สพม.ชี้"28 สนช.เกรียน"ฟ้องยื่นทรัพย์สิน ไร้จริยธรรม-เป็นตย.ไม่ดีต่อสังคม
“สภาพัฒนาการเมือง” ออกแถลงการณ์ชี้ “พล.อ.นพดล- 28 สนช.” ฟ้องศาลปกครองปมยื่นทรัพย์สินฯ ไร้จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นแบบอย่างที่ไม่ดีต่อสังคม ขอให้ตระหนักในการทำหน้าที่เพื่อชาติ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2557 สภาพัฒนาการเมืองออกแถลงการณ์เรื่องการกระทำที่ไม่เป็นแบบอย่างที่ดีทางจริยธรรม กรณีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปี 2557 จำนวน 28 คน ที่ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ให้ สนช. ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
แถลงการณ์ดังกล่าว ระบุว่า ตามที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาในฐานะสำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีหนังสือสอบถามความชัดเจนไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินหรือไม่ และ ป.ป.ช. ได้พิจารณาประเด็นดังกล่าวและมีมติว่า สนช. มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. รวมทั้งให้ประกาศเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเช่นเดียวกับตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ต่อมา สนช. จำนวน 28 คนนำโดย พล.อ.นพดล อินทปัญญา ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนมติของ ป.ป.ช. ที่ให้ สนช. ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน รวมทั้งยื่นขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติของ ป.ป.ช. ดังกล่าว
ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา โดยศาลปกครองกลางได้กล่าวอธิบายถึงหน้าที่ที่ต้องแสดงความบริสุทธิ์ใจต่อสังคมในตอนหนึ่งของคำสั่งไม่รับคำฟ้องดังกล่าวว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งมีความหมายถึงผู้เอาภาระของบ้านเมืองเป็นภาระของตนไม่ว่าจะโดยสมัครใจเข้าสมัครรับการเลือกตั้งหรือสมัครใจตามที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งในการตรากฎหมายอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน และการสรรหาบุคคลผู้มีความรู้ ความสามารถเข้ามารับใช้ชาติบ้านเมืองในตำแหน่งต่างๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติ และอื่นๆ ที่มีหน้าที่ต้องแสดงความบริสุทธิ์ใจ จริงใจ เปิดเผยความจริงว่า ก่อนตนเข้าดำรงตำแหน่งมีทรัพย์สินใดบ้าง รวมทั้งภรรยาและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เพื่อให้สังคมรับรู้รับทราบถึงความโปร่งใสของผู้เข้ามารับภาระของบ้านเมืองว่ามิได้เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ใดๆ แก่ตนเองและครอบครัว ดังนั้น หน้าที่ตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 เป็นเรื่องส่วนตัวโดยแท้ของผู้อาสาเข้ามารับภาระของบ้านเมือง หาใช่หน้าที่ของ ป.ป.ช. ที่จะต้องเรียกให้มีคำสั่งให้ผู้ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินหรือหนี้สินตามนัยมาตรา 32 ดังกล่าวข้างต้นไม่
แต่ สนช. ทั้ง 28 คนดังกล่าวมิได้สำนึกถึงหน้าที่ที่ต้องแสดงความบริสุทธิ์ใจต่อสังคมดังกล่าวข้างต้น กลับอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดรวมทั้งร้องขอให้มีการไต่สวนฉุกเฉิน โดยแย้งว่า ป.ป.ช. มิได้มีมติให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติมีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. อันแสดงให้เห็นถึงการตีความและใช้บังคับกฎหมายของ ป.ป.ช. ที่ไม่มีมาตรฐานเดียวกัน หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติและไม่เป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย ยิ่งไปกว่านั้นยังอ้างด้วยว่า การที่ ป.ป.ช. มีมติให้ สนช. ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน มีผลเป็นการละเมิดต่อสิทธิในทางทรัพย์สินและสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลของ สนช. คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ซึ่งต่อมาศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยืนตามคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาของศาลปกครองกลาง
ต่อกรณีดังกล่าวนี้ สภาพัฒนาการเมืองซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเมือง พ.ศ. 2551 โดยมีบทบาทอำนาจหน้าที่ประการหนึ่งในการส่งเสริมการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงจำเป็นต้องแถลงให้สังคมได้ทราบว่า การกระทำดังกล่าวของ สนช. ทั้ง 28 คน เป็นการกระทำที่ไม่สมควรและไม่เป็นแบบอย่างที่ดีทางจริยธรรม และขอให้ สนช. ทั้ง 28 คน ได้โปรดตระหนักถึงความพยายามร่วมกันในหน้าที่และความรับผิดชอบในการธำรงไว้ซึ่งคุณธรรมและจริยธรรมอันดีงามของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคมไทยต่อไป