10กฎเหล็ก"กลาโหม"ชงสกัดนักการเมือง-รบ.ใช้เงินรัฐซื้อ"สื่อ"พีอาร์-โจมตีคู่แข่ง
"...กำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่ต้องการโฆษณาโดยใช้งบประมาณของรัฐ หรือรายได้ตามกฎหมายเฉพาะของหน่วยงานของรัฐ แต่ละแห่งส่งโฆษณาที่ต้องการเผยแพร่ไปให้หน่วยงานที่จะได้มีการกำหนดต่อไป พิจารณาอนุมัติก่อน ห้ามมิให้มีการเผยแพร่โฆษณาก่อนที่หน่วยงานนั้นจะได้รับอนุมัติจากหน่วยงานที่กาหนดเว้นแต่เป็นกรณียกเว้นตามที่กฎหมายระบุ.."
นอกเหนือจากการสะท้อนภาพปัญหาการทำงานของ "สื่อสารมวลชน" ทั้งการเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญประการหนึ่งในปัญหาความขัดแย้งของประเทศที่ผ่านมา โดยเฉพาะในส่วนของสื่อกระแสหลักที่ไม่ทำหน้าที่เพื่อสาธารณะ ตรวจสอบผู้มีอำนาจรัฐ เพราะถูกครอบงำทางโครงสร้างความเป็นเจ้าของ หรือถูกควบคุมโดยรัฐ นายทุน และนักการเมือง
ขณะที่สื่อสังคมออนไลน์ถูกใช้เป็นพื้นที่ระบายอารมณ์ และแลกเปลี่ยนข้อมูล ไปจนถึงระดมพลในหมู่ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์มากกว่าจะมีหน้าที่ใดๆ ต่อสังคมโดยภาพรวม วิกฤติการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา ส่วนสื่อสารมวลชนบางกลุ่มทำตัวเป็นดาราค่าตัวแพง ผู้ประกาศข่าวกลายเป็นดาราที่แสดงเพียงบทอ่านข่าว ขณะที่ผู้สื่อข่าวที่ทำงานหนักจริงจังมีรายได้น้อยแทบเลี้ยงครอบครัวไม่รอด ตามที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอไปแล้ว
(อ่านประกอบ : "กลาโหม"ชงปฏิรูป"สื่อ"ทำงานใต้อำนาจทุน ผู้ประกาศเป็นดาราหรู-นักข่าวไส้แห้ง)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า ในรายผลการศึกษาข้อมูล"กรอบความเห็น ปฏิรูปประเทศไทย ด้านสื่อสารมวลชน" ที่จัดทำโดยคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ ของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เพื่อนำเสนอเป็นทางเลือกให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นำไปใช้เป็นข้อมูลในการศึกษา และข้อเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชนที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทยในปัจจุบันและอนาคต
มีการระบุถึงแนวทางการควบคุมกำกับดูแลการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานรัฐ ที่เข้มงวดถึงขั้น ห้ามนักการเมืองมีชื่อ มีภาพ มีเสียงในสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ของรัฐ
โดยระบุแนวทางการดำเนินการไว้จำนวน 10 ข้อ ดังนี้
@ ออกกฎหมายควบคุมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานรัฐ ห้ามนักการเมืองมีชื่อ มีภาพ มีเสียงในสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ของรัฐที่ใช้เงินภาษีอากรของประชาชน เพื่อป้องกันการคอร์รัปชัน
@ กำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่ต้องการโฆษณาโดยใช้งบประมาณของรัฐ หรือรายได้ตามกฎหมายเฉพาะของหน่วยงานของรัฐ แต่ละแห่งส่งโฆษณาที่ต้องการเผยแพร่ไปให้หน่วยงานที่จะได้มีการกำหนดต่อไป พิจารณาอนุมัติก่อน ห้ามมิให้มีการเผยแพร่โฆษณาก่อนที่หน่วยงานนั้นจะได้รับอนุมัติจากหน่วยงานที่กำหนดเว้นแต่เป็นกรณียกเว้นตามที่กฎหมายระบุ
@ กำหนดให้โฆษณา ครอบคลุม ถึงสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อ วิทยุ สื่อโทรทัศน์ สื่อภาพยนตร์ สื่อออนไลน์ ป้ายโฆษณา ตลอดจนงานอีเวนต์
@ ห้ามรัฐบาลใช้เงินโฆษณาของรัฐสร้างภาพโจมตีฝ่ายค้าน
@ กำหนดให้หน่วยงานที่กำหนดพิจารณา อนุมัติให้มีการเผยแพร่โฆษณาได้เฉพาะในกรณีที่เกี่ยวข้องกับ
- โฆษณานั้นเป็นวิธีการที่สมเหตุสมผลในการนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนหรือประเทศ เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของประชาชนข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายหรือบริการของรัฐบาล หรือข้อมูลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือภาพลักษณ์โดยรวมของประเทศ
- โฆษณานั้นมีข้อความระบุว่าเป็นโฆษณาที่จัดทำขึ้นโดยใช้งบประมาณของรัฐ และระบุชื่อหน่วยงานผู้ลงโฆษณา
- โฆษณานั้นไม่มีชื่อ เสียง ภาพของบุคคลตามที่กฎหมายระบุ กล่าวคือ นักการเมือง ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์กรอิสระ
- โฆษณานั้นไม่มีลักษณะมุ่งเน้นสร้างผลประโยชน์ทางการเมืองของรัฐบาล หรือโจมตีฝ่ายตรงข้าม
@ กำหนดให้หน่วยงานที่กำหนดต้องมีคำสั่งอนุมัติหรือไม่อนุมัติภายในระยะเวลา 7 วัน โดยคำสั่งของหน่วยงานที่กำหนดถือเป็นที่สุด ในกรณีที่หน่วยงานที่กำหนดไม่มีคำสั่งภายในระยะเวลาดังกล่าวให้ถือเป็นการอนุมัติโดยปริยาย
@ กำหนดให้หน่วยงานที่กำหนดมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิในทางนิเทศศาสตร์ รัฐศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการโฆษณาประชาสัมพันธ์ หรือผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายนี้
@ กำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดทำแผนการ ใช้จ่ายด้านการประชาสัมพันธ์ประจำปี ซึ่งรวมถึงการซื้อพื้นที่และเวลาในการโฆษณา ในสื่อสิ่งพิมพ์และวิทยุ โทรทัศน์และการจัดอีเวนต์ โดยมีการระบุเนื้อหาสาระและความจำเป็นที่จะต้องประชาสัมพันธ์ ช่องทางในการประชาสัมพันธ์ และวงเงินที่ต้องใช้ในรายกิจกรรม
@ กำหนดให้หน่วยงานของรัฐทำรายงานประจำปี เพื่อแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้งบประมาณประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานของรัฐทั้งหมดเพื่อประโยชน์ของประชาชนในการติดตามตรวจสอบประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานของรัฐ
@ ให้ สตง. ตรวจสอบเนื้อหาโฆษณาของรัฐว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่และรายงานต่อรัฐสภาทุกปี เพื่อเปิดเผยต่อประชาชน รวมทั้งให้กรมบัญชีกลางจัดทาราคากลางการโฆษณาประชาสัมพันธ์ดังกล่าว
ทั้งหมดนี่ ข้อเสนอเกี่ยวกับการคุมเข้มการใช้จ่ายเงินของรัฐไปใช้ในการซื้อสื่อ เพื่อพีอาร์ตัวเอง และสร้างผลประโยชน์ทางการเมือง ให้นักการเมือง และรัฐบาล
ที่ คณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ ของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ระบุว่าถึงขั้นทำให้นักสื่อสารมวลชนหลายเริ่มคิดว่า "เงิน" คือผลตอบแทนสำคัญในอาชีพ
จรรยาบรรณที่ว่ายอมเสียเงินและค่าใช้จ่ายทุกอย่างเพื่อความจริง กลายเป็นการขายเนื้อที่โฆษณา และขายข่าวประชาสัมพันธ์ให้กับลูกค้าและสินค้า เป็นเครื่องมือโฆษณาประชาสัมพันธ์ชวนเชื่อในที่สุด
และกำลังสร้างปัญหาใหญ่ให้กับคนในวงการ"สื่อ"อยู่ในขณะนี้
หมายเหตุ : ภาพประกอบการทำหน้าที่สื่อจาก dailynews.co.th