สตง.ฟันธงโครงการสร้างสนามฟุตซอลทุจริต
ผู้ว่าฯสตง.ชี้โครงการก่อสร้างสนามฟุตซอลทุจริตในสถานศึกษา ไม่ได้มาตรฐาน-วัสดุไร้คุณภาพ เผยสตง.ภาค 5ระงับเบิกจ่ายงบให้ผู้รับเหมาได้ 60 ล้านบาท
นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) จัดประชุมร่วม 4 หน่วยงานประกอบด้วย กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) สำนักป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) เพื่อกำหนดแนวทางการโครงการทุจริตก่อสร้างสนามฟุตซอล ดยเป็นการสนธิการใช้อำนาจตามกฎหมายของแต่ละหน่วยงานเพื่อดำเนินการกับกลุ่มผู้จัดซื้อจัดจ้างในสถานศึกษา ซึ่งจะมีการตรวจสอบพยานหลักฐานต่างๆ โดยจะทำการตรวจสอบใน 3 กลุ่มคือ กรรมการตรวจรับงานในสถานศึกษา กลุ่มเอกชนที่เข้ามาประมูลงาน และกลุ่มผู้ที่อยู่เบื้องหลัง โดยในส่วนของดีเอสไอจะเน้นตรวจสอบบริษัทเอกชน
ส่วนป.ป.ท.จะตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และปปง.จะทำการตรวจสอบเส้นทางการเงิน ในขณะที่สตง.จะตรวจสอบการใช้งบประมาณ ของโรงเรียนที่นำงบไปก่อสร้างสนามฟุตซอลว่า มีการใช้งบผิดประเภท และไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่มีการเสนอโครงการมาหรือไม่ คาดว่าภายใน 1 เดือนจะเห็นความคืบหน้า และจะตรวจสอบแล้วเสร็จภายใน 2-3 เดือน
นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) กล่าวว่า การใช้จ่ายงบประมาณทุจริตก่อสร้างสนามฟุตซอลกับสถานศึกษาถือการกระทำที่อุกอาจ มีการนำอุปกรณ์ก่อสร้างที่ไม่มีคุณภาพนำมาก่อสร้าง จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่สตง.พบสนามฟุตซอลบางโรงเรียนเหลือเพียงลานคอนกรีต พื้นสนามไม่พร้อมใช้งาน แตกร้าว ค่าก่อสร้างแพงเกินความเป็นจริง นอกจากนี้จากการตรวจสอบทางวิศวกรรมมีการยืนยันชัดเจนว่า วัสดุที่เก็บจากสถานที่ไม่ได้มาตรฐาน สนามฟุตซอลกลางแจ้ง ไม่มีคุณภาพ
นายพิศิษฐ์ ในสัญญามีข้อกำหนดเป็นมาตรฐาน แต่เป็นที่รู้กันว่าสนามกลางแจ้ง จะมีมาตรฐานอย่างไร แต่จากหลักฐานที่ปรากฎเป็นที่ประจักษ์ว่า ไม่เป็นไปตามสัญญาและมีการทุจริต สตง.ตรวจสอบโรงเรียนในพื้นที่ภาคอีสานหลายแห่งส่งผลให้โรงเรียนหลายแห่งไม่กล้าตรวจรับงานจากผู้รับเหมา ทำให้บริษัทผู้รับเหมากับโรงเรียนมีการฟ้องร้องกัน อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบของสำนักการตรวจเงินแผ่นดินภาค 5 ทำให้สามารถป้องปรามปรามไม่ให้โรงเรียนเซ็นตรวจรับงานจากผู้รับเหมาในหลายจังหวัด อาทิ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร นครพนม และมุกดาหาร ทำให้ยังไม่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน โดยสามารถระงับยับยั้งการเบิกจ่ายระหว่างผู้รับเหมาและโรงเรียนในภาคอีสานได้กว่า 60 ล้านบาท
"นอกจากนี้ยังมีอีก 6 จังหวัดที่มีการแปลงงบแปรญัตติไปก่อสร้างสร้างสนามฟุตซอล ซึ่งถือว่าฉลาดพอที่ใช้ในการทำอย่างอื่นที่มีความจำเป็นมากกว่าก็จะต้องมีการตรวจสอบด้วยเช่นกัน"เลขาฯสตง.กล่าว
ขอบคุณข่าวจาก