"เสียงจากแรงงาน" ความจริงที่ถูกกลบด้วยนโยบายรายได้ 300
คำแถลงของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สร้างความผิดหวังให้ผู้ใช้แรงงาน ว่าเป็นการกลับคำจากนโยบายหาเสียงพรรคเพื่อไทย “ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท” พร้อมกันทั่วประเทศ มาเป็น “รายได้วันละ 300 บาท” ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา พาไปสัมผัสวิถีชีวิตและฟังปากคำผู้ใช้แรงงานกลุ่มต่างๆ
ปัจจุบันหากรวมค่าแรง และสวัสดิการอื่นๆ เช่น โอที(ค่าทำงานล่วงเวลา) เบี้ยเลี้ยง ฯลฯ ผู้ใช้แรงงานจะมีรายได้เกินวันละ 300 บาทอยู่แล้ว ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อมาตรฐานการยังชีพในสภาพสังคมทุกวันนี้ จึงต้องออกมาเรียกร้องขอเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำกันทุกๆปี
กฎหมายระบุว่า “ค่าแรงขั้นต่ำ” คือ “ค่าแรงที่ได้รับจากการทำงานไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง(ชม.) และทำงานติดต่อกันไม่เกิน 6 วันต่อสัปดาห์ หรือ 48 ชม.ต่อสัปดาห์”
ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำในกรุงเทพมหานครอยู่ที่ 215 บาท แสดงว่าหากทำงานวันละ 8 ชม. สัปดาห์ละ 6 วัน(เดือนละ 26 วัน) ผู้ใช้แรงงานจะมีรายได้เดือนละ 5,590 บาท
ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ได้ลงพื้นที่สุ่มสำรวจข้อเท็จจริงและความคิดเห็นของแรงงานกลุ่มต่างๆ ทั้งที่กฎหมายค่าแรงขั้นต่ำครอบคลุมถึง และครอบคลุมไม่ถึง
“แรงงานข้ามชาติ” ก็มีสิทธิ์ได้ค่าแรงขั้นต่ำ…
คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่า “แรงงานข้ามชาติ” มีสิทธิได้รับค่าแรงขั้นต่ำเหมือนแรงงานไทย ความจริงก็คือ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และรัฐธรรมนูญ มาตรา 89 ระบุว่า “ประกาศกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำหรืออัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือตามมาตรา 88 ให้ใช้บังคับแก่นายจ้างและลูกจ้างทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ” ซึ่ง ศ.เกษมสันต์ วิลาวรรณ เคยอธิบายไว้ว่า “กฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำให้ใช้บังคับแก่นายจ้างและลูกจ้าง ไมว่า นายจ้างและลูกจ้างนั้นจะมีสัญชาติ ศาสนาหรือเพศใด (อ้างจาก prasong.com http://j.mp/nnEE7K)
นาเร ใจ อายุ 42 ปี เป็นชาวกัมพูชาที่เข้ามาเป็นลูกจ้างในเมืองไทยตั้งแต่ปี 2544 เธอบอกว่าแรงจูงใจที่ทำให้ตัดสินใจเดินทางข้ามประเทศเข้ามาขายแรงงานในไทย ชีวิตที่ลำบากน้อยกว่าในประเทศของเธอ โดยเฉพาะค่าแรงที่ได้มากกว่า เฉลี่ยแล้วตกเดือนละ 5-6 พันบาท มากกว่าที่พนมเปญถึง 2 เท่า
“ตอนนั้นรายได้ในพนมเปญอยู่ที่ 3,000 บาทต่อเดือน พอมาอยู่กรุงเทพฯ ทำโรงงานได้วันละ 200 บาท วันไหนไม่ทำก็ไม่ได้ คนไทยอาจมองว่าน้อย แต่สูงกว่าที่พนมเปญมาก”
ปัจจุบันเธอเป็นลูกจ้างร้านกาแฟสดในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งกว่า 3 ปีแล้ว โดยช่วงปีแรกได้ค่าแรง วันละ 200 บาท ต่อมาเพิ่มเป็น 250 บาท และเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมานายจ้างขยับค่าแรงให้ 330 บาท ซึ่งมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่รัฐบาลกำหนดไว้ เพราะเห็นฝีมือในการชงกาแฟและการบริการลูกค้า โดยเริ่มเวลางานตั้งแต่ 7.30 น.- 17.30 น. ทุกวัน ไม่มีวันหยุด
นาเร บอกอีกว่าค่าแรง 330 บาท อาจดูสูงในสายตาคนอื่น โดยเฉพาะกับแรงงานข้ามชาติด้วยกัน แต่เธอต้องทำงานถึงวันละ 10 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด ยกเว้นวันหยุดราชการซึ่งทำให้ถูกหักค่าแรงด้วย
เดือนที่มีวันหยุดสุดสัปดาห์ติดต่อกันหลายวันเปรียบเหมือนสวรรค์ของคนทำงาน แต่สำหรับลูกจ้างอย่างเธอแล้วต้องสูญรายได้ถึงวันละ 330 บาท
อย่างไรก็ตาม เธอกล่าวว่า รู้สึกพอใจกับค่าแรงที่ได้รับ และไม่ค่อยรู้เกี่ยวกับนนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทของรัฐบาลไทย และไม่คิดว่าแรงงานข้ามชาติจะได้รับโอกาสดังกล่าว แต่รู้สึกดีใจที่คนใช้แรงงานด้วยกันจะได้ค่าแรงเพิ่ม ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะลูกจ้างก็ต้องอยากมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นอยู่แล้ว
“ต้องดูด้วยว่านายจ้างสามารถจ้างได้ไหม และเราทำงานเต็มที่แล้วหรือยัง” แรงงานกัมพูชากล่าว
ได้ค่าแรงขั้นต่ำ 215 บาท เดือนละ 5,500 แต่ “กินมากกว่าท้องเดียว”...
กฎหมายคุ้มครองแรงงาน นอกจากจะกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำแล้ว ยังกำหนดให้ผู้ประกอบการ คุ้มครองแรงงานในด้านอื่นๆ เช่น สิทธิการลา ค่าจ้างล่วงเวลา ที่ระบุว่าหากทำงานเลยเวลาทำงานปกติ ต้องได้โอที 1.5 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อ ชม.หรือ ประมาณ 40 บาท และการหยุดพักผ่อนที่กำหนดวันหยุดปกติ จะไม่ได้รับค่าจ้าง แต่จะมีวันหยุดตามประเพณีอย่างน้อยปีละ 13 วันที่ต้องได้รับค่าจ้าง
สายพิณ ดอลเป่ง อายุ 44 ปี จาก อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ พนักงานแม่บ้านในสังกัดบริษัทเอกชน ที่ถูกว่าจ้างโดยมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เล่าว่าปัจจุบันเธอได้ค่าแรงวันละ 245 บาท โดยทำงานวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่ 7 โมงเช้า – 6 โมงเย็น รวม 11 ชม. ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์จะได้รับค่าแรงเป็นโอทีทางมหาวิทยาลัยต่างหาก ชม.ละ 20 บาท เฉลี่ยได้วันละ 100 -200 บาท รายได้รวมต่อเดือนทั้งหมดประมาณ 5,500 บาท
แต่ไม่ยังไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่าย เพราะเธอมีลูกชาย 8 ขวบที่ต้องเลี้ยงดูเพียงลำพัง เพราะสามีสติไม่ดีและเพิ่งแยกทางกัน โดยรายจ่ายประจำคือค่าเช่าห้องเดือนละ 1,200 บาท จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้เดือนละ 1,000 บาท จ่ายให้ลูกวันละ 70 บาท(อาหารเช้า ขนม ค่ารถไปโรงเรียน) และแม้จะไม่เสียค่าเทอมแต่ก็มีค่าใช้จ่ายในการเรียนของลูก เช่น ค่าเรียนพิเศษ 300 บาท ไม่รวมอุปกรณ์การเรียนต่างๆ ทำให้ต้องเบิกเงินล่วงหน้าจากนายจ้างออกมาใช้ก่อนเดือนละ 1,000–1,500 บาทแทบทุกเดือน
เธอเล่าว่า ถ้ายังไม่พอก็ต้องหยิบยืมจากเจ้าหน้าที่ในมหาวิทยาลัย เพราะไม่มีเงินออม นอกจากนี้ยังมีหนี้สินนอกระบบอีก 20,000 บาท ที่ยังไม่รู้ว่าจะปลดหนี้ได้อย่างไร และจากที่เคยได้รับสิทธิบ้านเอื้ออาทร เขตสายไหม ผ่อนเดือนละ 3,000 บาท ก็ต้องขายต่อให้คนอื่นในราคาต่ำ เพราะผ่อนต่อไม่ไหว
แม้สายพิณจะได้รับค่าจ้างตามกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำ แต่วันหยุดราชการเธอก็ไม่ได้รับค่าแรง ส่วนวันที่ลาหยุดงาน ลูกจ้างรายวันอย่างเธอก็ถูกหักเงินตามค่าแรงขั้นต่ำด้วย โดยเฉพาะกรณีที่ไม่แจ้งล่วงหน้า จะถูกหักถึง 2 เท่า ดังนั้นนโยบายค่าแรง 300 บาทจากรัฐบาล จึงเปรียบเสมือนความหวังของสายพิณที่อยากมีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
“ดีใจมากที่มีนโยบายขึ้นค่าแรง แต่ขึ้นอยู่กับบริษัทว่าจะให้ตามนั้นมั้ย ตอนนี้ต้องเอาเงินเดือนมาจ่ายหนี้และขอกู้ใหม่อยู่เรื่อยๆกลายเป็นวงจร นอกจากเรื่องค่าแรงแล้วอยากให้รัฐบาลสนับสนุนวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำด้วย เพราะคนหาเช้ากินค่ำไม่มีเครดิตกู้เงินในระบบได้” แรงงานจากเมืองเหนือกล่าว
อีกมากมายที่กฏหมายค่าแรงขั้นต่ำ ยังไม่คุ้มครองถึง…
ทั้งนี้ยังมีอีกหลายอาชีพที่กฎหมายค่าแรงขั้นต่ำยังคุ้มครองไม่ทั่วถึง ดังเช่น เสกสรร อินหล้า เด็กหนุ่มจาก อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ อายุ 23 ปี ที่เริ่มชีวิตการทำงานตั้งแต่แปดโมงเช้า ถึง 4 ทุ่ม ของทุกวัน
เพราะที่บ้านยากจน หลังจบ ม.3 เขาจึงต้องออกหางานทำ โยกย้ายไซต์งานก่อสร้างไปเรื่อยๆ พอหมดงานก็กลับบ้าน จนล่าสุดได้มาเป็นพนักงานร้านอาหารตามสั่งในศูนย์อาหาร ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง
“ถ้าเดือนไหนไม่ลาหยุดเลย ก็จะได้ค่าแรงราวๆ 5,500 บาท ถามว่าหนักไหม สำหรับผม ไม่หนักหรอก แต่ไม่ค่อยมีเวลาพักผ่อน เพราะบางทีก็รู้สึกเหนื่อย” เสกสรร กล่าว
แม้เงินเดือนจะน้อย แต่เจ้าของร้านให้พนักงานกินอยู่ในร้านเบ็ดเสร็จ และการเลือกที่พักใกล้ๆ ที่ทำงานทำให้ไม่ต้องเสียค่าเดินทาง ดังนั้นนอกจากจ่ายค่าเช่าห้องและของใช้ที่จำเป็นแล้ว เขายังมีเงินส่งเงินกลับบ้านเดือนละ 1-2 พันบาท เพื่อให้ครอบครัวได้ใช้จ่ายและเก็บไว้ลงทุนทำการเกษตรเล็กๆ น้อยๆ
ส่วนนโยบายค่าแรง 300 บาทต่อวัน เสกสรรบอกว่าเป็นเรื่องดี แต่คิดว่าตนคงไม่ได้รับ เพราะที่ร้านไม่ใช่บริษัทหรือห้างร้านที่จดทะเบียน กฎหมายคงไม่ครอบคลุม แต่ถ้ารัฐบาลบังคับให้ทั่วถึงก็จะดี และอยากให้รัฐบาลให้ความรู้กฎหมาย หรือเพิ่มสวัสดิการสุขภาพให้กับพวกตน ซึ่งยังไม่มีบัตรประกันสังคมหรือสวัสดิการอื่นๆ และไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นทำอย่างไร เพราะนายจ้างก็ไม่เคยกล่าวถึง หรือให้ข้อมูล
แรงงานอพยพ นอกฤดูทำนา…
ส่วน สมร วงภูดร เกษตรกรจาก จ.นครราชสีมา เล่าว่า 9 ปีแล้วที่พอหมดฤดูทำนาก็เข้ามาขับแท็กซี่เป็นรายได้พิเศษวันละอย่างน้อย 300 บาท เพราะทำนาเพียงอย่างเดียวไม่พอ ปัจจุบันที่นา 7 ไร่ ได้ผลผลิต 3-4 ตัน ตันละ 8,000 บาท แต่ต้นทุนค่าปุ๋ย 10,000 กว่าบาท แต่กว่าจะเก็บเกี่ยวได้ใช้เวลาร่วมปี
แท็กซี่ชาวนา ยังบอกอีกว่ามีแรงงานในภาคอีสานจำนวนมากที่เป็นเหมือนเขา คืออพยพเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่นอกฤดูทำนาเพราะรายได้จากการทำนาในปัจจุบันไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ซึ่งหากรัฐบาลมีโครงการสนับสนุนให้ดินและน้ำมีความอุดมสมบูรณ์ ผลผลิตทางการเกษตรได้ราคาดี เชื่อว่าคนอีสานหลายคนคงไม่เข้ามาดิ้นรนในเมืองกรุงอย่างแน่นอน ลดปัญหาด้านอื่นๆ ที่จะตามมาอีกมากมาย .
………………………………………….
(ล้อมกรอบ)
"พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541” มีสาระสำคัญดังนี้…
วัน เวลา ทำงาน
1. วันทำงานไม่เกินสัปดาห์ละ 6 วัน
2. กำหนดเวลาทำงานปกติในทุกประเภทไม่เกิน 8 ชั่วโมง/วัน หรือไม่เกิน 48 ชั่วโมง/สัปดาห์
ถ้าเป็นการทำงานอันตรายต่อสุขภาพตามกฏกระทรวง กำหนดให้ทำงานไม่เกิน 7 ชั่วโมง/วัน หรือไม่เกิน 42 ชั่วโมง/สัปดาห์
3. กำหนดเวลาพักระหว่างวันทำงาน ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง อาจตกลงพักน้อยกว่าครั้งละ 1 ชั่วโมงก็ได้ แต่รวมกันไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง/วัน
4. กำหนดให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์ ไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 1 วัน ห่างกันไม่เกิน 6 วัน และวันหยุดตามประเพณีไม่น้อยกว่าปีละ 13 วัน รวมวันแรงงานแห่งชาติด้วย สำหรับวันหยุดผักผ่อนประจำปี ไม่น้อยกว่า 6 วันทำการ เมื่อลูกจ้างทำงานครบ 1 ปี
ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา
1. อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของกทม. 215 บาท/วัน
2. ค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุด
a. ทำเกินเวลาทำงานปกติของวันทำงาน ได้รับค่าล่วงเวลา 1.5 เท่าของอัตราค่าจ้าง/ชั่วโมง
b. ทำงานในวันหยุดในเวลาปกติ / สำหรับวันหยุดที่ได้ค่าจ้างจะได้รับเพิ่มอีก 1 เท่า ในวันหยุดที่ไม่ได้รับค่าจ้างจะได้รับเพิ่มเป็น 2 เท่าของค่าจ้างในวันทำงาน
c. ทำงานล่วงเวลาในวันหยุด ได้รับค่าล่วงเวลาในวันหยุดไม่น้อยกว่า 3 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง ในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ
3. ลูกจ้างทั้งชายและหญิง มีสิทธิได้รับค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เท่าเทียมกันในงานที่มีลักษณะและคุณภาพอย่างเดียวกันและปริมาณเท่ากัน
การลาป่วยและการลาคลอด
1. ลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง แต่ได้รับค่าจ้างไม่เกิน 30 วันทำงาน
2. ลาคลอดได้ไม่เกิน 90 วัน โดยได้รับค่าจ้าง 45 วัน
3. ลาเพื่อรับราชการทหาร ได้ไม่เกินปีละ 60 วัน โดยได้รับค่าจ้าง
4. ลาเพื่อทำหมันได้รับค่าจ้างตลอดเวลาที่แพทย์วินิจฉัยให้หยุด
5. ลากิจธุระ อันจำเป็น แล้วแต่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน
6. ลาเพื่อเข้ารับการอบรม
วันหยุด
1. วันหยุดประจำสัปดาห์ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วัน สำหรับลูกจ้างรายวันไม่ได้รับค่าจ้าง
2. วันหยุดตามประเพณี อย่างน้อยปีละ 13 วัน (รวมวันแรงงานแห่งชาติแล้ว) โดยได้รับค่าจ้าง
3. วันหยุดพักผ่อนประจำปี ปีละ 6 วันทำงาน โดยได้รับค่าจ้าง ซึ่งนายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดดังกล่าว
วันหยุดประจำสัปดาห์ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วัน สำหรับลูกจ้างรายวันไม่ได้รับค่าจ้าง
4. วันหยุดตามประเพณี อย่างน้อยปีละ 13 วัน (รวมวันแรงงานแห่งชาติแล้ว) โดยได้รับค่าจ้าง .