"นพ.ธีระเกียรติ" ชี้ กุญแจปฎิรูปการศึกษา ไม่ได้มีดอกเดียว
"นพ.ธีระเกียรติ" ชี้ กุญแจของการปฎิรูปการศึกษา ต้องทำโครงสร้างให้มีประสิทธิภาพ เน้นพัฒนาคุณภาพครู การเรียนการสอน แนะตั้งองค์กรอิสระไม่ยึดกับการเมือง ป้องกันการแทรกแซง
วันที่ 13 ตุลาคม 2557 มูลนิธิสยามกัมมาจล ร่วมกับ ศูนย์จิตวิทยาการศึกษา มูลนิธิยุวสถิรคุณ จัดงาน “กุญแจในการปฏิรูปการศึกษา The Key of Education Reform” ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้อำนวยการ ศูนย์จิตวิทยาการศึกษา มูลนิธิยุวสถิรคุณ กล่าวถึงกุญแจของการปฏิรูปการศึกษาไทยว่า สิ่งที่จะต้องดำเนินการหลักๆ คือเรื่องของโครงสร้างของการบริการการศึกษาของประเทศตั้งแต่ระดับกระทรวงจนถึงชาวบ้าน อีกทั้งการพัฒนาคุณภาคการสอน การเรียน และครู และควรเริ่มตั้งแต่ระบบการคัดครู การฝึกฝนครู หรือแม้กระทั่งการพัฒนาคุณภาพของครูอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงระบบค่าตอบแทนหรือเงินเดือน เป็นต้น
“กุญแจของการปฏิรูปการศึกษาไทยไม่ได้มีดอกเดียว แต่มีหลายดอก ซึ่งบางดอกเพื่อไขเรื่องโครงสร้าง บางดอกเรื่องคุณภาพครู เราอย่าไปว่าครูเยอะ ตัวครูเองก็อยากทำงาน แต่ว่าโครงสร้าง ค่าตอบแทนไม่เอื้อ”ผอ.ศูนย์จิตวิทยาการศึกษาฯ กล่าว และว่า องค์ความรู้เกี่ยวกับการปฏิรูปในปัจจุบันมีมากพอที่จะแก้ไขปัญหา แต่สิ่งที่สำคัญต้องเริ่มมีผู้นำที่นำพาให้เกิดการกระทำจริงๆเกิดขึ้น ในตอนนี้ผู้นำมีอยู่ แต่ยังกระจัดกระจายไปคนละทิศ ส่วนตัวคิดว่า สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) จะสามารถรวมผู้นำที่เข้มแข็งได้ และท้ายที่สุดฝ่ายการเมืองจะต้องเป็นผู้นำพาประเทศและผลักดันให้เกิดในระดับนโยบาย
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า ขณะนี้มีข้อเสนอ และความเห็นจำนวนมาก จำเป็นต้องมาจัดลำดับความสำคัญ มีเงินเท่านี้จะทำอะไร เป้าหมายที่ตั้งไว้คืออะไร ตรงไหนสามารถทำได้เลย ตรงไหนต้องการการสนับสนุน ต้องวางแผนโรดเมปที่ชัดเจน
"ปฏิรูปการศึกษาต้องเริ่มจากการไว้ใจคน ให้ทำระบบให้มีประสิทธิภาพ และอาศัยการแก้กฎหมายเป็นตัวสนับสนุนและในขณะนี้รัฐบาลก็มีความพยายามอย่างชัดเจนที่จะแก้ไขปัญหา แต่เนื่องจากในขณะนี้มีหลายเรื่องด้วยกัน จึงต้องค่อยๆเป็นค่อยๆไป"
เมื่อถามถึงปัญหาของความไม่ต่อเนื่องของนโยบายทางการศึกษาในห้วงเวลาของการเปลี่ยนรัฐบาลในแต่ละชุด นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า ในประเทศอังกฤษมีความพยายามที่จะแยกการศึกษาออกจากการเมืองอย่างสิ้นเชิง ซึ่งในส่วนนี้ สปช. น่าจะมีการนำตัวอย่างจากประเทศอังกฤษมาใช้ และเสนอทิศทางของการจัดตั้งองค์กรเกี่ยวกับด้านนี้โดยไม่ถูกครอบงำจากการเมือง ซึ่งผู้นำต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญไม่ใช่นักการเมือง เพื่อป้องกันการแทรกแซง
สำหรับการแก้ไขเรื่องคอร์รัปชั่นกับการศึกษา ผอ.ศูนย์จิตวิทยาการศึกษาฯ กล่าวว่า ปัญหาคอร์รัปชั่นเหมือนกันทุกระบบคือต้องเริ่มจากการตรวจสอบ และทำให้กฎหมายในประเทศเป็นกฎหมายจริงๆ หรือจับคนที่คอร์รัปชั่นรายใหญ่ๆในประเทศให้ดูเป็นตัวอย่าง ในประเทศเกาหลีใต้ที่เคยจับประธานาธิบดีคนเก่าในเรื่องคอร์รัปชั่นมาแล้ว และการปลูกฝังกับเด็กต่อเรื่องการทุจรติคอร์รัปชั่นถือเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนผู้ใหญ่การปลูกฝังอาจจะทำได้ยาก อาจจะใช้กฎหมายเป็นตัวบังคับ