย การแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกยอมต้องทำเป็นร่างพระราชบัญญัติเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป
ส่วนประกาศหรือคำสั่งใดมีฐานะเป็นคำสั่งทางบริหารการแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกยอมต้องทำโดยคำสั่งทางบริหารหรือโดยมติคณะรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี
ลงชื่อ นายดิสทัต โหตระกิตย์
รองเลขาธิการฯ รักษาราชการแทน
เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
@ กรณีที่เป็นประกาศหรือคำสั่งที่เป็นกฎหมายใหม่
๑. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๒๖/๒๕๕๗ เรื่อง การดูแลและสอดส่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ลงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๗เนื่องจากในข้อ ๒ ของประกาศฉบับนี้ได้กำหนดให้คณะทำงานด้านสื่อสังคมออนไลน์ มีอำนาจระงับการเผยแพร่เว็บไซต์ สื่อสังคมออนไลน์ ทั้งข้อความ รูปภาพ ภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่อง และคลิปเสียง ที่ฝ่าฝืนได้ อันเป็นอำนาจที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งโดยปกติต้องออกเป็นกฎหมาย ประกาศฉบับนี้จึงมีฐานะเป็นกฎหมาย
๒. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๕/๒๕๕๗ เรื่อง ผู้รักษาการประธานกรรมการในคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจ และการขออนุมัติโครงการใหม่หรือการทำธุรกรรมที่มีวงเงินเกินหนึ่งร้อยล้านบาทของรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๘/๒๕๕๗ เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๕/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๗เนื่องจากในข้อ ๒ ของประกาศฉบับนี้ได้กำหนดให้ในกรณีที่ตำแหน่งประธานกรรมการของรัฐวิสาหกิจใดว่างลง นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ หากยังไม่มีการแต่งตั้งประธานกรรมการขึ้นใหม่ ให้รองประธานกรรมการในคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจดังกล่าวเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งประธานกรรมการ อันเป็นการกำหนดกลไกขึ้นใหม่เพื่อใช้บังคับกับกฎหมายของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งโดยปกติต้องออกเป็นกฎหมาย ประกาศฉบับนี้จึงมีฐานะเป็นกฎหมาย
๓. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๓๓/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานเกี่ยวกับการตรวจสอบการทำธุรกรรมทางการเงิน หรือการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคล หรือนิติบุคคล เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวม ลงวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๗เนื่องจากในข้อ ๑ ของคำสั่งฉบับนี้ได้กำหนดให้คณะทำงานปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจสอบการทำธุรกรรมทางการเงิน หรือการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคล หรือนิติบุคคล อันเป็นอำนาจที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งโดยปกติต้องออกเป็นกฎหมาย คำสั่งฉบับนี้จึงมีฐานะเป็นกฎหมาย
@ กรณีที่เป็นประกาศหรือคำสั่งที่แก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายที่มีอยู่เดิม
๑. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๑/๒๕๕๗ เรื่อง การสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ลงวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๖/๒๕๕๗ เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๑/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐๑/๒๕๕๗ เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๑/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗เนื่องจากประกาศฉบับนี้มีบทบัญญัติให้ยกเลิกบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งการที่จะยกเลิกกฎหมายได้ จะต้องมีฐานะเป็นกฎหมายที่ไม่ต่ำศักดิ์กว่ากัน ประกาศฉบับนี้จึงมีฐานะเป็นกฎหมาย
๒. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๒/๒๕๕๗ เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ลงวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๗เนื่องจากประกาศฉบับนี้มีบทบัญญัติให้แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายโดยปกติต้องออกเป็นกฎหมาย ประกาศฉบับนี้จึงมีฐานะเป็นกฎหมาย
๓. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๘๐/๒๕๕๗ เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๗เนื่องจากประกาศฉบับนี้มีบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมและยกเลิกบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ซึ่งการแก้ไขเพิ่มเติมและยกเลิกกฎหมายโดยปกติต้องออกเป็นกฎหมาย ประกาศฉบับนี้จึงมีฐานะเป็นกฎหมาย
๔. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๘๘/๒๕๕๗ เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ ลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๗เนื่องจากประกาศฉบับนี้มีบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมและยกเลิกบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ ซึ่งการแก้ไขเพิ่มเติมและยกเลิกกฎหมายโดยปกติต้องออกเป็นกฎหมาย ประกาศฉบับนี้จึงมีฐานะเป็นกฎหมาย
๕. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐๙/๒๕๕๗ เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗เนื่องจากประกาศฉบับนี้มีบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ ซึ่งการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายโดยปกติต้องออกเป็นกฎหมาย ประกาศฉบับนี้จึงมีฐานะเป็นกฎหมาย
@ กรณีที่เป็นประกาศหรือคำสั่งที่ไม่ได้แก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่มีผลเป็นการยกเว้น เปลี่ยนแปลง หรือระงับใช้กฎหมาย หรือเป็นการสร้างกลไกขึ้นมาคู่ขนานกับกลไกที่มีอยู่แล้วตามกฎหมาย
๑. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๘๕/๒๕๕๗ เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๗แม้ประกาศฉบับนี้จะไม่มีบทบัญญัติให้ยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย แต่ผลของบทบัญญัติต่าง ๆ ทำให้บทบัญญัติในกฎหมายที่มีอยู่ต้องระงับการใช้บังคับ เช่น ในข้อ ๑ ของประกาศฉบับนี้ กำหนดให้งดการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น อันมีผลให้บทบัญญัติดังกล่าวในกฎหมายไม่สามารถใช้บังคับได้ ซึ่งโดยปกติบทบัญญัติที่มีผลให้กฎหมายใช้บังคับไม่ได้ย่อมต้องมีฐานะไม่ต่ำศักดิ์กว่ากฎหมาย ประกาศฉบับนี้จึงมีฐานะเป็นกฎหมาย
๒. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๘๖/๒๕๕๗ เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและสมาชิกสภาเขตเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๗ประกาศฉบับนี้มีสาระและฐานะเช่นเดียวกับประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๘๕/๒๕๕๗ฯ ซึ่งอยู่ในลำดับที่ ๑ ประกาศฉบับนี้จึงมีฐานะเป็นกฎหมาย
๓. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๙๕/๒๕๕๗ เรื่อง การให้เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานพ้นจากตำแหน่ง และการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ลงวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๗ประกาศฉบับนี้มีผลทำให้บทบัญญัติในกฎหมายที่มีอยู่ใช้บังคับไม่ได้ เช่น ในข้อ ๓ ของประกาศฉบับนี้ กำหนดยกเว้นมิให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการสรรหาตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. ๒๕๕๐ มาใช้บังคับกับการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามประกาศนี้ อันมีผลให้บทบัญญัติดังกล่าวในกฎหมายไม่สามารถใช้บังคับได้ ซึ่งโดยปกติบทบัญญัติที่มีผลให้กฎหมายใช้บังคับไม่ได้ย่อมต้องมีฐานะไม่ต่ำศักดิ์กว่ากฎหมาย ประกาศฉบับนี้จึงมีฐานะเป็นกฎหมาย
๔. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐๕/๒๕๕๗ เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗ประกาศฉบับนี้มีผลทำให้บทบัญญัติในกฎหมายที่มีอยู่ใช้บังคับไม่ได้ เช่น ในข้อ ๒ ของประกาศฉบับนี้ กำหนดยกเว้นมิให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับองค์ประกอบของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. ๒๕๒๐ มาใช้บังคับกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่แต่งตั้งตามประกาศนี้ อันมีผลให้บทบัญญัติดังกล่าวในกฎหมายไม่สามารถใช้บังคับได้ ประกาศฉบับนี้จึงมีฐานะเป็นกฎหมายด้วยเหตุผลเดียวกับกรณีที่กล่าวข้างต้น
อนึ่ง คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑) มีข้อสังเกตว่า แม้ประกาศฉบับนี้จะกำหนดให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนตามประกาศนี้ มีวาระอยู่ในตำแหน่งตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าต้องการให้มีผลเป็นการแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับองค์ประกอบของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. ๒๕๒๐ เป็นการชั่วคราว แต่การกำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนตามประกาศฉบับนี้อาจเกิดปัญหาในอนาคตหากบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการโดยชื่อต้องพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ จะมีผลให้ไม่สามารถตั้งผู้อื่นแทนได้
๕. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐๗/๒๕๕๗ เรื่อง ให้สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสิ้นสุดลง ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ประกาศฉบับนี้มีผลทำให้บทบัญญัติในกฎหมายที่มีอยู่ใช้บังคับไม่ได้ เช่น ในข้อ ๒ ของประกาศนี้กำหนดว่า กรณีที่บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นผู้พิจารณาหรือให้ความเห็นชอบในเรื่องใด ให้บทบัญญัติว่าด้วยส่วนดังกล่าวเป็นอันงดใช้บังคับ อันมีผลให้บทบัญญัติดังกล่าวในกฎหมายถูกระงับไป ประกาศฉบับนี้จึงมีฐานะ
เป็นกฎหมาย
๖. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒๐/๒๕๕๗ เรื่อง ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๖๑/๒๕๕๗ และแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) ลงวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๗ประกาศฉบับนี้มีผลทำให้บทบัญญัติในกฎหมายที่มีอยู่ใช้บังคับไม่ได้ เช่น ในข้อ ๓ (๒) ของประกาศนี้กำหนดให้คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) ปฏิบัติหน้าที่แทนคณะกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดในพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. ๒๕๔๓ อันมีผลให้บทบัญญัติดังกล่าวในกฎหมายถูกระงับไป ประกาศฉบับนี้จึงมีฐานะเป็นกฎหมาย
๗. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๕๔/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ลงวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๗เนื่องจากคำสั่งฉบับนี้กำหนดให้คณะกรรมการตามคำสั่งนี้มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการกำหนดราคาพลังงานอันเป็นอำนาจที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งโดยปกติต้องออกเป็นกฎหมาย ประกอบกับมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นใหม่ มีองค์ประกอบแตกต่างจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยไม่ได้ยกเลิกคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติฯ จึงมีลักษณะเป็นการสร้างกลไกขึ้นมาคู่ขนานกับกลไกที่มีอยู่แล้วตามกฎหมาย คำสั่งฉบับนี้จึงมีฐานะเป็นกฎหมาย
๘. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๕๕/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ลงวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๗ เนื่องจากคำสั่งฉบับนี้กำหนดให้คณะกรรมการตามคำสั่งนี้มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดราคาและอัตราเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง อันเป็นอำนาจที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งโดยปกติต้องออกเป็นกฎหมาย ประกอบกับมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นใหม่ มีองค์ประกอบแตกต่างจากคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานตามคำสั่งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่ ๔/๒๕๔๕ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ลงวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๔๕ โดยไม่ได้ยกเลิกคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานตามคำสั่งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่ ๔/๒๕๔๕ฯ จึงมีลักษณะเป็นการสร้างกลไกขึ้นมาคู่ขนานกับกลไกที่มีอยู่แล้วตามกฎหมาย คำสั่งฉบับนี้จึงมีฐานะเป็นกฎหมาย
๙. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๕๖/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ลงวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๗เนื่องจากคำสั่งฉบับนี้กำหนดให้คณะกรรมการตามคำสั่งนี้มีอำนาจหน้าที่ในการยกเว้นค่าธรรมเนียมและพิจารณาอนุมัติคำขอรับการส่งเสริมและช่วยเหลือ ซึ่งจะกระทำได้ก็แต่โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ประกอบกับมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นใหม่ มีองค์ประกอบแตกต่างจากคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยไม่ได้ยกเลิกคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานฯ จึงมีผลให้คณะกรรมการทั้งสองชุดเกิดขึ้นและดำรงอยู่คู่ขนานกัน จึงมีลักษณะเป็นการสร้างกลไกขึ้นมาคู่ขนานกับกลไกที่มีอยู่แล้วตามกฎหมาย คำสั่งฉบับนี้จึงมีฐานะเป็นกฎหมาย
อนึ่ง ประกาศและคำสั่งในลำดับที่ ๔ ลำดับที่ ๖ ลำดับที่ ๗ ลำดับที่ ๘ และลำดับที่ ๙ ได้เปลี่ยนแปลงหรือสร้างโครงสร้างของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องขึ้นใหม่ให้ผิดไปจากที่เป็นอยู่ตามปกติ โดยกำหนดให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นประธานกรรมการแทนนายกรัฐมนตรี และผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือปลัดกระทรวงเป็นประธานกรรมการหรือกรรมการแทนรัฐมนตรี ซึ่งบัดนี้มีรัฐธรรมนูญใช้บังคับแล้ว และมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่จะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายครบถ้วนแล้ว จะสมควรแก้ไขเพิ่มเติมให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเข้ารับผิดชอบแทนผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือไม่ นอกจากนั้น ประกาศหรือคำสั่งดังกล่าวมีบางฉบับก่อให้เกิดคณะกรรมการคู่ขนานกันจนไม่ทราบได้ว่าคณะกรรมการชุดใดจะรับผิดชอบหรือมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่แท้จริง หากประกาศหรือคำสั่งเหล่านี้ยังมีผลใช้บังคับต่อไป จะเกิดปัญหาอย่างรุนแรงในทางปฏิบัติได้ จึงสมควรยกเลิกประกาศหรือคำสั่งเหล่านี้โดยเร็ว และหากต้องการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างไร ก็สมควรดำเนินการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องแทนต่อไป
@ ประเภทที่เป็นประกาศหรือคำสั่งทางบริหาร
๑. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๙๘/๒๕๕๗ เรื่อง การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ประกอบกับคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๙๖/๒๕๕๗ เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗เนื่องจากอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตามประกาศฉบับนี้มีขึ้นเพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และไม่มีอำนาจหน้าที่ใดกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ประกาศฉบับนี้จึงมีฐานะเป็นคำสั่งทางบริหาร
๒. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑๒/๒๕๕๗ เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๒ ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗เนื่องจากเป็นประกาศที่เพียงแต่แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ประกาศฉบับนี้จึงมีฐานะเป็นคำสั่งทางบริหาร
๓. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๔๕/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ลงวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๗
๔. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๔๗/๒๕๕๗ เรื่อง การปฏิบัติหน้าที่ในคณะกรรมการต่าง ๆ ลงวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๗
๕. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๖๗/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ ลงวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๑๔/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ เพิ่มเติม ลงวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๗
๖. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๗๑/๒๕๕๗ เรื่อง จัดตั้งศูนย์อำนวยการเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และแต่งตั้งคณะกรรมการศูนย์อำนวยการเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
ลงวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๗
๗. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๗๒/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ลงวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๐๙/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติมในคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ลงวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๗
๘. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๗๓/๒๕๕๗ เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๗
๙. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๗๔/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการประสานงานการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๗
๑๐. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๗๕/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๙๗/๒๕๕๗ เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗
๑๑. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๗๖/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก ลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๗
๑๒. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๘๕/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๑๑/๒๕๕๗ เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๘๕/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๗
๑๓. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๘๘/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาความเหมาะสมการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๘ ลงวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๗
๑๔. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๙๐/๒๕๕๗ เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๗
๑๕. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๙๑/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) ลงวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๗
๑๖. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๐๐/๒๕๕๗ เรื่อง การแต่งตั้งคณะทำงานติดตามและตรวจสอบการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์กรุงเทพมหานคร ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗
๑๗. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๐๑/๒๕๕๗ เรื่อง การแต่งตั้งชุดติดตามและตรวจสอบการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์จังหวัด ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗
๑๘. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๐๕/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง ลงวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๗
๑๙. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๐๖/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ลงวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๗
๒๐. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๐๗/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายอาหาร ลงวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๗
๒๑. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๑๐/๒๕๕๗ เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติด้านโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคม ลงวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๗
๒๒. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๑๒/๒๕๕๗ เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ ลงวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๗
๒๓. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๑๕/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาทางพระพุทธศาสนา ลงวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๗
๒๔. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๑๖/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่วมจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรเป็นรายพืชเศรษฐกิจ ๔ สินค้า (Roadmap) คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และอ้อย ลงวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๗
๒๕. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๑๘/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ลงวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๗
๒๖. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๑๙/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองงานด้านกฎหมาย ลงวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๗
๒๗. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๗๒/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว ลงวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๗๘/๒๕๕๗ เรื่อง เพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว ลงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗
๒๘. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๗๓/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการด้านการผลิตและการตลาดสินค้าข้าว ลงวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๗
๒๙. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๗๕/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว ลงวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๗
๓๐. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๗๖/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำบัญชีข้าวคงเหลือของรัฐ ลงวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๗
๓๑. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๗๗/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ ลงวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๗
บรรดาคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่แต่งตั้งคณะกรรมการต่าง ๆ ในลำดับที่ ๓ ถึงลำดับที่ ๓๑ ข้างต้นเป็นการตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยมิได้มีการกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ใดที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
แม้บางคำสั่งจะมีการยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่มีอยู่เดิม แต่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าวก็มีฐานะเป็นเพียงคำสั่งทางบริหารอย่างหนึ่งเท่านั้น (เช่น คำสั่งในลำดับที่ ๑๒) คำสั่งเหล่านี้จึงมีฐานะเป็นคำสั่งทางบริหาร การแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกอาจทำได้โดยคำสั่งทางบริหารของนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี
สำหรับคำสั่งในลำดับที่ ๒๐ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑) มีความเห็นว่า แม้ว่าในคำสั่งจะกำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์แต่ละชนิด แต่อย่างไรก็ดี อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตามคำสั่งฉบับนี้เป็นเพียงการกำหนดนโยบายและมาตรการในการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์เพื่อให้องค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายนำไปดำเนินการต่อไปเท่านั้น โดยคณะกรรมการตามคำสั่งฉบับนี้มิได้เป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด
อนึ่ง คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑) มีข้อสังเกตว่า คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นจำนวนมาก ได้แต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นกรรมการบ้าง ให้ปลัดกระทรวงเป็นกรรมการแทนที่รัฐมนตรีบ้าง ซึ่งอาจจำเป็นในระหว่างที่ยังไม่มีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี บัดนี้ มีคณะรัฐมนตรีรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินแล้ว จึงเป็นการสมควรที่จะต้องรีบเร่งพิจารณาคำสั่งแต่ละฉบับว่าจะยังให้คงอยู่ต่อไป หรือสมควรจะปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเข้ามารับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่แทนผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือปลัดกระทรวงต่อไป
มิฉะนั้นจะเกิดความสับสนในการปฏิบัติหน้าที่ได้