ล้วงผลศึกษา“กลาโหม”ข้อดี-ข้อเสีย ? 3 องค์กรอิสระสำคัญก่อนปฏิรูป
เปิดผลสรุปการศึกษา สนง.ปลัดกลาโหม ด้านการเมือง ความเห็นประชาชนต่อ 3 องค์กรอิสระ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ต้องปรับปรุงการเข้าสู่กระบวนการ-วาระนานไป แยกวิธีพิจารณา 2 ส่วน “กกต.” การเลือกตั้งไม่โปร่งใส-ทุจริตง่าย เสนอกำจัดประชานิยมให้สิ้นซาก “ป.ป.ช.” โอกาสถูกแทรกแซงการเมืองสูง ควรแบ่งงานคดีสำหรับนักการเมือง-ขรก.ระดับสูงเพื่อลดภาระ
หมายเหตุ www.isranews.org : เป็นการสรุปผลศึกษา “กรอบความเห็นปฏิรูปประเทศไทย” ด้านการเมือง ของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ที่รวบรวมความคิดจากประชาชน ) ความยาว 63 หน้า โดยมีเนื้อหาบางส่วนกล่าวถึงบทบาทหน้าที่ขององค์กรอิสระอย่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช. ) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ศาลรัฐธรรมนูญ
----
ศาลรัฐธรรมนูญ
สภาพปัญหา
ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ตรวจสอบและควบคุมกฎหมายมิให้กฎหมายที่ตราขึ้นหรือใช้บังคับอยู่นั้นขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เป็นการถ่วงดุล การบัญญัติกฎหมายสำคัญที่มีผลกระทบต่อองค์กรของรัฐที่เป็นคู่กรณี พบว่า โครงสร้างศาลรัฐธรรมนูญแยกอำนาจหน้าที่ออกจากศาลยุติธรรม มีวาระการดำรงตำแหน่งวาระคราวละ 9 ปี ซึ่งนานเกินไป และการทำหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญควรจำกัดเฉพาะการตีความหรือการแปลความตามรัฐธรรมนูญ
กรอบความเห็นร่วม ประชาชนมีข้อเสนอเพื่อปฏิรูปประเด็นศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องโครงสร้าง และบทบาทอำนาจหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้แก่
โครงสร้างศาลรัฐธรรมนูญ
ปรับปรุงกระบวนการเข้าสู่ตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ได้ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และศาสตร์อื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการใช้อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ
โครงสร้างศาลรัฐธรรมนูญ ควรจัดในรูปตุลาการพระธรรมนูญ ที่มีอำนาจในการพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไป ไม่ควรจัดอยู่ในรูปศาลซึ่งมีอายุ 9 ปี
บทบาทอำนาจหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ
ปรับปรุงการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ โดยแบ่งองค์คณะของศาลรัฐธรรมนูญออกเป็น 2 องค์คณะ แยกวิธีพิจารณาออกเป็น 2 ส่วน เป็นวิธีพิจารณาทั่วไป และวิธีพิจารณาเฉพาะ และสร้างหน่วยสนับสนุนทางวิชาการเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของศาลรัฐธรรมนูญ
ศาลรัฐธรรมนูญควรทำหน้าที่ในการตีความกฎหมายที่มีข้อสงสัยขัดรัฐธรรมนูญ ไม่ควรมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาคดีพิพาทระหว่างองค์กร หรือตัดสินชี้ผิดหรือชี้ถูก
ยกเลิกบทบาทที่ไม่เกี่ยวข้องกับบทบาทอำนาจหน้าที่หลักตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เช่น การจัดหลักสูตรอบรม เพราะอาจเป็นการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ที่มีผลกระทบต่อการแสดงบทบาทอำนาจหน้าที่ในฐานะศาลรัฐธรรมนูญ
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
สภาพปัญหา
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่รับผิดชอบการจัดการเลือกตั้งโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม เพื่อให้ได้บุคคลที่ดีมีความสามารถเข้าสู่รัฐสภา ความเหมาะสมของกระบวนการสรรหาบุคคลเข้าสู่ กกต. สาธารณชนขาดการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับการสรรหา ส่วนกระบวนการจัดการเลือกตั้งมีการมองว่าขาดความโปร่งใส ไม่เป็นธรรม ปล่อยให้มีการทุจริตการเลือกตั้งโดยตรวจสอบไม่ได้ จัดการไม่ได้ และยังมีความเคลือบแคลงต่อบทบาทของเจ้าหน้าที่ของ กกต. รวมทั้ง กกต. จังหวัดที่ทำหน้าที่วินิจฉัยเบื้องต้น จนเป็นเหตุให้ได้มาซึ่งผู้แทนที่อาจไม่เหมาะสม
กรอบความเห็นร่วม ข้อเสนอแนวทางเพื่อการปฏิรูปคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในเรื่องโครงสร้าง กกต. และบทบาทอำนาจหน้าที่
โครงสร้าง กกต.
คณะกรรมการสรรหา กกต. ควรประกอบด้วย บุคคลที่มาจากหลายฝ่าย เช่น ฝ่ายตุลาการ ฝ่ายการเมือง และผู้ทรงคุณวุฒิ และ/หรือผู้เชี่ยวชาญจากสายอาชีพ เพื่อให้การสรรหา กกต. ได้บุคคลที่เหมาะสม และมีความหลากหลายมากขึ้น ข้อดี คือเพิ่มคุณภาพกระบวนการคัดเลือกบุคคลเป็น กกต. และมีการกรองให้ได้ผู้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมเพื่อส่งต่อให้วุฒิสภามีมติเห็นชอบต่อไป
กระบวนการสรรหาควรมีการกำหนดความชัดเจน ในเรื่องหลักเกณฑ์การสรรหา และวิธีการสรรหา ที่แสดงถึงความโปร่งใส สามารถให้สาธารณชนตรวจสอบได้ ตลอดจนมีกระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติ ตลอดจนมีการเปิดเผยสู่สาธารณชนเพื่อให้มีการคัดค้านได้ในกรณีที่ไม่เหมาะสม หรือมีข้อมูลเพิ่มเติม
ให้ กกต. ควบคุมนโยบายที่พรรคการเมือง หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งใช้ในการณรงค์หาเสียง โดยกำหนดให้พรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องเสนอกรอบนโยบายที่จะใช้ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งให้ กกต. ให้ความเห็นชอบก่อนนำไปใช้ในการหาเสียง ข้อดี คือป้องกันพรรคการเมืองนำนโยบายประชานิยมไปใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง
ให้ผู้ที่ได้รับการสรรหา เป็น กกต. ควรต้องแสดงทรัพย์สินต่อสาธารณะ เช่นเดียวกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ข้อดี คือเพื่อสร้างความมั่นใจโปร่งใสในการทำงานและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และเป็นกลไกที่สามารถตรวจสอบ
ปรับองค์ประกอบ กกต. จังหวัด ให้ประกอบด้วยผู้พิพากษาประจำศาลจังหวัดและ/หรือตุลาการศาลปกครองในเขตเลือกตั้งนั้น ข้อดี คืออาจทำให้การตรวจสอบการเลือกตั้งมีความสุจริตมากขึ้น เพราะมีตุลาการเข้ามาดูแล ข้อเสีย คือตุลาการและผู้พิพากษาในจังหวัดต่าง ๆ มีภารกิจมากอยู่แล้ว ทำให้การทำคดีปกติล่าช้าไปอีก และเป็นการเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองตั้งแต่ต้น รวมทั้งต้องมาทำหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ตรวจสอบการเลือกตั้ง นอกจากนี้ทำให้ตุลาการที่ทำหน้าที่ กกต. ต้องมาอยู่ภายใต้การควบคุมของ กกต. กลาง
เพิ่มความเข้มแข็งให้ กกต. เขต และ กกต. จังหวัด โดยมีกลไกดำเนินการดังนี้
1.มีระบบหมุนเวียน ผอ.กกต. จังหวัด ทุก 3 ปี 2.มีกรอบอัตรากำลังสำหรับสำนักงาน กกต. จังหวัดที่เพียงพอ 3.มีการเตรียมการด้าน กกต.เขต และกรรมการประจำหน่วยเป็นการถาวร รองรับการเลือกตั้ง และใช้ กกต.เขต และกรรมการประจำหน่วยสนับสนุนการเลือกตั้งท้องถิ่นควบคู่กันไปกับการเลือกตั้งระดับชาติ 4.มีบทลงโทษบุคลากรของ กกต. ในระดับพื้นที่และส่วนกลาง หากพบว่า ดำเนินการเพื่อสนับสนุนพรรคการเมือง
บทบาทอำนาจหน้าที่ กตต.
เพิ่มมาตรการลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ตัวอย่างเช่น ตัดสิทธิการลงรับสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิต ในกรณีมีการทุจริตการเลือกตั้ง หรือมีการลงโทษผู้เกี่ยวข้องเช่น ผู้ขายเสียง ข้อดี คือทำให้บทลงโทษมีความศักดิ์สิทธิ์ นักการเมืองเกิดความเกรงกลัวที่จะกระทำผิด สร้างมาตรการกลั่นกรองคนดี มีความเหมาะสม มีคุณธรรมให้มาเป็นนักการเมือง และประชาชนเกิดความตระหนักถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นจากการมีนักการเมืองที่ทุจริต ข้อจำกัด คือกระบวนการพิจารณาต้องรอบคอบและยุติธรรมเป็นกลาง เพราะอาจมีการกลั่นแกล้งในทางการเมืองเพื่อทำลายคู่แข่ง
ให้การทุจริตการเลือกตั้งเป็นคดีอาญา ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายเสียงมีความผิดให้ผู้รับสมัครรับเลือกตั้งที่ทุจริตการเลือกตั้ง หรือมีการจ่ายเงินหาเสียงเกินจำนวนที่กำหนด หรือแสดงบัญชีการใช้จ่ายเงินหาเสียงเป็นเท็จ ต้องรับโทษจำคุก พร้อมกับถูกตัดสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต ข้อดี คือเป็นการป้องปรามการทุจริตการเลือกตั้ง เพื่อให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม ป้องกันการใช้นโยบายประชานิยมในการหาเสียงเลือกตั้ง
เพิ่มอำนาจหน้าที่ กกต. ให้พนักงานของสำนักงาน กกต. ที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ข้อดี คือเพื่อให้การปฏิบัติงานครบวงจร รวดเร็ว เพราะ กกต. ทำหน้าที่หลายบทบาทพร้อมกัน ข้อจำกัด คืออาจทำให้อำนาจของ กกต. มากเกินไปขาดการถ่วงดุลในการทำงาน เพราะ กกต. มีอำนาจเบ็ดเสร็จทั้งจัดการเลือกตั้ง สืบสวน สอบสวน วินิจฉัยชี้ขาด และในกรณีที่ กกต. กระทำผิดเสียเอง อาจไม่สามารถตรวจสอบได้ ตลอดจนอาจมีปัญหาในเรื่องความเชื่อมั่นในการทำงานของ กกต. ทั้ง กกต.กลาง และ กกต.จังหวัด รวมถึงเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กกต.
ลดบทบาท กกต. เพื่อให้ กกต. สามารถทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว ส่วนการพิจารณาวินิจฉัย ให้เป็นหน้าที่ของศาล ข้อดี คือทำให้ กกต. สามารถทำงานในการจัดการเลือกตั้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ สุจริต และเที่ยงธรรม ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น เพราะ กกต. ต้องจัดการเลือกตั้งทั้งระดับชาติและท้องถิ่น ทำให้มีภาระงานมากอยู่แล้ว และเป็นการแบ่งแยกอำนาจ ป้องกันการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในองค์กรเดียว ข้อเสีย คือ เพิ่มภาระงานให้ศาล
ให้มีศาลเลือกตั้งในการทำหน้าที่รับการอุทธรณ์คำวินิจฉัย ข้อดี คือมีกระบวนการยุติธรรมที่น่าเชื่อถือและเป็นธรรมมากขึ้น เพราะเป็นการป้องกันการใช้อำนาจมิชอบของ กกต. ข้อจำกัด คือใช้เวลามาก และมีหลายขั้นตอน
ให้ กกต. กำหนดรูปแบบการหาเสียงของพรรคการเมือง และผู้สมัครรับเลือกตั้งให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และมีการตรวจสอบการปฏิบัติมาตรฐานอย่างเคร่งครัด เช่น การพิมพ์โปสเตอร์หาเสียง สถานที่ในการปิดป้ายหาเสียงเป็นต้น ข้อดี คือทำให้เกิดการเท่าเทียมกันในการหาเสียง
ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยมีปัญหาการจัดการเลือกตั้ง ให้ กกต. สามารถหารือกับฝ่ายบริหารเพื่อแก้ไขปัญหาการเลือกตั้ง เช่น การเลื่อนวันเลือกตั้ง กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ เนื่องจากเหตุสุดวิสัย หรือมีการขัดขวางการเลือกตั้ง เป็นต้น ข้อดี เพื่อให้มีการจัดการเลือกตั้ง ข้อจำกัด คือ ในกรณีที่มีควาไม่เชื่อมั่นในกระบวนการจัดการเลือกตั้งว่าจะดำเนินการอย่างสุจริตและเที่ยงธรรม อาจมีการทำผิดกฎหมายโดยการขัดขวางการเลือกตั้ง
ให้ กกต. ป.ป.ช. และรัฐสภา ร่วมกันจัดการฝึกอบรมให้นักการเมือง เพื่อปลูกฝังค่านิยมที่ดี เพิ่มพูนคุณธรรม จริยธรรมของการเป็นนักการเมืองที่มีคุณภาพ
ให้มีกลไกสร้างระบบคุ้มครองพยาน และการรักษาความลับของผู้ร้องเรียน แจ้งเบาะแสการกระทำทุจริตการเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในความปลอดภัยของตนเองหากมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่สืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง และส่งสำนวนไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อวินิจฉัยหรือถอดถอนออกจากตำแหน่ง รวมทั้งตรวจสอบการรายงานบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และข้าราชการระดับสูง เพื่อกำกับดูแลคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จากข้อมูลพบว่า ป.ป.ช. บางครั้งไม่สามารถดำเนินการได้ตามเจตนารมณ์ขององค์กร เนื่องจากปริมาณคดีมีจำนวนมาก กระบวนการไต่สวนตามบทบาทหน้าที่ดำเนินการได้ช้าเพราะต้องใช้ความรอบคอบ และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย นอกจากนั้นที่มาของคณะกรรมการ ได้จากคณะกรรมการสรรหาที่ประกอบด้วยนักการเมือง ทำให้โอกาสถูกแทรกแซงโดยการเมืองมีสูง ขัดกับหลักการสำคัญของความเป็นองค์กรอิสระ
กรอบความเห็นร่วม ประชาชนมีข้อเสนอเพื่อการปฏิรูป ป.ป.ช. ครอบคลุมในเรื่องโครงสร้าง และการทำบทบาทหน้าที่ของ ป.ป.ช.
โครงสร้าง ป.ป.ช.
คณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช. ควรมีองค์ประกอบจากหลากหลายองค์กร โดยให้สัดส่วนของคณะกรรมการสรรหาจากนักการเมืองมีน้อยกว่าคณะกรรมการจากองค์กรอื่น หรือองค์กรภาคเอกชน
ป.ป.ช. ควรมีวาระที่สั้นลง การที่ ป.ป.ช. มีวาระการทำงาน 9 ปี ซึ่งเป็นวาระที่ยาวเกินไป ควรให้มีการกำหนดวาระสิ้นสุดที่สั้นลง โดยให้กรรมการสิ้นสุดวาระไม่พร้อมกัน
บทบาทอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.
ควรมีองค์กร ป.ป.ช. เฉพาะในส่วนของนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงขึ้นไป เพื่อให้จำกัดจำนวนคดีความให้น้อยลง การดำเนินการสามารถทำได้รวดเร็วขึ้น ข้อดี คือหากคดีทำได้รวดเร็ว การยับยั้งการทุจริตของนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงจะทำได้เร็วขึ้น การป้องปรามจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การทำงานด้านป้องกันการทุจริตของ ป.ป.ช. เป็นหน้าที่ที่มีความสำคัญแต่ไม่ควรให้งานด้านนี้มาเป็นอุปสรรคต่อการทำงานด้านการปราบปรามจนคดีล่าช้าแต่ต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาได้ แสดงพยานหลักฐานและแก้ข้อกล่าวหาอย่างเต็มที่
อ่านประกอบ :
"กลาโหม"ชงข้อมูลปฏิรูป"สื่อ"ซัดผู้ประกาศเป็นดาราหรูหรา-นักข่าวตัวจริงไส้แห้ง
สรุปหน้าที่ศาลฎีกาฯก่อนปฏิรูป “กลาโหม”ซัดการเมืองแทรกแซง-สองมาตรฐาน